เมื่อการตั้งครรภ์เดินทางมาถึงช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยเฉพาะเข้าใกล้กำหนดคลอดไปทุกที คำว่า “น้ำเดิน” จึงมักเป็นคำศัพท์ที่ระบุถึง สัญญาณใกล้คลอด ซึ่งคุณแม่หลายคนได้ยินอยู่บ่อยๆ แต่ก็อาจมีแม่ท้องหลายคนที่ยังไม่รู้ หรือไม่มีความเข้าใจชัดเจนว่า น้ำเดินคืออะไร? อาการ น้ำเดินเป็นยังไง ? จะแยกออกจากอาการปัสสาวะเล็ดอย่างไร เราจะพามาทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีรับมือ เมื่อแม่ท้องเกิดอาการน้ำเดินกันค่ะ

น้ำเดิน คืออะไร?
เริ่มจากการทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่า คำว่า “น้ำเดิน” ก็คืออาการ “น้ำคร่ำแตก” หนึ่งในสัญญาณเตือนว่าคุณแม่ “ใกล้คลอด” เต็มทีแล้ว โดยเป็นภาวะที่ถุงน้ำคร่ำซึ่งห่อหุ้มทารกในครรภ์แตกออก แสดงถึงการที่มดลูกเริ่มบีบตัวหดเล็กลง เพื่อบีบให้ศีรษะของทารกในครรภ์เคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้มีของเหลวไหลออกมาทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก และโดยปกติน้ำคร่ำจะมีสีใส หรือสีเหลืองอ่อนคล้ายปัสสาวะ ไม่มีกลิ่น หรือมีกลิ่นเหมือนคลอรีนหรือน้ำอสุจิ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากเกิดน้ำเดินแสดงว่ามีโอกาสมากถึง 80% ที่คุณแม่จะคลอดภายใน 12 ชั่วโมงค่ะ และแม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ใกล้คลอด แต่หากเกิดน้ำเดินก่อนกำหนด โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์ยังไม่ครบ 37 สัปดาห์ อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้นะคะ
|
น้ำคร่ำคืออะไร? มีอยู่มากแค่ไหน?
|
- น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) คือ ของเหลวสีใส หรือสีออกเหลืองเล็กน้อย รายล้อมอยู่รอบทารกที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ
- เมื่ออายุครรภ์ 10 สัปดาห์ จะมีปริมาณน้ำคร่ำประมาณ 30 มิลลิลิตร
- ปริมาณน้ำคร่ำจะเพิ่มปริมาณเป็น 200 มิลลิลิตรเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16 สัปดาห์
- น้ำคร่ำจะเพิ่มปริมาณสูงสุด 800 มิลลิลิตร เมื่ออายุครรภ์ราว 34 สัปดาห์
- หลังจากอายุครรภ์ 36 สัปดาห์เป็นต้นไป น้ำคร่ำจะค่อย ๆ ลดปริมาณลง
|

น้ำเดินเป็นยังไง ? อาการที่แม่ท้องต้องรู้
ความรู้สึกของอาการน้ำคร่ำแตก หรือ น้ำเดินเป็นยังไง ? ต้องบอกว่าจะมีความแตกต่างกันไปในคุณแม่แต่ละคนค่ะ อาจเป็นได้ทั้งความรู้สึกเหมือนถุงแตก น้ำคร่ำจะไหลทะลักออกมา หรือมีอาการน้ำคร่ำรั่วเล็กๆ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีน้ำคร่ำไหลหยดช้าๆ เหมือนกำลังปัสสาวะก็ได้เช่นกันค่ะ แต่โดยทั่วไปแล้วแม่ท้องจะรู้สึกถึงแรงกด จากนั้นความรู้สึกเหมือนมีอะไรเล็กๆ แตกอยู่ข้างใน ตามมาด้วยความรู้สึกโล่งทันทีที่ถุงน้ำคร่ำแตกค่ะ ซึ่งลักษณะอาการน้ำเดินที่คุณแม่ต้องสังเกตและทำความเข้าใจเพิ่มเติมมีดังนี้
- น้ำเดินธรรมดา น้ำคร่ำจะซึมออกมาในปริมาณเล็กน้อย บางครั้งอาจไม่สามารถควบคุมได้ และอาจไหลออกเป็นระยะๆ เมื่อคุณแม่ขยับตัวหรือยืนอยู่
- น้ำเดินฉับพลัน น้ำคร่ำอาจออกมาในปริมาณมากๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ เหมือนการรั่วไหลของน้ำ หรืออาจเป็นน้ำใสๆ หรือมีมูกเลือดเล็กน้อย
- น้ำเดินพร้อมอาการอื่นๆ อาจมีอาการปวดท้องหรือเจ็บท้องคล้ายการเจ็บครรภ์ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดร่วมด้วย
|
น้ำเดินเป็นยังไง ? แยกให้ชัดจาก ปัสสาวะเล็ด
|
น้ำเดิน |
- มีน้ำไหลออกมาตลอดเวลา และไม่สามารถควบคุมได้
- มีปริมาณมากกว่าปัสสาวะเล็ด
- โดยทั่วไปมีสีใส หรือเหลืองอ่อน
|
ปัสสาวะเล็ด |
- มักเกิดขึ้นเมื่อไอ จาม หรือหัวเราะ
- สามารถควบคุมได้
- มีปริมาณน้อยกว่าน้ำเดิน
|
น้ำเดินเป็นยังไง จะเกิดขึ้นตอนไหน?
โดยปกติแล้ว น้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก จะเกิดก่อนอาการเจ็บท้องคลอดเล็กน้อย คือพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ไปจนถึงอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกสามารถคลอดได้ทุกเมื่อ แต่ไม่ใช่ว่าแม่ท้องทุกคนจะเกิดอาการน้ำเดินในช่วงเวลาเดียวกันเป๊ะๆ นะคะ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนเลยค่ะที่มีภาวะน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอด
- ประมาณร้อยละ 10 มีภาวะน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอด ที่เรียกว่า “ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด” หรือ “ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์” (Premature rupture of membranes หรือ Prelabor rupture of membranes : PROM) เกิดจากการที่ถุงน้ำคร่ำแตกรั่วก่อนเริ่มมีอาการปวดท้องคลอด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คลอดก่อนกำหนด และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
- คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 3 อาจเกิด “ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ ” หรือ Preterm prelabor rupture of membranes: PPROM ซึ่งหมายถึง ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บคลอด ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาว่าจำเป็นต้องคลอดทารกทันทีหรือสามารถยืดอายุครรภ์ออกไปก่อนได้ เพราะการยืดอายุครรภ์ออกไปหลังจากถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว อาจทำให้แม่และทารกเสี่ยงติดเชื้อหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ สูงขึ้น แต่การคลอดก่อนกำหนดก็มีความเสี่ยงเช่นกัน จึงต้องมีการประเมินอย่างรอบคอบเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

รับมืออย่างไร เมื่อแม่ท้องเกิดอาการ “น้ำเดิน”
หากคุณแม่ตั้งครรภ์สังเกตพบว่าตัวเองเกิดอาการน้ำเดิน ควรปฏิบัติและรับมือด้วยวิธีการต่อไปนี้ค่ะ
-
ตั้งสติ และสังเกต
น้ำเดินเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าใกล้ถึงเวลาคลอดแล้ว หากไม่มีอาการอื่นๆ ที่เป็นอันตราย การน้ำเดินไม่ใช่เรื่องน่าตกใจเสมอไป ดังนั้น คุณแม่ควรตั้งสติ อย่าตกใจ แล้วสังเกตปริมาณ สี และกลิ่นของของเหลวที่ไหลออกมา
-
ติดต่อแพทย์ทันที
เมื่อรู้ตัวว่าน้ำเดิน ควรติดต่อโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้ดูแลครรภ์เพื่อขอคำแนะนำทันที โดยแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับอาการ เช่น ปริมาณและลักษณะของน้ำที่ออกมา เวลาที่เริ่มมีน้ำเดิน และอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย และเตรียมตัวไปโรงพยาบาลทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจประเมินและวางแผนการคลอด
-
ระวังการติดเชื้อ
หากน้ำเดินก่อนกำหนด เช่น ในช่วงอายุครรภ์ไม่ถึง 37 สัปดาห์ การติดเชื้ออาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยและคุณแม่ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่มีน้ำเดิน และรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว นอกจากนี้ หากน้ำเดินพร้อมกับการมีเลือดออกหรือปวดท้องรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเช่นกัน เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ ได้
ทำไม? ต้องไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการน้ำเดิน
- ป้องกันการติดเชื้อ เมื่อถุงน้ำคร่ำแตก ทารกจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
- ตรวจสอบสภาพทารก แพทย์จะตรวจสอบการเต้นของหัวใจทารก และประเมินความพร้อมในการคลอด
- จัดการภาวะแทรกซ้อน หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น น้ำคร่ำมีสีเขียว หรือมีสายสะดือย้อย แพทย์จะสามารถให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที

สัญญาณใกล้คลอดอื่นๆ ที่แม่ท้องควรรู้
นอกจากน้ำเดินแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงการใกล้คลอดที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ ได้แก่
- การเจ็บครรภ์ คือการที่มดลูกบีบรัดตัวอย่างสม่ำเสมอ แต่ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บท้องเป็นระยะๆ ซึ่งการเจ็บท้องคลอดจริง จะเจ็บเป็นพักๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย อาการเจ็บจะไม่หายไปเมื่อครบ 1 ชั่วโมง ซึ่งคุณแม่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แต่ถ้าเจ็บแล้วหายไปอาจเป็นการเจ็บเตือนจากการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
- การเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก ปากมดลูกจะเปิดและขยายเพื่อเตรียมคลอด
- การหลุดของมูกปากมดลูก อาจมีการหลุดของมูกที่ปิดทางออกของมดลูก ซึ่งบางครั้งอาจมีเลือดออกปนมา โดยบริเวณปากมดลูกจะมีมูกจุกอยู่ เมื่อมดลูกบีบรัดตัว ศีรษะของทารกจะเคลื่อนลงไปกดปากมดลูก เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดและมูกที่อุดกั้นหลุดออกมา แสดงให้เห็นว่าคุณแม่กำลังเข้าสู่ระยะคลอด ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดค่ะ
คุณแม่น่าจะพอเข้าใจกันแล้วนะคะว่า น้ำเดินเป็นยังไง ซึ่งเป็นอาการที่หากเกิดขึ้น คุณแม่จะสามารถสังเกตและรับรู้ได้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียวค่ะ ไม่น่ากังวและเตรียมตัวคลอดได้เลย อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการน้ำเดินก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
ที่มา : www.bangkokhospital.com , www.nakornthon.com , hellokhunmor.com , www.medparkhospital.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องปวดก้นกบ ทำยังไงดี? 6 วิธีบรรเทาอาการปวดก้นกบแม่ตั้งครรภ์
ท้องลายทำไงดี ? 9 วิธีป้องกันและลดรอยแตกลายให้แม่ท้อง แม่หลังคลอด
คนท้องเท้าบวม ตอนไหน? คนท้องเท้าบวมนวดได้มั้ย มีวิธีรับมือยังไง?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!