ไข่ยางมะตูม ไม่สุกดีแต่อร่อยกินกับข้าวได้แทบจะทุกเมนู คนท้องกินไข่ยางมะตูมได้ไหม ไม่ใช่แค่คนท้องเท่านั้นที่ต้องระวัง แต่เด็กเล็ก และคนที่มีปัญหาสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงก็ต้องระวัง เพราะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียร้ายที่มาจากตัวของไก่ หรือเป็ด ส่งผลต่อไข่ที่ออกมาด้วย ดังนั้นแม่ท้องคนไหนที่ชอบไข่ยางมะตูม ควรรอให้คลอดก่อน เมื่อร่างกายแข็งแรงดีจึงค่อยหันมาทานก็ได้
คนท้องกินไข่ยางมะตูมได้ไหม
ไข่ไม่สุก 100 % แบบ “ไข่ยางมะตูม” เป็นอาหารที่หลายคนชอบทาน ด้วยความนุ่ม อร่อย เหมาะกับการทานคู่กับข้าว และเมนูต่าง ๆ ด้วยความรู้พื้นฐานที่เรามักรู้กันอยู่แล้วว่า การทานไข่ดีต่อสุขภาพ เพราะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่สำหรับไข่แบบยางมะตูมที่ไม่ได้สุกดีนั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีที่จะทานในช่วงที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากหากทานไข่ไม่สุกอาจทำให้มีอาการท้องร่วง และที่สำคัญจะทำให้มีผลกระทบต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ด้วย เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) กรณีที่ต้องการทานไข่ต้มจริง ๆ เราจึงขอแนะนำให้ทานไข่ต้มแบบสุกดีกว่า จะได้ทั้งความปลอดภัยต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ พร้อม ๆ กับได้ประโยชน์ไปด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินไข่เยี่ยวม้าได้ไหม ระวังเสี่ยงต่อสารตะกั่ว และเชื้อโรค !
วิดีโอจาก : Family Man คุณพ่อมือใหม่
เชื้อซาลโมเนลลา อันตรายจากไข่ต้มไม่สุก
การทานอาหารที่ไม่สุก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ หรือไข่ที่ไม่สุก อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนานาชนิด แต่เชื้อที่เราต้องระวังเป็นพิเศษ คือ “เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella)” ที่มักเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการเลี้ยงดูสัตว์ชนิดนั้น ๆ สำหรับไข่มะตูม ก็คือไก่นั่นเอง เช่น
- จำนวนของไก่ หรือเป็ดในฝูงที่มากเกินไป เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
- อาหารที่เลี้ยงไก่อาจไม่สะอาด เสี่ยงต่อเชื้อโรค
- ความสะอาด และสุขอนามัยในสถานที่เลี้ยงไก่ไม่ได้มาตรฐาน
- การที่ไก่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็น
- ไก่ถูกเลี้ยงในแวดล้อมไม่เหมาะสม จนเกิดความเครียด หรือมีความกังวล
หากมีการรับเชื้อร้ายนี้เข้าสู่ร่างกายผ่านการกินไข่ยางมะตูม จะมีอาการผิดปกติภายใน 2 วันหลังทานมื้อนั้น ๆ เร็วสุดอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งสามารถสังเกตอาการผิดปกติที่คล้ายกับอาการเป็นไข้หวัด เช่น ปวด หรือเวียนศีรษะ, เป็นไข้, หนาวสั่น, คลื่นไส้อาเจียน, เบื่ออาหาร และท้องเสีย อุจจาระปนเลือด เป็นต้น
อาการเหล่านี้สามารถหายไปได้ใน 7 วัน เว้นแต่อาการท้องเสียที่อาจใช้เวลามากถึง 10 วัน และส่งผลกระทบต่อลำไส้ในระยะยาว ทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ ซึ่งกว่าลำไส้จะกลับมาทำงานได้เหมือนเดิมอาจกินเวลาหลายเดือน ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ต่อเนื่อง 2 วัน ไม่ควรรอเวลาให้หายเอง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และคำแนะนำในการดูแลตนเองดีกว่า
ความเสี่ยงอื่น ๆ จากการกินไข่ไม่ปรุงสุก
การทานอาหารที่ปรุงไม่สุก แม้จะเป็นไข่ ก็พบว่ามีอันตรายมากกว่าที่แม่ท้องคิดอยู่มาก เพราะข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงการวิจัยต่าง ๆ บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่
- มีข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่รับประทานไข่ไม่ปรุงสุกจะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมโปรตีนได้เพียง 51 % เท่านั้น ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะสำหรับคนท้องที่ต้องการสารอาหารเผื่อทารกในครรภ์ด้วย จึงแนะนำให้รับประทานแบบสุกมากกว่าแบบไข่ยางมะตูม
- องค์กรอาหารและยา (FDA) มีการค้นพบว่ามีคนประมาณ 79,000 คนที่ป่วยจากการทานอาหาร และ 30 คนที่เสียชีวิตในแต่ละปีนั้น เนื่องมาจากการกินไข่ที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลานั่นเอง
- เชื้อโรคอื่น ๆ ที่อาจมาจากการไม่รักษาสุขอนามัยจากทางร้านค้าเอง ทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อโรคทั่วไป หากสะสมในร่างกายมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง หรือท้องเสียได้เช่นกัน
เลือกกินไข่ยางมะตูมอย่างไรให้ปลอดภัยกับคนท้อง ?
ถึงแม้จะดูอันตรายแต่ไข่ก็ยังเป็นไข่ คือ ยังถือว่ามีประโยชน์กว่าเมนูเนื้อหมู หรือเนื้อไก่ที่ติดมัน แต่สารอาหารในไข่ที่ไม่สุกนี้เองจะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมโปรตีน และสารอาหารชนิดอื่น ๆ ได้น้อยลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรค และแบคทีเรียต่าง ๆ การทานไข่จึงควรทานแบบสุก แต่สำหรับบุคคลทั่ว ๆ ไปถ้าหากอยากทานแบบยางมะตูมจริง ๆ ก็ควรเลือกไข่ที่มีข้อมูลว่าผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ (Pasteurization)
แต่สำหรับเด็กเล็ก, ผู้มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน, ผู้ที่กำลังป่วย หรืออยู่ในภาวะร่างกายอ่อนแอ และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อย่างไรก็ควรเลี่ยงไข่ยางมะตูม และไข่ดิบในแบบอื่น ๆ เพราะผลกระทบที่ตามมาจะรุนแรงมากกว่าคนทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะคนท้อง ที่หากเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของคุณแม่ จะส่งผลโดยตรงต่อทารกในครรภ์ได้
มีลูกเล็กก็ต้องให้เลี่ยงด้วย
ไข่ที่ว่าไม่สุกมาได้หลายรูปแบบ ไม่ได้จำกัดความว่าจะต้องเป็นเพียงไข่ต้มยางมะตูมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงไข่ลวก, ไข่ที่นำมาผสมข้าวกินแบบคนญี่ปุ่น หรือไข่ดาวที่ทอดไม่สุก เน้นไข่แดงเยิ้ม ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียทั้งนั้น ยิ่งไม่รู้ที่มาว่าปลอดภัยแค่ไหนก็ยิ่งเสี่ยง และด้วยความที่ผู้ปกครองที่มีลูกเล็ก ก็อยากให้ลูกแข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ เลยเลือกให้ลูกทานไข่หลาย ๆ แบบ จนอาจลืมไปว่าไข่ไม่สุกนั้นอันตราย เด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันไม่ได้แข็งแรงเท่ากับผู้ใหญ่ จะมีอาการป่วยจากการติดเชื้อได้ง่ายกว่า และอาการจะรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นผู้ปกครองต้องหันมาปรุงไข่ให้สุกก่อนให้ลูกทาน ถึงแม้ลูกจะชอบกินไข่แบบไม่สุกก็ตาม ผู้ปกครองอาจอธิบายให้ลูกเข้าใจมากขึ้นก็ได้เช่นกัน
เมนูอาหารที่มีประโยชน์มากมายแค่ไหน แต่ถ้าหากนำมาทานผิดวิธี การทานไม่ถูกต้อง ก็อาจเปลี่ยนจากประโยชน์เป็นโทษได้เช่นกัน ดังนั้นแม่ท้องจะต้องศึกษาให้ดี ก่อนที่จะตัดสินใจทานอาหารเมนูต่าง ๆ ในแต่ละมื้อ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินนมเปรี้ยวได้ไหม นมเปรี้ยวมีประโยชน์แต่กับคนท้องเป็นอย่างไร ?
คนท้องกินหมี่หยกได้ไหม ลวกไม่ลวกแบบไหนดีต่อคนท้อง ?
คนท้องกินหนังไก่ทอดได้ไหม เค็มมัน ราคาถูก แต่อันตรายแสนแพง
ที่มา : goodhousekeeping, Samitivej Hospitals
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!