ลูกเป็นโรคคาวาซากิ
พ่อโพสต์อาการ ลูกเป็นโรคคาวาซากิ อัพเดตอาการรายวัน ภัยร้ายถึงชีวิตที่เกิดขึ้นในเด็ก เขียนบันทึกไว้ “ครั่งหนึ่งกับคาวาซากิบอย”
คุณพ่อท่านหนึ่งได้โพสต์ถึงลูกป่วยคาวาซากิ ว่า
สัปดาห์ระทึกกับ “โรคคาวาซากิ” ภัยร้ายถึงชีวิตที่เกิดขึ้นในเด็ก รายละเอียดและอาการของโรคนี้ลองเสิร์ชอ่านเอาในกูเกิลนะมีคนเขียนไว้มากมาย
คืนวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2018 เวลาประมาณ ตี 2 ลูกตื่นขึ้นมาพร้อมกับร้องไห้งอแงบอกว่า หายใจไม่ออก พอลุกขึ้นมาจับตัวดูปรากฏว่าตัวร้อนมาก พอลองวัดไข้วัดได้ 39.8 ก็รีบหายาลดไข้มาให้กิน พอกินเสร็จก็เช็ดตัว แต่ไข้ไม่ลงเลยแม้แต่น้อย จึงให้ลูกกินยาลดไข้สูง ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พอกินเสร็จ ไข้ก็เริ่มลงจนเช้าพอยาใกล้หมดฤทธิ์ ไข้ก็เริ่มขึ้นอีก แต่ลูกไม่มีอาการซึมอะไรเล่นปกติ เลยให้กินยาลดไข้กับยาลดไข้สูงอีกรอบ
วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ ให้ลูกกินยาลดไข้ทุก 4 ชม. และไข้สูงคู่กันด้วย ตอนกลางวันเล่นปกติ ไม่ซึมไอหรือมีน้ำมูกใด ๆ ทั้งสิ้น พอตกกลางคืนไข้ขึ้นสูงอีกวัดได้ 40.0 เช็ดตัวกันทั้งคืน เริ่มรู้สึกไม่ปกติ แล้วก็ไม่กล้าให้กินลดไข้สูงต่อ เพราะกลัวจะเป็นไข้เลือดออก คนที่เป็นไข้เลือดออกเมื่อกินยาลดไข้สูงตัวนี้จะทำให้เลือดออกเยอะกว่าเดิม จึงหยุดยาให้กินแต่ลดไข้ธรรมดาแล้วเช็ดตัวเอากันทั้งคืน ไข้ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ จนถึงเช้า
พอเช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จึงตัดสินใจไปหาหมอแต่เช้าที่โรงพยาบาล พอพบคุณหมอจึงขอคุณหมอแอดมิท เพราะลูกมีไข้สูงมากลอยตลอดไม่ลงเลย วันนี้ลูกยังไม่ซึมยังเล่นได้แต่เริ่มมีอาการงอแงหนักขึ้นเริ่มไม่อยากกินนม ไม่อยากอาหาร ไข้ยังคงขึ้นสูงอยู่ตลอดทั้งคืน
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ เช้าขึ้นมาลูกซึม ไม่เล่น ไม่ยอมกินข้าว พอหัวค่ำเริ่มมีอาการรอบตาบวมแดงขึ้นนิด ๆ ตอนแรกก็คิดว่าร้องไห้เยอะจนตาบวม พอผลเลือดออก ไม่เจอเชื้อไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก หมอยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเชื้ออะไร จึงได้ยาลดไข้สูงมากินต่อ ตกกลางคืนไข้ลงแต่พอหมดฤทธิ์ยาไข้ก็ขึ้นสูงอีกเป็นอย่างนี้ทั้งคืน
พอเช้ามาลูกตาบวมแดงมากขึ้นกว่าเดิม แต่คราวนี้เริ่มมีผื่นขึ้นตามตัว ลูกเริ่มมีอาการซึมลงไข้ยังคงขึ้นสูงตลอดจนตกเย็น คุณหมอแจ้งว่าลูกมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ แต่ผลเลือดยังบอกไม่ได้เพราะมาหาหมอเร็วต้องรออีกซัก 2-3 วัน ให้อาการเด่นชัดกว่านี้ก่อนถึงบอกได้ แต่อาจจะเป็นแค่เชื้อไวรัสก็สามารถทำให้มีอาการเช่นนี้ได้เหมือนกัน จึงยังไม่สามารถฟันธงได้ พอได้ยิน คาวาซากิ เราก็งงไม่เคยได้ยินเลยลองเสิร์ชหาข้อมูลดูมันอันตรายมากและเกี่ยวข้องกับหัวใจ ซึ่งลูกเป็นโรคหัวใจรั่ว VSD อยู่ด้วย คืนนั้นนอนไม่หลับกระวนกระวาย แต่อีกใจก็คิดว่า อาจจะไม่เป็นก็ได้ คืนนั้นลูกซึมหนัก ไม่กิน ไม่เล่น ร้องตลอด ไข้ก็ขึ้นตลอดทั้งคืน
เช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ลูกตาบวมแดงหนัก ผื่นที่ขึ้นตามตัว เริ่มเยอะและขยายใหญ่ขึ้น เราจึงตัดสินใจขอย้ายไปอีกโรงพยาบาล เพราะลูกมีคุณหมอประจำตัวโรคหัวใจออกตรวจอยู่ที่นั่น ทางโรงพยาบาลเดิม จึงประสานกับอีกโรงพยาบาลให้ วันนั้นลูกต้องนั่งรถพยาบาลไปอย่างด่วน เพราะไข้ยังคงขึ้นสูงมาก พอไปถึงก็พบคุณหมออีกท่านเราก็แจ้งว่าเฝ้าระวัง คาวาซากิ คุณหมอดูแล้วก็บอกว่าเหมือน แต่ยังบอกไม่ได้ขอเจาะเลือดใหม่ แล้วให้คุณหมอหัวใจอีกท่านมาทำการแอคโค่หัวใจในตอนนั้นเลย พอทำการแอคโค่หัวใจและตรวจเลือดซ้ำอีกรอบ ผลที่ได้คือ ลูกเริ่มมีน้ำรอบหัวใจและค่าเม็ดเลือดขาวเริ่มขึ้นสูงแต่ไม่มากนัก จึงสรุปได้ว่า ลูกน่าจะเป็นโรคคาวาซากิแน่นอน คุณหมอจึงตัดสินใจให้ยา IVIG ในวันพรุ่งนี้ ในวันนี้ลูกก็ยังไข้สูงอยู่ตลอด อาการเริ่มทรุดไม่กินไม่เล่นร้องแล้วก็นอนแล้วก็ตื่นมาร้องอยู่แบบนี้อย่างเดียว
เช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ คลังยาโทรมาแจ้งเรื่องค่ายา IVIG ราคา 138,000 บาท เราก็ตกลง ตอนนี้ตาลูกบวมแดงมาก ผื่นเริ่มขึ้นตามมือและเท้า ตามตัวและหลังเต็มไปหมด ใช้เวลาเตรียมยาสักพักจนได้ให้ยาตอนประมาณบ่าย 3 พอเริ่มให้ยาไปสักพัก ลูกก็มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คุณหมอแจ้งว่าต้องติดตามอาการ 48 ชม. หลังจากให้ยาเสร็จ ยาตัวนี้ใช้เวลาให้ 12 ชม.
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ให้ยาครบ 24 ชม.แรก ลูกมีอาการดีขึ้น ผื่นเริ่มจาง ตาเริ่มยุบ ตอบสนองได้ดี เริ่มเล่นได้แต่ยังมีอาการงอแงไข้ยังมีอยู่ต่ำ ๆ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ให้ยาครบ 48 ชม. ผื่นและตาหายบวมแดง เริ่มกลับมาเล่นซนได้ แต่ยังไม่ค่อยมีแรง เพราะยังไม่ยอมกินข้าวกินนม คุณหมอมาพบบอกขอดูอาการอีก 1 วัน ถ้าไข้สงบจะให้กลับบ้านได้
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ วันนี้นั่งเฝ้าดูว่าไข้จะกลับมามั๊ย สรุปว่าไข้ไม่กลับมาทั้งวัน
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ คุณหมอมาพบแล้วให้กลับบ้านได้ โดยยังคงต้องติดตามอาการและยังต้องนัดมาทำการแอคโค่หัวใจอีก และต้องกินแอสไพรินวันละ 4 รอบ รอบละ 4 เม็ด เพื่อป้องกันเลือดหนืดและแข็งตัวไป
เขียนบันทึกไว้ “ครั่งหนึ่งกับคาวาซากิบอย”
พบผู้ป่วยคาวาซากิ 300 รายต่อปี
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ บอกว่า โรคคาวาซากิของเราพบประมาณ 70-100 รายต่อปี พบผู้ป่วยทั่วประเทศประมาณ 300 รายต่อปี
โรคคาวาซากิคืออะไร
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า คาวาซากิเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย
กลุ่มเสี่ยงคือ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบบ่อยในช่วงอายุ 1-2 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง จึงพบว่า เด็กชายที่อายุน้อย จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าเด็กโตหรือผู้หญิง
สาเหตุของโรคคาวาซากิ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิด เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองรุนแรงผิดปกติ
คาวาซากิ อาการ
- ผู้ป่วยมักมีไข้สูงหลายวัน นานเกิน 5 วัน
- มีอาการทางเยื่อบุตา ตาแดง
- ปากแดง ริมฝีปากบวมแห้งแตก ลิ้นคล้ายกับผิวสตรอว์เบอร์รี่
- เกิดผื่นแดงคล้ายลมพิษ เป็นปื้น ๆ ตามเนื้อตัว
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โดยเฉพาะเส้นผ่าศูนย์กลางโตมากกว่า 1.5 ซม. ไม่เจ็บ และมักจะเป็นข้างเดียว
- อาจพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง เป็นภาวะแทรกซ้อน
โรคคาวาซากิ อันตรายไหม
สิ่งที่อันตรายคือ ภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจรุนแรงได้ตั้งแต่วันแรก ๆ ของโรค เช่น มีอาการช็อค เสียชีวิตได้ แต่พบน้อย
ภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ต้องตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเครื่องตรวจ Echocardiogram ว่ามีหลอดเลือดหัวใจผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าผิดปกติ จะมีโอกาสเกิดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ เสียชีวิตเฉียบพลันได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง เป็นภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายตั้งแต่อายุน้อยได้ ถ้าพบแพทย์เร็ว ให้การรักษาด้วยยาในระยะแรกๆ ของโรคจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ และหลอดเลือดเหล่านี้ได้
โรคคาวาซากิเป็นโรคติดต่อหรือไม่
แม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็ไม่อาจมีวิธีป้องกันโรคได้
วิธีรักษาโรคคาวาซากิ
ต้องใช้ยา ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันชนิดเข้มข้น ถ้าไม่ใช้ยาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนเกินร้อยละ 30 แต่เมื่อให้ยาแล้วจะเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 ทั้งยังทำให้อาการไข้หายอย่างรวดเร็วด้วย
อย่างไรก็ตาม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มรายการยาแพง ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือ กลุ่มยาโรคคาวาซากิเข้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเรียบร้อยแล้ว
เนื่องจากยาชนิดนี้ มีต้นทุนที่สูงเนื่องจากต้องใช้กระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก ซับซ้อน จึงจะปลอดภัยในการนำมาใช้ แต่สิทธิในหลักประกันสุขภาพครอบคลุมการใช้ยานี้ได้
หากลูกมีอาการไข้ขึ้นหลายวัน พ่อแม่ต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หากพบว่า ผิดปกติ ให้รีบพาไปหาหมอ เพราะโรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจในเด็ก ถ้าดูแลรักษาช้าเกินไป อาจมีผลต่อหัวใจลูกในระยะยาว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่แชร์ลูกชายป่วยเป็นโรคคาวาซากิ โชคดีที่รักษาเร็ว ไม่งั้นลูกคงไม่รอด
ไม่อยากให้ลูกต้องป่วยบ่อย ต้องสอนลูกให้ทำแบบนี้
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการ เป็นยังไง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากอะไร
ที่มา : thairath
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!