“เท้าบวม” เป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตที่คุณแม่ตั้งครรภ์แทบทุกคนต้องเผชิญ และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่หลายคน โดยสาเหตุของอาการเท้าบวมมีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน มดลูก สภาพอากาศ และอิริยาบถต่างๆ ของคุณแม่เอง ซึ่งอาการ คนท้องเท้าบวม จะมีวิธีรับมือยังไง? คนท้องเท้าบวมตอนไหน สามารถนวดบรรเทาอาการได้มั้ย มาไขข้อข้องใจปัญหาเท้าบวมในขณะตั้งครรภ์ไปพร้อมกันค่ะ

ทำไม? คนท้องเท้าบวม
อาการเท้าบวม ขาบวม หรือนิ้วบวม ในระหว่างตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่เรียกว่า อาการบวมน้ำ (Oedema หรือ Edema) เนื่องจากมีของเหลวสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อมากเกินไป ทำให้ส่วนต่างๆ ในร่างกายบวมขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณข้อเท้าและเท้า โดยสาเหตุหลักๆ ของ อาการคนท้องเท้าบวม ได้แก่
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายของคุณแม่กักเก็บน้ำมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการเท้าบวมตามมา
มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจะกดทับหลอดเลือดดำที่อุ้งเชิงกราน และหลอดเลือดเวนาคาวา (vena cava) ซึ่งเป็นหลอดเลือดดำใหญ่ของร่างกายซีกขวา คอยลำเลียงเลือดจากขา (lower limb) กลับไปยังหัวใจ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก ส่งผลให้เกิดการคั่งของเลือดบริเวณขาและเท้า
-
การเพิ่มขึ้นของปริมาณเลือด
ร่างกายของคุณแม่จะผลิตเลือดเพิ่มขึ้นประมาณ 50% เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก ทำให้เกิดการคั่งของของเหลวในร่างกาย
การยืนหรือเดินนานๆ ทำให้เลือดไหลเวียนลงสู่ขาและเท้ามากขึ้น คุณแม่จึงเกิดอาการเท้าบวม
เช่น อากาศร้อน การทำกิจกรรมตลอดวัน การขาดโพแทสเซียม การกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีโซเดียม รวมถึงคาเฟอีนมากเกินไป ก็สามารถทำให้เกิดอาการบวมได้เช่นกัน

คนท้องเท้าบวม ตอนไหน ?
ตามปกติแล้ว คนท้องเท้าบวม จะเริ่มสังเกตเห็นได้ชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า “ช่วงกลางการตั้งครรภ์” คือ เดือนที่ 5-7 และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ส่วนใหญ่จะมีอาการบวมที่เท้าและข้อเท้า เนื่องจากร่างกายต้องการเพิ่มปริมาณเลือดและน้ำเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว คนท้องเท้าบวม รวมถึงอาการบวมอื่นๆ สามารถเกิดได้ตลอดการตั้งครรภ์ แต่มักพบในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งบางรายอาจมีอาการบวมที่นิ้ว ใบหน้า และลำคอร่วมด้วย โดยอาการบวมต่างๆ นี้อาจมากขึ้นในไตรมาสสุดท้าย และจะยิ่งรุนแรงขึ้นหากคุณแม่มีน้ำคร่ำมากเกินไป หรือเป็นคุณแม่ท้องแฝด
และแม้กระทั่งหลังคลอดอาการบวมก็ยังจะไม่หายไปทันที โดยในช่วง 3-4 วันแรกหลังคลอดลูก อาการอาจยิ่งหนักขึ้น เพราะร่างกายคุณแม่หลังคลอดจำเป็นต้องกำจัดส่วนเกินอย่างเลือดและของเหลวตอนท้องออก เมื่อยังมีของเหลวคั่งค้างอยู่ในเนื้อเยื่อ อาการบวมจึงยังคงอยู่จนกว่าร่างกายจะสามารถกำจัดของเหลวออกไปได้หมดค่ะ

คนท้องเท้าบวมนวดได้มั้ย ?
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถนวดได้นะคะ เพียงแต่ต้องทำอย่างระมัดระวังและถูกวิธี ซึ่งการนวดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดความเครียด และเพิ่มความผ่อนคลายให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ แต่ควรเป็นการนวดที่นุ่มนวล ไม่รุนแรง เพื่อคลายเส้นและบรรเทาอาการปวดเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงการนวดบริเวณท้อง และท่านอนคว่ำเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือเสี่ยงต่อการแท้ง ที่สำคัญคือควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับบริการนวด โดยเฉพาะหากมีภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์
สำหรับ คนท้องเท้าบวม สามารถนวดเท้าได้เช่นกันค่ะ เนื่องจากอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน ลดอาการบวมและปวดเมื่อยได้ดี อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังในการนวด คนท้องเท้าบวม คือ
- ควรหลีกเลี่ยงการกดจุดที่อาจกระตุ้นการเจ็บครรภ์
- หลีกเลี่ยงการนวดที่รุนแรงเกินไป และเลือกใช้น้ำมันนวดที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง
- หากมีอาการปวดหรือบวมมาก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการนวด
- งดนวดในช่วงไตรมาสแรก เพราะมดลูกกำลังเติบโตและมีความอ่อนไหวสูง อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ หากมีการนวดแรงเกินไป
- ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ควรนวดเท้าเบาๆ โดยใช้แรงที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการนวดที่อาจไปกระตุ้นจุดที่เสี่ยงทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือการกระตุ้นการหดตัวของมดลูก

วิธีรับมือ คนท้องเท้าบวม สร้างความสบายเท้าให้แม่ท้อง
วิธีการรับมืออย่างแรกก็เหมือนที่บอกไปค่ะว่าคนทองเท้าบวมสามารถนวดได้ เพียงแต่ต้องเป็นนวดผ่อนคลาย หรือประคบเย็นบริเวณที่บวม ไม่นวดกดฝ่าเท้า ไม่นวดแผนไทย ไม่นวดกับผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญ ไม่รู้วิธีในการนวดแม่ตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด เพระอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือจะให้ดีที่สุดคุณแม่ลองเก็บการนวดไว้ปรึกษาคุณหมอก่อน แล้วเริ่มบรรเทาอาการเท้าบวมง่ายๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้
- ยกขาสูง พยายามนั่งหรือนอน ในท่าที่ยกขาขึ้นสูงได้ เพื่อให้เลือดและของเหลวไหลเวียนกลับจากเท้าสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ประมาณ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
- เคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเล่น หรือว่ายน้ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ช่วยให้ร่างกายมีน้ำเพียงพอ ลดอาการบวมน้ำและภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงช่วยขับโซเดียมส่วนเกินออกไปได้
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม อาหารที่มีโซเดียมมาก รวมถึงน้ำตาล ไขมันทรานส์ และคาร์โบไฮเดรต เพราะทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำมากขึ้น มีของเหลวส่วนเกินคั่งค้างอยู่ในร่างกายมากจนทำให้เกิดอาการบวม
- สวมรองเท้าที่สบาย หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าที่คับแน่น แต่ควรเลือกรองเท้าที่รองรับเท้าได้ดี ไม่แคบหรือรัดแน่นเกินไป เพื่อป้องกันการกดทับและบวม
- เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ พยายามไม่ยืนนานๆ หรือนั่งในท่าเดียวเป็นเวลานาน ควรลุกเดินหรือเปลี่ยนท่าทุกๆ 30 นาที งดนั่งไขว่ห้าง นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งทับข้อเท้า และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด
- นอนตะแคงซ้าย จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้สะดวกขึ้น
- ประคบเย็น ควรใช้ผ้าเย็นประคบบริเวณเท้าที่บวมจะช่วยบรรเทาอาการได้
- แช่เท้าในน้ำอุ่น ผสมเกลือเล็กน้อยในน้ำอุ่น แล้วแช่เท้าประมาณ 10-15 นาที จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดอาการบวม และทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย
- บริหารเท้าง่ายๆ เช่น ยืดเหยียดเท้าขึ้นลง 30 ครั้ง หมุนเท้าเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกาอย่างละ 8 ครั้ง
- สวมเสื้อผ้าหลวมๆ ที่ไม่รัดบริเวณข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้าและน่อง หรือสวมถุงน่องซัพพอร์ต แต่ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ในการเลือกถุงน่องซัพพอร์ตที่เหมาะสม
- ใช้ครีมบรรเทาอาการบวม เลือกครีมหรือเจลที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง และช่วยลดอาการบวมบริเวณเท้า
ต้องสังเกต! อาการบวมที่ผิดปกติในคนท้อง
นอกจากอาการเท้าบวม นิ้วบวม มือบวม ตามปกติที่ไม่มีอันตรายแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสังเกตตัวเองเพิ่มเติมว่ามีสัญญาณเตือนจากอาการบวมแบบผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ดังนี้
- ขาข้างหนึ่งบวมกว่าอีกข้าง โดยเฉพาะหากมีอาการปวด หรือกดเจ็บบริเวณน่องและต้นขา เพราะเป็นสัญญาณของภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (thrombosis)
- มีลักษณะบวมของผิวบนร่างกายแบบกดผิวแล้วบุ๋ม คงสภาพไว้ไม่คืนตัวอย่างรวดเร็ว
- มักมีอาการร่วมกับ ความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ
- มีอาการปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด และปวดจุดแน่นลิ้นปี่
อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ควรรีบปรึกษาแพทย์
คนท้องเท้าบวมเป็นเรื่องปกติในช่วงการตั้งครรภ์ แต่การรับมือกับอาการบวมสามารถทำได้ด้วยการรักษาและปฏิบัติตัวตามวิธีที่ข้างต้น รวมถึงการนวดเท้าเบาๆ เพื่อบรรเทาอาการ แต่หากมีอาการรุนแรงหรือไม่หายไป คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์นะคะ
ที่มา : www.phyathai.com , hellokhunmor.com , www.v-ivf.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องเป็นตะคริว ต้องกินอะไร ? วิธีป้องกันและบรรเทาอาการ
12 วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง แพ้ท้อง ทำไงดี? ให้สุขภาพดีทั้งแม่และลูก
คนท้อง ติดเข็มกลัด ทำไม ? เพราะความเชื่อ หรือความจำเป็น !
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!