ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ท้องส่วนใหญ่มักเกิดอาการเหน็บชาอยู่บ่อย ๆ หลายท่านมักจะเป็นเหน็บชาเวลานอน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อแม่และลูกในท้องไหม อีกทั้งยังได้ยินคนพูดว่า การที่คนท้องเป็นเหน็บชานั้น เป็นเพราะลูกในท้องดิ้นไปทับเส้นก็เลยเกิดการเป็นเหน็บชาขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้ แม่ท้องเป็นเหน็บชา ไม่ได้มาจากลูกดิ้นนะคะ แต่จะมาอะไรนั้น ตามไปอ่านต่อข้างล่างได้เลย
สาเหตุที่ทำให้ คนท้องเป็นเหน็บชา
การที่แม่ท้องชอบเป็นเหน็บชาอยู่บ่อย ๆ นั้น มีสาเหตุมาจากการกดทับ เหมือนกับการนั่งพับเพียบนาน ๆ โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวมากก็มักจะเกิดอาการได้เร็วกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวน้อย อีกทั้งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 กิโลกรัม ภายในเวลาเพียง 8 – 9 เดือน ของคุณแม่ท้อง ก็เปรียบเหมือนคนที่อ้วนขึ้นอย่างรวดเร็ว
และจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณกลางลำตัว จะเป็นการไปดึงรั้งกระดูกสะบัก และกระดูกสันหลังลงมา ทำให้แม่ท้องหลังแอ่นโดยไม่รู้ตัว และทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทที่บริเวณกระดูกสะบัก ทำให้เกิดอาการนิ้วชา มือชา เวลานั่งหรือยืนนาน ๆ
อีกทั้งการกดประสาทบริเวณหลังและสะโพก ทำให้หลังและขาเกิดอาการชาได้ โดยเฉพาะหากแม่ท้องนั่งพับเพียบ กว่าจะรู้ตัวก็อาจลุกลำบาก หรือเซล้มในขณะลุกยืนขึ้นเพราะอาการเหน็บชาได้ ซึ่งคุณแม่ท้องต้องคอยระวังเป็นพิเศษ
คนท้องเป็นเหน็บชา ทำอย่างไรดี
อาการเหน็บชาที่เกิดขึ้นตอนนอน มักจะเกิดในขณะที่หลับสนิทและไม่ได้ขยับตัว ตอนเข้านอนแม่ท้องจึงควรจัดท่านอนที่ไม่เป็นการไปทับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อไม่ให้น้ำหนักครรภ์ไปกดทับกระดูกสันหลัง นอกเหนือจากนั้น แม่ท้องควรใช้หมอนหนุนรองไว้ใต้ครรภ์อีกใบ เพื่อช่วยรับน้ำหนัก ไม่ให้ดึงรั้งกระดูกสันหลังลงมา หรือใช้หมอนข้างสอดไว้หว่างขา และกอดไว้เพื่อช่วยแบ่งเบาน้ำหนักตัวไม่ให้โถมลงมาบนครรภ์ ซึ่งเป็นการช่วยลดอาการเหน็บชาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องมือชา ชาปลายนิ้วมือ เป็นบ่อยอันตรายไหม มีวิธีแก้อย่างไร
อาการมือชา เหน็บชา เป็นอย่างไร
- อาการชา จะเป็นอาการที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไม่สามารถรับความรู้สึกได้ หรือทำให้การสัมผัสบางอย่างเสียไปชั่วขณะ เช่น การชาต่อความรู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกเวลาถูกสัมผัส ชาต่อความร้อน ชาต่อความเย็น เป็นต้น
- อาการเหน็บ คือ อาการเจ็บป่วยที่มีลักษณะเหมือน หรือคล้าย ๆ กับอาการที่อยู่ท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน เช่น การนั่งพับเพียบเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนท่า ก็จะทำให้เท้าที่ถูกพับ และถูกทับเกิดอาการเจ็บปวดและชาได้ค่ะ ทำให้อ่อนแรงจนเหยียดขาไม่ออก และลุกขึ้นไม่ได้ต้องรอสักพักแล้วมันจะหายเอง
อาการเหน็บชาเป็นแล้ว ต้องรีบไปหาหมอไหม
อาการเหน็บชานับเป็นอาการปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ในทันที แต่ก็ควรแจ้งกับหมอว่ามีอาการชาตามมือและเท้าเมื่อถึงเวลานัดค่ะ ซึ่งทางคุณหมอจะพิจารณาให้วิตามินเสริมแก่ร่างกายเองค่ะ โดยเฉพาะวิตามินบีที่จะช่วยบำรุงระบบประสาท แถมยังช่วยลดอาการชาตามมือตามเท้าได้ดีอีกด้วย แต่ถ้าแม่ท้องที่มีเหน็บชาแบบรุนแรงหรือกะทันหัน และมีอาการชาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
วิธีรับมือและบรรเทาอาการเหน็บชา ตามมือ ตามเท้า
- คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีความหลากหลาย โดยเฉพาะพวกอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง อย่างพวกเนื้อหมูไม่ติดมัน ปลา ตับ นม ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ถั่วต่าง ๆ ผัก หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด แตงโม น้ำส้ม เป็นต้น หรือเน้นตามหลัก 5 หมู่เลยยิ่งดีค่ะ
- เลือกทานข้าวซ้อมมือ หรือข้าวกล้องแทนการทานข้าวขาว เนื่องจากข้าวขาวนั้นถูกขัดสีมาจากโรงงานแล้วค่ะ
- ลดการรับประทานอาหารที่มีส่วนทำลาย หรือยับยั้งการดูดซึมวิตามินบี 1 เช่น คาเฟอีน ชา กาแฟ ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาร้า ปลาดิบ แหนมดิบ หอยลายดิบ เป็นต้น หากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรจะทำให้สุกก่อนทุกครั้ง
- ไม่นอนทับแขน หรืออยู่ท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เส้นประสาทถูกกดทับได้ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก จนก่อให้เกิดอาการชานั่นเองค่ะ
- ใช้ที่รองข้อมือ หรือสายรัดพยุงข้อมือ เพื่อไม่ให้ข้อมืองอมากเกินไป และให้หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้ข้อมือเป็นเวลานาน ๆ ค่ะ
- ให้คุณแม่แช่มือ แช่เท้าในน้ำอุ่น เพราะนอกจากจะช่วยให้ผ่อนคลายแล้ว ยังช่วยให้ระบบการหมุนเวียนเลือดดีขึ้นอีกด้วย
- คุณแม่ท้องสามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้นะคะ เช่น การเดิน การเล่นโยคะ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเส้นประสาทถูกกดทับ และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และความทนทานต่อกล้ามเนื้ออีกด้วย
โดยปกติแล้ว คนท้องมือชา เท้าชา ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่อันตรายเท่าไรนัก ถือเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วเพราะคุณแม่มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการปวดและชารุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ควรรีบไปแจ้งให้คุณหมอทราบทันทีนะคะ เพื่อที่คุณหมอจะได้รักษาได้ถูกวิธีและปลอดภัยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่ท้องเป็นตะคริวแทบทุกคืน สามีช่วยยังไงดี วิธี แก้ตะคริวที่น่อง
ปัญหาคาใจ สำหรับคนท้อง แม่กำลังตั้งครรภ์ นวดได้หรือไม่ เป็นอันตรายหรือไม่?
คนท้องปวดสะโพกร้าวลงขา เป็นสัญญาณอันตรายหรือไม่?
ที่มา : mamabeyond, amarinbabyandkids
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!