ภาวะขาดสารอาหารในเด็กส่งผลกระทบต่อการเติบโตและพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ซึ่งภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถดึงดูดสารอาหารสำคัญไปใช้ได้ หากเด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลทำให้ร่างกายมีน้ำหนักน้อย ตัวเล็กกว่าปกติ ภูมิต้านทานโรคต่ำ และทำให้เกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย รวมถึงยังส่งผลต่อการพัฒนาสมอง สติปัญญา และการเรียนรู้อีกด้วย แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกกำลังขาดสารอาหาร วันนี้ theAsianparent จะพามาหาคำตอบกันค่ะ
ภาวะขาดสารอาหาร คืออะไร
ภาวะขาดสารอาหาร คือ ภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และไขมัน โดยเกิดจากการรับประทานอาหารน้อยเกินไป หรือร่างกายไม่สามารถดูดสารอาหารสำคัญไปใช้ได้ มักพบในทารกและเด็กวัยก่อนเรียน หากเด็กเกิดภาวะขาดสารอาหาร ก็อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ทำให้น้ำหนักตัวน้อย ตัวเล็กกว่าปกติ และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ หากเด็กมีภาวะขาดสารอาหาร ก็ส่งผลกระทบพัฒนาการสมองด้วย
10 สัญญาณเตือน ลูกกำลังขาดสารอาหาร
นักโภชนาการจากสถาบันด้านสุขภาพในนิวยอร์ก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตลูกน้อยว่ามีสัญญาณที่แสดงว่าลูกกำลังเริ่มขาดสารอาหารหรือไม่ โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้
1. มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลบ่อย ๆ
อาการซึมเศร้าและวิตกกังวล มักเกิดขึ้นจากการสั่งการของสมอง และเป็นผลกระทบจากการขาดสารอาหาร เช่น การขาดสารโปรตีน ซึ่งโปรตีนเป็นตัวสร้างกรดอะมิโนที่สามารถพบได้ผักและเนื้อสัตว์
กรดอะมิโนยังเป็นส่วนที่จำเป็นของสมองในการสร้างเซลล์ประสาทและฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น เซโรทอนิน เอ็นดอร์ฟิน แคทีโคลามีน (สร้างต่อมหมวกไต) และสารกาบา GABA ที่สำคัญ ซึ่งฮอร์โมนและเซลล์ประสาทเหล่านี้เป็นส่วนสร้างความสุขและลดอาการเครียดและอาการซึมเศร้าได้อย่างดี
สิ่งที่ควรทำ : เพิ่มเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบที่มีคุณค่าทางโปรตีน เช่น อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ที่ต้องเอาส่วนติดมันและกระดูกออก ในรายที่มีปัญหารุนแรง อาหารเสริมเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนเพียงพอ
2. กระสับกระส่ายหรือไฮเปอร์อยู่ตลอดเวลา
คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าอาการกระสับกระส่ายตื่นตัวของลูกนั้นเป็นสัญญาณที่ดี แต่ความจริงแล้วเด็กที่มีอาการเหล่านี้มันมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร และส่งผลให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้น้อยลง
สิ่งที่ควรทำ : คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่มีการปรุงแต่งกลิ่นหรือสีต่าง ๆ กับลูก เพราะอาหารประเภทนี้ส่งผลต่อการย่อยอาหาร ควรให้ทานผลไม้ โยเกิร์ต หรือนมแทนในแต่ละวัน
3. มีภาวะพูดช้า
ปกติแล้วภาวะพูดช้าอาจจะเป็นผลมาจากทางพันธุกรรม แต่อาจมีผลมาจากการขาดวิตามินบี 12 ได้เช่นกัน
สิ่งที่ควรทำ : คุณพ่อคุณแม่ควรจัดอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 แทนการให้ทานวิตามินเสริม อาหารที่แนะนำ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ไก่ เนื้อหมู ปลา ไก่ เนื้อวัว และเครื่องในสัตว์
4. ผิวหนังแห้งและปัญหาเส้นผมต่าง ๆ
ผิวหนังแห้งและปัญหาเส้นผมนั้นอาจเกิดจากการที่ร่างกายขาดสารอาหารและขาดวิตามิน เอ ดี อี และเค 2
สิ่งที่ควรทำ : คุณพ่อคุณแม่ควรเสริมวิตามินเหล่านี้ ด้วยการให้ทานน้ำมันตับปลา วันละครึ่งช้อนโต๊ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง
5. ฟันซ้อน
ฟันซ้อนอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่หลักการทางวิทยาศาสตร์เผยว่าฟันซ้อนอาจเกิดขึ้นจากการขาดสารอาหารได้เช่นเดียวกัน เด็กที่ทานอาหารแปรรูปมากเกินไป เด็กที่มีช่องฟันที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งคุณแม่ที่ละเลยการทานอาหารที่หลากหลายขณะตั้งครรภ์ ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดฟันซ้อน
สิ่งที่ควรทำ : แนะนำให้คุณแม่ทำอาหารปรุงสุกใหม่ ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างฟันให้แข็งแรง ได้แก่ ถั่วเลนทิล ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วปากอ้า ไข่ไก่และเนื้อสัตว์ปีกจำพวกไก่ เป็นต้น
6. มีอาการไข้และเป็นหวัดบ่อย ๆ
การได้ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์เป็นส่วนสำคัญช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรหันมาใส่ใจเกี่ยวกับอาหารการกินของลูก ให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและหลากหลาย ไม่เน้นจำเพาะสิ่งหนึ่งสิ่งใด
สิ่งที่ควรทำ : คุณพ่อคุณแม่ควรทำอาหารแบบพื้นบ้าน ปรุงสุกใหม่ทุกครั้งให้ลูกรับประทาน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายลูกแข็งแรง
7. ฟันผุ
ฟันผุเกิดจากการที่ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป หรืออาจเกิดจากที่เด็กได้ทานลูกอมเกินความจำเป็น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ ฟันผุได้ง่าย ก็คือ การขาดวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น
สิ่งที่ควรทำ : แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เสริมอาหารจำพวก ผักใบเขียว กะหล่ำ นมและเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ เป็นต้น
8. ไม่มีเรี่ยวแรงและสมองตื้อ
เด็ก ๆ ที่ขาดธาตุเหล็ก จะเหนื่อยง่าย อ่อนแอ และประสบภาวะสมองตื้อ ไม่สดใส การพัฒนาทางด้านสมองอาจไม่เท่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักให้ดี
สิ่งที่ควรทำ : แนะนำให้เสริมอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ถั่ว ธัญพืช ผัก และผลไม้อบแห้ง เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
9. อารมณ์ฉุนเฉียวเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
ไขมันที่จำเป็น โดยเฉพาะโอเมก้า 3 เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็ก ๆ ไขมันดีจะพบได้ในอาหารจำพวก เนยและน้ำมันมะพร้าว ที่ช่วยรักษาระดับไขมันในส่วนสมองให้ทำงานได้อย่างปกติ ฮอร์โมนเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยควบคุมความคงที่ทางอารมณ์ เพราะฉะนั้นหากสิ่งใดสิ่งหนึ่งบกพร่องไปก็จะทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนในเด็กที่ขาดสารอาหารได้
สิ่งที่ควรทำ : คุณพ่อคุณแม่ควรเพิ่มไขมันดีในมื้ออาหารแต่ละวัน และเพิ่มแครอทในแต่ละเมนูเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมแร่ธาตุและวิตามินได้อย่างดี
10. โรคอ้วน
หากเด็ก ๆ ไม่ได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ และสารอาหารไม่ครบถ้วน เด็ก ๆ ก็จะรู้สึกหิวง่าย และต้องการทานอาหารในปริมาณมากขึ้นจนกว่าจะพอใจ ทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่า โรคอ้วน เป็นสัญญาณหนึ่งของเด็กที่ขาดสารอาหาร
สิ่งที่ควรทำ : ในแต่ละมื้อ เด็ก ๆ ควรได้รับอาหารที่หลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์ นม เนย ชีส ผลไม้ ผัก และธัญพืชอย่างเพียงพอ
เสริมโภชนาการให้ลูก ด้วยสารอาหารในน้ำนมแม่
เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหารในเด็ก คุณแม่ควรให้ลูกกิน “นมแม่” อย่างเพียงพอ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนเป็นอย่างน้อย หรือนานกว่านั้นเท่าที่จะให้ได้ เพราะนมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก อุดมไปด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิดที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการสมอง อย่าง MFGM (Milk Fat Globule Membrane) ซึ่งเป็นเยื่อหุ้มอนุภาคที่พบได้ในนมแม่ ผลิตจากต่อมน้ำนม ทำหน้าที่ช่วยห่อหุ้มอนุภาคไขมันในนมให้คงรูปอยู่ได้ และอุดมไปด้วยไขมันและโปรตีนชีวภาพมากกว่า 150 ชนิด
ซึ่งภายใน MFGM จะประกอบไปด้วย สฟิงโกไมอิลีน ฟอสโฟไลปิด แกงกลิโอไซต์ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณประสาทเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้และจดจำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า หากเด็กได้รับ MFGM อย่างเพียงพอจะช่วยเสริมสร้าง IQ และ EQ ของเด็กให้เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ขวบปีแรก นอกจากจะเป็นสารอาหารสำคัญของพัฒนาการทางสมองแล้ว MFGM ยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทางเดินหายใจส่วนต้นอีกด้วย
เมื่อทราบ 10 สัญญาณเหล่านี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเรื่องโภชนาการและพฤติกรรมในแต่ละวันของลูกเป็นพิเศษ theAsianparent ขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเมนูอาหารเพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์และเพียงพอนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทารกอ้วก อาเจียนบ่อย แต่ไม่มีไข้ ลูกเป็นอะไรกันแน่?
เพราะอะไรการ “หย่านม” ถึงเป็นปัญหาหนักใจของทุกบ้าน?
ลูกแหวะบ่อย สำรอกบ่อย ทำอย่างไรดี วิธีไหนช่วยไม่ให้ลูกแหวะนม
ที่มา : vichaiyut, paolohospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!