หนึ่งเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเลย คือ โภชนาการในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพราะมีผลต่อพัฒนาการและสุขภาพของลูกน้อย และสุขภาพร่างกายของแม่ท้องเองด้วย วันนี้ theAsianparent Thailand มีบทความดี ๆ เกี่ยวกับโภชนาการของคนท้องอ่อน ๆ มาฝาก มาดูกันว่า อาหารคนท้อง อาหาร คนท้อง 1 เดือน อาหารที่ห้ามสำหรับคนท้อง หรือ อาหารคนท้อง ในช่วงไตรมาสแรก แบบไหนควรกิน อาหารที่คนท้องควรกิน และแบบไหนควรหลีกเลี่ยงบ้าง
อาหารคนท้องอ่อน อาหารหญิงตั้งครรภ์ ช่วง 1 เดือนแรก
ในช่วงแรกนั้น คุณแม่ส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ จนกระทั่งประจำเดือนไม่มา จึงทำการตรวจการตั้งครรภ์ บางครั้งกว่าจะรู้ก็มีอายุครรภ์ได้ 2 – 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งนั่นก็อาจทำให้แม่ท้องเกิดความกังวลว่า จะเผลอกินอะไรที่เป็นของแสลงเข้าไป จนอาจเป็นอันตรายกับลูกได้ อย่างไรก็ตาม แม่ท้องไม่ควรกังวลมากไปจนเครียดนะครับ ซึ่งอาหารที่ควรกิน และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ในช่วง 1 เดือนแรก มีดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารคนท้องไตรมาส 2 สารอาหารแบบไหนบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
อาหารคนท้อง 1 เดือน ควรกินอะไรดี?
เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แม่ท้องอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หรือเจ็บเต้านม ซึ่งคุณแม่แต่ละคนก็อาจจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็อาจไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่ไม่ว่าคุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องหรือไม่ ก็ควรต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินเหมือน ๆ กัน ซึ่งอาหารที่แม่ท้องควรกิน มีดังนี้
1. อาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต
ตอนที่ไปฝากครรภ์ แม้ว่าคุณหมอจะให้กรดโฟลิกแบบเม็ดมาให้กินแล้ว แต่คุณแม่ท้องก็ควรกินอาหารที่มีโฟเลตเพิ่มไปด้วยนะครับ เพราะโฟเลตมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการสมองของตัวอ่อนในระยะแรก และอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลตก็หาได้ไม่ยากเลย เช่น ส้ม มันฝรั่ง บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง ไข่ ถั่ว และผักใบเขียวทั้งหลาย เป็นต้น
2. อาหารหญิงตั้งครรภ์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
นมเป็นแหล่งสารอาหารชั้นยอด ทั้งโปรตีน วิตามิน แคลเซียม น้ำ ไขมันดี กรดโฟลิก และวิตามินดี ผลิตภัณฑ์นม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็งก็มีคุณค่าเทียบเท่าการดื่มนม โดยคุณแม่ควรดื่มนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมทุกวัน ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะถ้าหากดื่มมากไป ก็อาจทำให้ลูกคลอดออกมาแพ้โปรตีนจากนมได้
3. เนื้อสัตว์
ในช่วง 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นี้ แม่ท้องสามารถกินเนื้อสัตว์ได้เกือบทุกชนิด เพียงแต่ต้องปรุงให้สุกเสียก่อน เพราะการกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก อาจเป็นเหตุให้ติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่เป็นอันตรายได้
4. อาหารที่มีธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็ก ช่วยในการรักษาระดับการไหลเวียนของเลือดให้คงที่ ทั้งของแม่ท้องและลูกน้อยในครรภ์ ทารกต้องการเลือดที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เพื่อช่วยในการจับกับออกซิเจนและสารอาหาร และส่งไปให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั่นเอง
และเนื่องจากในเดือนแรกคุณหมอจะยังไม่จ่ายวิตามินเสริมธาตุเหล็กให้คุณแม่ จนกว่าจะถึงเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ท้อง 1 เดือนจึงควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ บีทรูท ข้าวโอ๊ต ปลาทูน่า ถั่วต่าง ๆ ผลไม้อบแห้ง และเนื้อไก่ เป็นต้น
อาหารต้องห้าม! ที่คนท้อง 1 เดือนควรหลีกเลี่ยง
หากคุณแม่ทราบแล้วว่า กำลังตั้งครรภ์ อาหารต่อไปนี้คือ สิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยงในช่วงตั้งครรภ์ 1 เดือน
1. ชีส
แม่ท้องอ่อน ควรหลีกเลี่ยงชีสเนื้อนุ่ม เนื่องจากชีสพวกนี้มักทำจากนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และสามารถเป็นพาหะของโรคอาหารเป็นพิษ และเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแก๊สอีกด้วย
2. อาหารแปรรูป
ในช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ได้ปรุงสดใหม่และอาหารแปรรูป อาทิ น้ำผลไม้กล่อง นมข้น และอื่น ๆ ที่อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดโรค คุณแม่ท้องอาจเลือกรับประทาน น้ำผลไม้คั้นสด และสลัดผลไม้สดแทน โดยควรรับประทานภายใน 20 นาทีหลังจากทำเสร็จ
อาหารที่คนท้องช่วงเดือนที่ 2 ควรกิน
ในช่วงเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้องและไม่อยากอาหาร แต่อย่างไรก็ดี คุณแม่ยังคงต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ เพราะจะส่งผลต่อการพัฒนาประสาท สมอง และไขสันหลังของลูกน้อย
นอกจากนี้ระบบการไหลเวียนโลหิตและหัวใจ ก็มีการพัฒนาในช่วงนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อาหารแม่ท้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และนี่คือข้อมูลที่คุณแม่ควรทราบเกี่ยวกับอาหารแม่ท้อง 2 เดือน ได้แก่
1. กรดโฟลิก
กรดโฟลิก หรือโฟเลต มีส่วนช่วยให้การพัฒนาของท่อระบบประสาทดำเนินไปอย่างปกติ หากแม่ท้องขาดโฟลิก ก็อาจทำให้ลูกน้อยมีความเสี่ยงต่อความพิการ จากความผิดปกติของท่อประสาท หรืออาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
อาหารบางชนิด เช่น ผักโขม ธัญพืช ถั่ว ส้ม มันฝรั่ง บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง ไข่ และผักใบเขียว มีกรดโฟลิกสูง แม่ท้องควรรับประทานกรดโฟลิกให้ได้ประมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวันในช่วงเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์นะครับ
2. อาหารที่มีแคลเซียม
กระดูกของลูกน้อยจะเริ่มสร้างในช่วงเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ แม่ท้องจึงควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1000 มิลลิกรัมทุกวัน โดยคุณแม่สามารถกินอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเช่น นม ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ และผักใบเขียว เป็นต้น หากแม่ท้องขาดแคลเซียม ร่างกายของคุณแม่ ก็จะดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกและฟันไปใช้ ทำให้กระดูกและฟันของแม่ท้องอ่อนแอและเปราะง่าย
3. โปรตีน
แม่ท้องควรบริโภคโปรตีนให้ได้ 75 – 100 กรัมต่อวัน โดยโปรตีน จะช่วยทำให้พัฒนาการของกล้ามเนื้อทารกในครรภ์เป็นไปอย่างปกติ ซึ่งโปรตีนนั้น สามารถหาได้จาก เนื้อสัตว์ นม ไข่ และปลา แต่ต้องแน่ใจว่าปลานั้นมีสารปรอทต่ำ
อาหารที่คนท้อง 2 เดือน ควรหลีกเลี่ยง
1. ไข่ดิบ
ไข่ดิบ หรือไข่ที่ไม่สุกดี เป็นสิ่งที่แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงในช่วงเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ เพราะมันอาจทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา ที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งลูกน้อยและตัวคุณแม่ได้
2. นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์
คุณแม่ท้องไม่ควรกินนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ เพราะนมประเภทนี้จะมีเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งยังอาจมีเชื้อ ซัลโมเนลลา รวมถึง เชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอื่น ๆ
3. ปลาดิบ
ในช่วงนี้ไม่แนะนำให้แม่ท้องกินปลาดิบนะครับ เพราะอาหารดิบอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นอันตราย รวมถึงอาหารทะเลปอกเปลือกที่ไม่ปรุงสุกก่อน เช่น หอย ปู กุ้งก้ามกราม และกุ้ง อย่างไรก็ตาม การรับประทานปลาสุกก็ควรเลือกปลาที่มีระดับสารปรอทต่ำ พยายามกินปลาขนาดเล็กมากกว่าปลาขนาดใหญ่ เพราะปลาขนาดใหญ่จะมีสารปรอทปนเปื้อนมากกว่า
อาหารที่คนท้อง 3 เดือนควรกิน
1. อาหารที่มีวิตามินบี 6
เนื่องจากแม่ท้องอาจมีอาการคลื่นไส้มากในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย อาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 6 ได้แก่ ส้ม ไข่ ผักใบเขียว มันฝรั่ง จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ และทำให้อารมณ์ของคุณแม่ดีขึ้นครับ
2. ผลไม้สด
ผลไม้สดมีประโยชน์ต่อคุณแม่ท้องตลอดการตั้งครรภ์ ผลไม้เป็นแหล่งวิตามินหลายชนิด ทั้งยังประกอบไปด้วย น้ำ ไฟเบอร์ น้ำตาลธรรมชาติ และสารต้านอนุมูลอิสระ คุณแม่สามารถทานผลไม้เพื่อเพิ่มน้ำหนักได้ เช่น กล้วย และฝรั่ง เป็นต้น
อาหารที่คนท้อง 3 เดือน ควรหลีกเลี่ยง
1. อาหารกระป๋อง
อาหารกระป๋อง มักจะมีน้ำตาล และเกลือในปริมาณมาก รวมถึงสารปรุงแต่งกลิ่น และสารกันบูด แทนที่จะบริโภคสารสังเคราะห์เหล่านี้ คุณแม่ควรหันมากินอาหารสดจากธรรมชาติ จะมีประโยชน์ต่อทั้งตัวคุณแม่และเจ้าตัวน้อยมากกว่านะครับ
2. อาหารทะเลบางชนิด
เนื่องจากอาหารทะเลบางชนิด มักจะมีการปนเปื้อนของสารปรอท ซึ่งจะไปขัดขวางพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ จึงแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงอาหารทะเลไปก่อน จนกว่าจะคลอด หรือเลือกรับประทานอาหารทะเลที่มีสารปรอทต่ำ เช่น กุ้งทะเล ปลาแซลมอน ปลาดุกทะเล ปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล ปลาซาร์ดีน และปลากะตัก จะดีที่สุดครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง 10 อาหารคนท้องห้ามกิน อาหารคนท้องไม่ควรกิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสุขภาพเฉพาะบุคคล ว่าอย่างไรบ้าง
เป็นอย่างไรบ้างคะ เห็นถึงความสำคัญของการเลือกกินอาหารสำหรับแม่ท้องแล้วใช่ไหม ดังนั้น แม่ท้องควรทำการศึกษาเรื่องโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์ให้ดี เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะทุกสิ่งที่คุณแม่รับประทานเข้าไปต่างส่งผลต่อร่างกายของคุณแม่ และลูกน้อยเองทั้งสิ้น มาเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองกันดีกว่าค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 อาหารคนท้องอ่อนห้ามกิน ท้องอ่อนห้ามกินอะไร กินอะไรแล้วไม่ดีต่อลูกในท้อง
เมนูอาหารเพิ่มภูมิคุ้มกันหลังคลอด 6 สูตร ประโยชน์ครบสำหรับคุณแม่ในช่วงอยู่ไฟ
รวมสูตรเมนูอาหารเช้าจากข้าวโอ๊ต 7 สูตรข้าวโอ๊ตข้ามคืนที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ
ที่มา : momjunction
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!