หม่าล่า เมนรสชาติเผ็ดร้อนจนชาลิ้น หนึ่งในเมนูที่คนไทยให้ความนิยมสูง แต่สำหรับคนท้องอาจต่างกัน คนท้องกินหม่าล่าได้ไหม มีเรื่องที่ต้องระวัง หากพลาดกินร้านที่ไม่สะอาด หรือกินเผ็ดมากเกินไป จากเมนูว่างที่ควรจะอร่อย อาจทำให้เกิดอันตรายต่อคนท้องได้เหมือนกันนะ
คนท้องกินหม่าล่าได้ไหม ?
เมื่อคนท้องต้องเลือกมื้ออาหาร สำหรับอาหารว่างที่มักนำมาทานเล่นอย่าง “หม่าล่า” เป็นอาหารที่ได้รับความนิยม และต้องพบเจอตามตลาดต่าง ๆ อยู่เสมอ ด้วยความที่หาทานได้ง่าย และถือว่ามีรสชาติที่ถูกปากคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีความเผ็ดร้อน และสามารถเลือกความเผ็ดเองได้ อาหารเมนูนี้เป็นหนึ่งในเมนูที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาวุธที่อันตรายที่สุดของหม่าล่า คือ ความเผ็ด ที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร คุณแม่จึงควรเลือกความเผ็ดให้พอดี ไม่ควรทานตอนท้องว่าง และอย่าทานหม่าล่าบ่อยเกินไป
นอกจากนี้ในเรื่องของเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร สำหรับหม่าล่าเองก็เคยตรวจพบเชื้อยอดฮิตอย่างเชื้อซาลโมเนลลา จากการสุ่มตรวจของสถาบันอาหาร ซึ่งมีการค้นพบ 1 ร้าน จากการสุ่มตรวจ 5 ร้าน ด้วยเชื้อโรคนี้ทำให้อาหารเป็นพิษ และมักพบเจอในเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี หรือจากร้านที่ไม่รักษาสุขอนามัย หากคนท้องต้องการกินหม่าล่านอกจากความเผ็ด และปริมาณที่ต้องพอดีแล้ว การเลือกร้านที่สะอาด ไว้ใจได้ก็สำคัญไม่แพ้กัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินน้ำซุปตามร้านอาหารได้ไหม ระวังอันตรายจากของฟรี !
วิดีโอจาก : RAMA Channel
อันตรายจากหม่าล่า คนท้องต้องระวัง
แม้รสชาติของหม่าล่าจะถูกปากคนไทย คนท้องหลายคนก็อาจชอบทานด้วย แต่รสชาติเผ็ดร้อนจนชาลิ้นนี้เองที่เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ เพราะรสชาติที่เผ็ดจัด สามารถส่งผลเสียได้โดยตรงกับระบบย่อยอาหาร หากทานมากจนเกินพอดี หรือทานบ่อย ๆ จะทำให้กระเพาะ และลำไส้เกิดความผิดปกติได้
- โรคกรดไหลย้อน ( gastroesophageal reflux disease : GERD ) : สำหรับกรดไหลย้อนเป็นโรคที่มีโอกาสถูกกระตุ้นให้มีอาการขึ้นได้ โดยเฉพาะการทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัดบ่อย ๆ จะทำให้มีอาการปวดท้องส่วนบน และมีอาการเสียดท้อง จากระบบย่อยอาหารเกิดการระคายเคือง ส่งผลกระทบต่อเยื่อบุหลอดอาหารได้นั่นเอง
- แสบร้อนกลางอก : อาการแสบร้อนกลางอก มักมาร่วมกับความรู้สึกเสียดท้อง เนื่องมาจากการกินอาหารที่มีรสเผ็ด เพราะในหม่าล่าอาจมีสารที่ชื่อว่า “แคปเซอิซิน (Capsaicin)” ที่พบได้ในพริก การใช้พริกเยอะ ๆ ในหม่าล่าจึงอาจทำให้มีอาการดังกล่าวได้
- โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome: IBS) : อาจไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นได้ในทันที แต่มักเกิดขึ้นหลังจากที่กินหม่าล่ามาเป็นเวลานาน หรือการกินอาหารเมนูใด ๆ ก็ตามของคนท้องที่มีรสชาติเผ็ดร้อนมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ระบบขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก หรือท้องร่วง เป็นต้น
- แผลในกระเพาะอาหาร : ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งก็คือ กรดที่มากเกินไปในร่างกาย ทั้งจากกระเพาะ และจากหม่าล่าที่กิน เพราะเป็นเมนูเผ็ด จึงมาพร้อมกับกรดในอาหาร หากทานมาก ๆ ปริมาณกรดจะเพิ่มขึ้นจนทำให้ระบบย่อยอาหารเกิดการระคายเคือง หรือเป็นแผลได้เช่นกัน
จากผลกระทบของรสชาติหม่าล่า เราอาจสรุปได้ว่าหากคนท้องต้องการกินเมนูนี้จริง ๆ ไม่ควรให้ทางร้านทำเผ็ดมากจนเกินไป ให้ทำแต่พอดี พอทานให้อร่อย และไม่ควรทานบ่อย และห้ามกินตอนท้องว่างอีกด้วย เพื่อให้ระบบย่อยอาหารไม่ได้รับผลกระทบจากหม่าล่า หรือรับผลกระทบน้อยที่สุดนั่นเอง
2 เชื้อโรคร้ายที่อาจแอบซ่อนในหม่าล่า
ในอาหารแทบทุกประเภท หากมีกระบวนการใดที่ไม่สะอาดนับตั้งแต่กระบวนการผลิตวัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนการประกอบอาหาร ก็มักจะมีเชื้อโรคติดมาด้วยเสมอ เชื้อโรคตัวแรกที่อาจพบในหม่าล่าอย่าง “อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin)” ที่เกิดมาจากเชื้อรา Aspergillus flavus และ A. parasiticus พบได้จากผลผลิตทางการเกษตร หรือเครื่องเทศต่าง ๆ เช่น งา, ถั่วลิสง, กระเทียมแห้ง, พริกแห้ง และพริกไทย เป็นต้น เชื้อโรคตัวนี้มีอยู่หลายชนิด หากรับเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้มีอาการรุนแรงหลายอย่าง เช่น อาการชัก, ตับถูกทำลาย, สมองบวม และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เป็นต้น ถึงแม้จะดูน่ากลัวแต่ถ้าหากอิงจากข้อมูลการตรวจสอบของสถาบันอาหาร ที่ทำการสุ่มตรวจหม่าล่าในกรุงเทพ 5 จุด พบว่าไม่มีร้านไหนที่ปนเปื้อนเชื้อโรคนี้ แม่ท้องจึงยังพอเบาใจได้บ้าง
ต่อมาคือเชื้อยอดฮิตอย่าง “เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella)” ที่พบได้บ่อยในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเนื้อที่อาจไม่ได้ถูกปรุงให้สุก นอกจากนี้ยังสามารถส่งผ่านมายังทางอื่นได้ด้วยจากการไม่รักษาสุขอนามัยของร้านต่าง ๆ หรือแม้แต่การสัมผัสอาหารของคุณแม่ท้องโดยไม่ล้างมือ โดยเชื้อนี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษ, คลื่นไส้อาเจียน หรือทำให้มีไข้ เป็นต้น โดยสถาบันอาหารเองก็ได้มีการสุ่มตรวจอาหารอย่างเมนูหม่าล่าเช่นกันจาก 5 ตัวอย่างในกรุงเทพพบว่า มี 1 ตัวอย่างที่มีการพบเชื้อซาลโมเนลลาด้วย
คนท้องกินหม่าล่าอย่างไรให้ปลอดภัย ?
- เนื่องจากอาหารแทบทุกเมนูเสี่ยงต่อเชื้อโรค คุณแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับความสะอาดของร้านที่ซื้อเสมอ พ่อค้าแม่ค้าสวมหมวก ใส่หน้ากากอนามัย และสวมถุงมือหรือไม่ เป็นต้น
- ระวังตะแกรง หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทางร้านนำมาใช้ในการปิ้ง เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงของมะเร็งได้เช่นกัน หากตะแกรงปิ้งไม่สะอาด
- ความเผ็ดร้อนที่มากเกินไป ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ หรือเกิดอันตรายกับกระเพาะได้ ในช่วงนี้คุณแม่ควรเน้นย้ำกับทางร้านว่าไม่เอาเผ็ดมาก ให้พอมีรสชาติที่พอดีก็พอแล้ว และไม่ควรทานตอนท้อง เพราะจะยิ่งส่งผลเสียต่อกระเพาะมากขึ้น
- เนื่องจากหม่าล่ามีเนื้อหลายแบบ เพื่อไม่ให้ร่างกายรับแต่เนื้อสัตว์ที่ไร้ประโยชน์ ควรเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน หรือเพิ่มปริมาณของผักไปเลยก็ได้เช่นกัน
- ระวังปริมาณในการทาน ควรทานแต่พอดี ให้เป็นอาหารว่าง และไม่ควรทานบ่อยจนเกินไป เพราะถึงแม้จะไม่ทานเผ็ดมาก แต่การทานบ่อยก็ไม่ส่งผลดีต่อร่างกายคนท้อง ควรเน้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่มากกว่า
โดยสรุปแล้วคนท้องสามารถกินหม่าล่าได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความปลอดภัยจากรสชาติที่ไม่ควรเผ็ดมาก และการเลือกร้านที่ถูกสุขอนามัย ร่วมกับการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และการออกกำลังกายเผาผลาญตามความเหมาะสมที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินข้าวญี่ปุ่นได้ไหม ควรเลือกกินข้าวแบบไหนให้ได้ประโยชน์
คนท้องกินแกงส้มได้ไหม เมนูบ้าน ๆ แบบนี้ต้องเลี่ยงหรือกินได้เลย ?
คนท้องกินสลัดบ่อย ๆ ได้ไหม ใครว่าท้องแล้วกินสลัดจะดีเสมอไป ?
ที่มา : hellokhunmor, Rama Channel, thairath
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!