คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนน่าจะเคย หรือกำลังประสบกับ “อาการปวดก้นกบ” หรือ “ปวดกระดูกก้นกบ” ที่ไม่เพียงทรมานแต่ยังสร้างความรำคาญใจให้แม่ท้องอย่างมากด้วย แล้วสงสัยไหมคะว่าอาการปวดก้นกบนี้เกิดจากอะไร มีอันตรายต่อครรภ์มั้ย คนท้องปวดก้นกบ ทำไงดี? เรามีข้อมูลเกี่ยวกับอาการนี้พร้อม 6 วิธีบรรเทาอาการปวดก้นกบสำหรับแม่ตั้งครรภ์มาฝากกันค่ะ
ก้นกบ-กระดูกก้นกบ คืออะไร?
ก้นกบ คือ กระดูกส่วนปลายที่ต่อมาจากกระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ 5 ลงมา มีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยมคว่ำ มีกระดูกชิ้นเล็กๆ ประมาณ 5 ชิ้นเชื่อมต่อจนเป็นกระดูกชิ้นเดียวกันที่มีความแข็งแรงมาก และเป็นกระดูกที่เชื่อมติดกับกระดูกกระเบนเหน็บซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป โดยกระดูกก้นกบจะไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวได้เหมือนกระดูกสันหลัง เพียงแต่มีหน้าที่รับน้ำหนักและกระจายแรงขณะนั่ง ทั้งยังเป็นจุดยึดเกาะของกล้ามเนื้อเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเชิงกรานด้วย
แบบไหนเรียกว่า อาการปวดก้นกบ
อาการปวดก้นกบนั้นพบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตและกิจวัตรประจำวันของแม่ท้องอย่างมาก ซึ่งอาการของ คนท้องปวดก้นกบ มีได้หลากหลายลักษณะ ดังนี้
- ปวดบริเวณกระดูกก้นกบ อาจรู้สึกเป็นปวดตุบๆ ปวดเสียด หรือปวดร้าว
- ปวดร้าวลงขา อาการปวดอาจลามลงไปถึงขา หรือบริเวณก้น
- ปวดมากขึ้นเมื่อนั่ง โดยเฉพาะการนั่งนานๆ หรือการนั่งบนพื้นผิวที่แข็ง เช่น นั่งทำงาน เนื่องจากปวดกล้ามเนื้อบริเวณหลังอักเสบหรือตึงตัวจากการใช้งาน จนบางครั้งปวดแปล๊บๆ ร้าวลงขาได้
- ปวดเมื่อเคลื่อนไหว เช่น การลุกนั่ง เดิน หรือเปลี่ยนอิริยาบถ
- ปวดมากขึ้นเมื่อขับถ่าย เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกระดูกก้นกบ
- รู้สึกไม่สบายตัวเมื่อนั่ง อาจรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสบริเวณก้นกบ
- ปวดบั้นท้ายซ้าย หรือบั้นท้ายขวา เวลาเดิน นั่ง ลุกขึ้นยืน จะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ไม่เฉพาะแม่ตั้งครรภ์เท่านั้น แต่การปวดก้นกบเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งอาจมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ปวดหลัง มีก้อนเนื้อนูนบริเวณก้นกบ โดยอาการปวดก้นกบอาจรุนแรงขึ้นขณะที่กำลังเปลี่ยนเป็นท่านั่งหรือท่ายืน ในช่วงที่กำลังขับถ่าย หรือขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก
อย่างไรก็ตาม อาการปวดก้นกบของแม่ท้อง ไม่เป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ค่ะ แต่หากปวดมากจนไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ หรือเป็นยาวนานต่อเนื่องโดยไม่ดีขึ้น คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษานะคะ
ทำไม? คนท้องปวดก้นกบ
สาเหตุหลักที่ทำให้ คนท้องปวดก้นกบ ก็เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในหลายส่วนเพื่อรองรับการเติบโตของทารกน้อยในครรภ์ค่ะ ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงกดทับที่กระดูกก้นกบและเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง จนทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกปวดเมื่อยได้ รวมถึงจากปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้ด้วย
-
ฮอร์โมนรีแล็กซิน (Relaxin)
ซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวที่มีหน้าที่ทำให้ข้อต่อและเอ็นต่างๆ อ่อนตัวลง เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอด แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ข้อต่อบริเวณกระดูกเชิงกรานและกระดูกก้นกบยืดหยุ่นมากเกินไป มีความเคลื่อนไหวได้มากขึ้น อาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ห่อหุ้มกระดูกยืดออกตาม ส่งผลให้เกิดอาการปวดได้ง่ายขึ้น
ในช่วงตั้งครรภ์น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่จะทำให้กระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานต้องรับน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดแรงกดทับบริเวณกระดูกก้นกบได้ค่ะ และเมื่อถึงเวลาใกล้คลอด หรือระหว่างคลอด กระดูกเชิงกรานก็จะยิ่งขยายใหญ่มาก ๆ ทำให้เส้นเอ็นบริเวณนั้นยืดออก เป็นสาเหตุของอาการปวดก้นกบได้
เมื่อทารกเจริญเติบโตมากขึ้น ครรภ์ของคุณแม่ก็ใหญ่ขึ้นจนอาจจะกดทับเส้นประสาทและกระดูกบริเวณเชิงกราน ทำให้เกิดอาการปวดได้
-
ท่าทางการนั่ง การนอน ไม่เหมาะสม
การนั่งหรือนอนในท่าที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดแรงกดทับบริเวณกระดูกก้นกบ และเพิ่มอาการปวดได้มากขึ้นหรือการนอนหงายเมื่อทารกในครรภ์โตแล้ว น้ำหนักครรภ์จะกดให้อุ้งเชิงกรานแบะออกจากกระดูกก้นกบ ทำให้ปวดได้
|
วิธีป้องกันและดูแล การแบะของก้นกบ
|
1. นอนตะแคงแทนการนอนหงาย เลี่ยงการนอนตะแคงข้างขวา |
2. ถ้าต้องการพลิกตัวให้งอเข่า 2 ข้างซ้อนกันขณะนอนตะแคง แล้วยกสะโพกให้ลอยขึ้นจากพื้นเตียงตลอดเวลาที่พลิกตัวมาอีกข้าง เมื่อพลิกเสร็จแล้วจึงค่อยๆ วางสะโพกลงถ้าไม่มีแรงในการยกสะโพกให้ใช้มือช่วยยก |
3. ขณะตอนตะแคง ให้เอากระเป๋าน้ำร้อนประคบ 30 นาที จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบของข้อได้ |
6 วิธีบรรเทาอาการ คนท้องปวดก้นกบ
อาการ คนท้องปวดก้นกบ ที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกอึดอัดและรำคาญใจ อาจบรรเทาลงได้ด้วย 5 วิธีต่อไปนี้ค่ะ ลองนำไปทำดูนะคะ
-
ปรับท่าทาง เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
พยายามไม่นั่งอยู่ท่าเดิมนานเกินไป ควรลุกเดินบ่อยๆ ลุกขึ้นยืนทุกๆ 30 นาที และควรปรับท่านั่ง เนื่องจากการเจ็บกระดูกก้นกบสัมพันธ์กับท่านั่งโดยตรง ควรนั่งหลังตรงหรือโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อยแทนการนั่งเอนไปด้านหลัง เพื่อไม่เป็นการเพิ่มแรงกดให้กับกระดูกก้นกบและหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
-
ประคบร้อนหรือประคบเย็น
การประคบร้อนด้วยผ้าขนหนูอุ่นๆ หรือใช้ถุงน้ำร้อน จะช่วยลดอาการปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้คุณแม่ได้ หรือกรณีใช้การประคบเย็นด้วยแผ่นเย็น ก็จะสามารถช่วยลดอาการอักเสบและบวมได้เช่นกันค่ะ
-
ออกกำลังกายเบาๆ
คุณแม่ท้องสามารถออกกำลังกายแบบเบาๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ได้นะคะ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ หรือโยคะสำหรับแม่ท้อง จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและลดอาการปวดก้นกบ รวมถึงอาการปวดเมื่อยอื่นๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้ค่ะ
-
ยืดเหยียด บริหารร่างกาย
การบริหารร่างกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่อแข็งแรงขึ้น การที่กล้ามเนื้อแข็งแรงจะช่วยซัพพอร์ตแรงกดได้ดีขึ้น อาการปวดก้นกบจากแรงกดจึงลดลง
|
วิธีบริหารกล้ามเนื้อสะโพกให้แข็งแรง ป้องกันการปวดก้นกบ
|
ท่าที่ 1 ยกก้น |
- นอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้าง วางแขนไว้ข้างลำตัว
- ค่อยๆ เกร็งกล้ามเนื้อสะโพกยกให้ลอยสูงขึ้นค้างไว้ นับ 1-5 แล้วค่อยๆ วางลง
- ทำชุดละ 5 ครั้ง ทำให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 ครั้ง
|
ท่าที่ 2 เกร็งสะโพก ยกขา |
- คุกเข่าบนเบาะข้างเตียงหรือเก้าอี้
- เกร็งสะโพกยกขาเหยียดตรง ค้างไว้ นับ 1-5 แล้วค่อยๆ วางลง ทำสลับข้างกัน
- ขณะยกขาจะต้องไม่ให้สะโพกบิด เพราะอาจเกิดอาการปวดที่ข้อต่ออื่นๆ เช่น ข้อต่อสะโพก และบั้นเอว
- ควรมีเบาะรองใต้เข่าจะช่วยลดแรงกดที่เข่า ป้องกันการปวดเข่า
- ต้องคอยแขม่วท้องไม่ให้หลังแอ่นมาก เพื่อไม่ให้ปวดหลัง โดยจะต้องแขม่วยกครรภ์ขึ้น เท่ากับเป็นการออกกำลังต้านกับน้ำหนักของครรภ์ จะได้ความแข็งแรงเพิ่มมากกว่าการนั่ง นอน หรือยืนแขม่วท้องธรรมดา
|
-
ใช้เบาะรูปโดนัท
การใช้เบาะรองนั่งที่มีหลุม หรือหมอนรูปโดนัท เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถทำได้ง่ายและช่วยลดอาการปวดก้นกบได้ดีค่ะ เพราะเบาะรองนั่งลักษณะนี้ทำให้กระดูกก้นกบไม่สัมผัสกับตัวเบาะ การกดทับจึงน้อยลง
-
กินอาหารที่มีประโยชน์
เรื่องอาหารการกินนั้นสำคัญกับสุขภาพแม่ท้องทุกไตรมาสค่ะ และมีส่วนช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วงตั้งครรภ์ได้อย่างดี อาการปวดก้นกบก็เช่นกัน คุณแม่ตั้งครรภ์ควรกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากนม และผักใบเขียว จะช่วยเสริมสร้างกระดูกและลดอาการปวดได้ค่ะ
คนท้องปวดก้นกบ แน่นอนว่าอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ส่วนใหญ่มักไม่เป็นสัญญาณของอาการอันตราย และมักจะหายไปหลังคลอด อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง อาการปวดลามไปยังหลังส่วนล่าง สะโพก หรือบริเวณอื่นๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมนะคะ
ที่มา : hdmall.co.th , www.doctor.or.th , samitivejchinatown.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องนั่งยองได้ไหม ท่านั่งคนท้อง ท่าไหนไม่ควรนั่งระหว่างตั้งครรภ์
คนท้องเป็นตะคริว ต้องกินอะไร ? วิธีป้องกันและบรรเทาอาการ
ทำไม ลูกดิ้นน้อยลง ? เคล็ดลับรับมือ ภาวะทารกเครียด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!