จริงอยู่ที่การหย่านมแม่นั้น นอกจากจะทำร้ายจิตใจน้อย ๆ ของลูกแล้ว จิตใจของแม่ก็ด้วยเช่นกัน แต่ครั้นเมื่อถึงเวลา เราก็ควรที่จะเริ่มให้ลูก หย่านม แน่นอนค่ะว่า แรกเริ่มนั้น ลูกจะต้องรู้สึกหงุดหงิด และเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่มากกว่าปกติ ดังนั้น คุณแม่จึงควรที่จะวางแผนการหย่านมตามอายุ และพัฒนาการของเด็กไปควบคู่กัน
10 วิธีชาญฉลาด สำหรับคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกน้อย “หย่านม”
เมื่อถึงวันที่ทารกน้อยเติบใหญ่ขึ้นจนถึงวันที่หย่านมแม่ เด็กอ่อนบางคนก็แผลงฤทธิ์ไม่ยอมกินอาหารอื่นที่แม่สรรหามาทดแทนนมแม่ คุณแม่หลายท่านจึงพยายามหาตัวช่วยที่จะให้ลูกหย่านมด้วยวิธีต่าง ๆ กันไป เรามาดู 10 วิธีชาญฉลาดที่ช่วยให้ลูกหย่านมได้ง่ายขึ้นกันค่ะ
1. เลือกตัวช่วยที่เหมาะสม
ตัวเลือกที่เหมาะสมในที่นี้คือใช้อายุของลูกเป็นเกณฑ์ว่าจะใช้ตัวช่วยแบบไหนถึงจะเหมาะสม ถ้าลูกอายุ 6 – 8 เดือน คุณต้องใช้ขวดนมช่วยในการหย่านม แต่ถ้าลูกคุณอายุ 8 เดือนถึง 1 ขวบ คุณก็ให้ลูกหัดจิบนมจากแก้วสำหรับเด็กแทนที่จะใช้ขวดนม
2. จุกนมหลอก วิธีเอาลูกออกจากเต้า
จุกนมหลอกเหมาะที่จะใช้กับทารกที่ติดดูดนมแม่ และแผดร้องไม่หยุดถ้าไม่ได้ดูดนมแม่ จุกนมหลอกทำขึ้นมาให้ทารกรู้สึกว่ายังดูดนมแม่อยู่เพื่อให้ทารกน้อยไม่แผลงฤทธิ์ และงอแงเมื่อไม่ได้กินนมแม่
3. หลอกว่าเป็นนมแม่
เด็กน้อยบางคนที่จำรสชาตินมแม่ได้จะไม่ยอมกินนมที่ไม่ใช่นมแม่เลย คุณแม่ก็ต้องใช้วิธีปั๊มน้ำนมใส่ขวดนมหรือแก้วนมเด็กอ่อน ฝึกลูกให้คุ้นเคยกับวิธีกินนมแบบใหม่ตามที่คุณเลือกให้เหมาะกับอายุของลูกคุณ ใช้วิธีนี้สัก 3 วัน นอกจากจะช่วยเรื่องนมคัดและการเจ็บเต้านมได้ดีแล้ว การที่ร่างกายคุณผลิตน้ำนมน้อยลงในช่วงที่ลูกหย่านม ทำให้คุณไม่ต้องเป็นห่วงว่าร่างกายจะผลิตน้ำนมมากไป ทำให้คุณมีเวลาทำให้ลูกหย่านมได้ง่ายขึ้น หรือคุณอาจใช้วิธีผสมน้ำนมแม่กับนมผงเพื่อให้เขาคุ้นเคยกับรสชาติใหม่แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเป็นนมผงอย่างเดียว จะช่วยให้ลูกน้อยหย่านมแม่ได้ง่ายขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ควรให้ลูกหย่านมเมื่อไหร่ มีเคล็ดลับอย่างไรให้ลูกหย่านม

4. ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ
เรามักจะเบี่ยงเบนความสนใจหรือหลอกล่อทารกน้อยด้วยสิ่งของที่มีสีสันสดใส ถ้าคุณลองใช้แก้วนมเด็กสีสวย ๆ ทำให้เด็กจดจ่ออยู่ที่แก้วนมสีสวยหรือหลอดดูดสีละลานตา แทนที่จะนึกถึงการไม่ได้ดูดนมแม่ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยลืมความสนใจในการดื่มนม แล้วหันไปสนใจการดื่มนมด้วยแก้วนมแทน
5. ให้คุณพ่อรับไม้ต่อ วิธีให้ลูกเลิกเต้าเด็ดขาด
เมื่อถึงเวลาหย่านม คุณแม่บางคนเวลาที่ต้องการให้ลูกหย่านมก็หายตัวไปเลย แล้วให้คุณพ่อรับหน้าที่แทนในการให้นมลูก พอเวลาผ่านไปสักพัก ลูกน้อยก็เคยชินกับการที่คุณพ่อเป็นคนให้นม ในที่สุดก็หย่านมได้สำเร็จ โดยที่ไม่ต้องกลับไปกินนมแม่อีกแล้ว
6. ไม่ตามใจลูก
คุณแม่บางคนใจเด็ดใช้วิธีปฏิเสธ ไม่ตามใจลูกเวลาที่ลูกร้องขอกินนมแม่ วิธีนี้ก็ได้ผลเช่นกันแต่คุณแม่ต้องใจแข็งมาก ๆ เพราะลูกน้อยอาจร้องไห้ งอแง จนคุณแม่เกิดความสงสาร และให้ดูดนม อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่จะใช้วิธีนี้ ต้องใจแข็งมาก ๆ เลยนะคะ ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ลูกหย่านมไม่สำเร็จ
7. ใช้วิธีให้รางวัลปลอบใจ
วิธีนี้เหมาะกับเด็กน้อยที่พอเข้าใจการสื่อความหมายบ้างแล้วและไม่ควรใช้เป็นประจำ รางวัลสำหรับเด็กน้อยในวัยนี้ เวลาที่เขายอมดูดนมจากขวดหรือจิบนมจากแก้วนมก็มักเป็นพวกสติกเกอร์ หรือตัวการ์ตูนที่เขาชอบ เล่านิทานให้ฟัง หรืออะไรก็ได้ที่คุณรู้ว่าเขาชอบ เป็นการฝึกให้ลูกหย่านมแบบที่มีรางวัลเป็นตัวล่อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกหย่านม ทำอย่างไรให้ได้ผล? หากลูกติดเต้าไม่ยอมดูดขวด

8. ยกตัวอย่างให้เห็น
เวลาที่อยู่ในหมู่เด็กวัยใกล้ ๆ กัน และมีเด็กที่หย่านมได้แล้ว บอกให้ลูกรู้ว่าเด็กคนไหนหย่านมได้แล้ว และเด็กที่หย่านมได้คือ “เด็กที่โตแล้ว” จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องดูดนมอีกต่อไป ก็จะทำให้ลูกเริ่มโตขึ้น และหย่านมได้สำเร็จค่ะ
9. ความใกล้ชิดทางร่างกาย
ถ้าลูกน้อยของคุณเป็นเด็กติดแม่ ที่ต้องมีการกอดจูบพูดคุยตอนที่ให้นม เวลาที่คุณหัดให้เขากินนมจากขวดหรือแก้วนมก็ควรกอดจูบเขาให้เขารู้สึกว่าคุณอยู่ใกล้ชิดเขาตลอดเวลา วิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกใกล้ชิด และไว้ใจคุณแม่ จนในที่สุดเขาจะกินจากนวดนม หรือแก้วนมแทนเอง
10. ทำให้เด็กสนุกเวลากินนม
วิธีนี้จะคล้าย ๆ กับวิธีเบี่ยงเบนความสนใจในข้อ 4 คุณแม่สามารถให้เด็กเล่นของเล่นขณะที่กินนมจากขวดหรือแก้วนมอยู่ เช่นกินนมไปด้วยแกว่งชิงช้าไปด้วย เด็กก็จะเริ่มหย่านมได้ เพราะกำลังสนุกกับการเล่น จนลืมไปว่าไม่ได้ดูดนมแม่อยู่
รูปแบบ และวิธีการหย่านมลูก
1. การหย่านมอย่างมีระบบแบบแผน
โดยทั่วไปแล้ววิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ค่ะ วิธีการก็คือ ให้คุณแม่ค่อย ๆ ลดจำนวนมื้อของการให้นมลูกลงวันละ 1 มื้อ และเว้นระยะห่างระหว่างมื้อให้นานมากขึ้น ควรเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ นะคะ เพราะการค่อย ๆ ทำเป็นสเตปไปนั้น จะช่วยให้เต้านมของคุณแม่ไม่คัดตึงหรือปวดมากเกินไป และเป็นการช่วยให้ลูกน้อยค่อย ๆ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งในระหว่างนี้ คุณแม่จะต้องแสดงความรักและความใกล้ชิดกับลูกให้มากขึ้นเพื่อเป็นการชดเชยด้วยเช่นกัน สำหรับการหย่านมนั้น คุณแม่ควรเริ่มในมื้อกลางวันก่อนนะคะ และให้มื้อกลางคืนนั้นเป็นวิธีการหลังสุด
2. การหย่านมเพียงบางส่วน
เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลา ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับของวิธีนี้ก็คือ คุณแม่อาจจะตัดสินใจว่าจะหย่านมลูกหรือจะกลับมาให้นมใหม่ก็ได้ สำหรับในเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ถ้ามีการหย่านมบางส่วนอาจจะส่งผลทำให้น้ำหนักของลูกนั้นลดลง ดังนั้น คุณแม่จึงควรที่จะต้องดูแลให้นมหรืออาหารตามวัยอย่างเหมาะสมทดแทน
บทความที่เกี่ยวข้อง : หย่านมยังไง ไม่เสียน้ำตาทั้งแม่ทั้งลูก ควรใช้ ยาหยุดน้ำนม หรือไม่?

3. การหย่านมแบบทันที
สำหรับการหย่านมด้วยวิธีนี้นั้น เป็นการหย่านมด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่เจ็บป่วย เป็นต้น และแน่นอนค่ะว่า วิธีนี้อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
-
- เต้านมคัด จนนำไปสู่การเกิดเต้านมอักเสบหรือเป็นฝี ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาก็คือ ให้คุณแม่บีบน้ำนมออกบางส่วนเพียงเล็กน้อยค่ะ อย่าบีบเหมือนกับการทำเก็บไว้เป็นสต็อก และค่อย ๆ ลดปริมาณและจำนวนในการบีบออกลง
- คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้า
- เด็กรู้สึกเสียความรักและความอบอุ่น
- ลูกไม่ยอมดื่มนมอื่น เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ทั้งสามวิธีนี้ก็สามารถผ่อนผันได้ตามความเหมาะสมและตามสภาวะของคุณแม่แต่ละคนนะคะ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน คุณแม่คือคนที่รู้ดีที่สุด ซึ่งการชดเชยความรักให้กับลูกนั้น คุณแม่ก็สามารถทำได้โดยการมอบความรัก ความใส่ใจ กอดและสัมผัสลูกให้มาก ๆ ค่ะ
หากไม่มีความจำเป็นต้องเลิก คุณแม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่ไปเรื่อย ๆ จนถึง 2 ปีขึ้นไป และเมื่อลูกโตขึ้น มีของกินทดแทนอื่น ๆ มากขึ้น ลูกสามารถกินนมกล่องได้ การดูดนมแม่เริ่มน้อยลง น้ำนมแม่ก็จะค่อย ๆ ลดไปเอง ถือเป็นการหย่านมแบบธรรมชาติคือค่อยเป็นค่อยไป
ในกรณีมีความจำเป็นหรือคุณแม่มีเหตุผลที่ต้องหย่านมลูก การวางแผนหย่านมอย่างเป็นลำดับขั้นอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ โดยเริ่มลดนมแม่วันละ 1 มื้อ ทีละสัปดาห์ ( ถ้าหากต้องการหย่านมภายในเวลา 2 สัปดาห์ ก็ให้ร่นช่วงเวลาของการลดมื้อนมจากทุกสัปดาห์เป็นทุก 3 วัน ) ควรลดมื้อกลางวันก่อนมื้อกลางคืน และเว้นระยะระหว่างมื้อนมให้นานขึ้น โดยเริ่มลดมื้อ 14:00 น.ก่อน อีกสัปดาห์จึงลดมื้อ 10:00 น.–> มื้อ 18:00 น. –> มื้อ 6:00 น. –> มื้อ 22:00 น. ตามลำดับ
จะทำให้น้ำนมแม่ลดลงอย่างช้า ๆ เต้านมไม่คัดตึงหรือปวด และเป็นการช่วยให้แม่แน่ใจว่าจะหย่านมจริง เด็กจะได้ปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งแม่จะต้องแสดงความรักและความใกล้ชิดเพิ่มขึ้นในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียที่เด็กต้องหย่านมแม่
เทคนิควิธีหย่านมแม่ แบบไม่ทำร้ายจิตใจลูกอื่น ๆ
- ให้นมลูกเฉพาะมื้อที่ลูกขอ ไม่ให้เมื่อลูกไม่ได้ขอ และให้นมแม่ในระยะเวลาสั้น ๆ เป็นวิธีการที่ปลอดภัยและได้ผลดีในการหย่านม
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้ลูกอยากดูดนมแม่บ่อย เช่น การนั่งเก้าอี้ที่ชอบในขณะให้นมลูก หรือท่านอนกอดลูกที่ลูกมักชอบนอนดูดนมแม่ เป็นต้น
- ให้คุณพ่อมีส่วนช่วยในการหย่านม โดยเมื่อลูกขอกินนมแม่ อาจจะให้พ่ออุ้มพาไปกินอาหารอื่น หรือกินนมกล่องแทน
- เบี่ยงเบนความสนใจของลูกจากการดูดนมแม่ เช่น ถึงเวลาที่ลูกชอบร้องกินนมลองพาลูกออกไปเดินเล่นหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน ชักชวนให้สนใจสิ่งแวดล้อม การเล่นกับเพื่อน การกล่อมหรือเล่านิทานเวลาจะนอนจะช่วยลดการดูดนมกลางคืนได้ ให้ความรักความใกล้ชิดกับลูกในรูปแบบอื่นทดแทนการให้นม เช่น เล่นด้วยกัน กอด เป็นต้น
การหย่านมไม่ได้หมายความว่า “ลูกจะไม่ได้กินนมแม่ทั้งหมด” เพราะเด็กบางคนจะต่อต้านอย่างเต็มที่ต่อการหย่านมในเวลานอนหรือตอนกลางคืน คุณแม่ก็อาจผ่อนปรนในการให้นมลูกต่อไปจนกว่าเขาจะรู้สึกดีขึ้นจากการหย่านม ถ้าลูกร้องไห้เพื่อต้องการจะกินนมแม่ต่อไป แม้ว่าคุณแม่จะพยายามเบี่ยงเบนความสนใจ หรือใช้เทคนิคข้างต้นแล้วไม่เป็นผล แสดงว่าการหย่านมอาจยังเร็วเกินไปสำหรับลูก ซึ่งถ้าหากเป็นไปได้การให้ลูกได้กินนมแม่ไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกได้ดีที่สุดนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีป้องกัน หน้าอกหย่อนคล้อย นมยาน หลังลูกน้อยหย่านม
แม่แชร์ หย่านมลูกตอนกลางคืน เลิกนมมื้อดึก ทำอย่างไรให้ได้ผล?
ท้องแล้วยังให้นมลูกต่อได้ไหม ลูกคนโตยังไม่หย่านม น้องก็มารอในท้องแล้ว
ที่มา : 1
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!