โรคหัวใจพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิด คือ ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจหรือหลอดเลือดใกล้ ๆ บริเวณหัวใจ ปกติหัวใจของทารกในครรภ์จะเริ่มสร้างเมื่อทารกมีอายุครรภ์ได้ 5 สัปดาห์ และจะเสร็จสมบูรณ์เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ แต่ถ้าเกิดว่าคุณแม่ท้องไม่เลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้ทารกป่วยก็อาจจะเกิดอันตรายได้ วันนี้จึงมีคุณแม่มาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับ ลูกผนังกั้นหัวใจรั่ว โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายที่อยู่ใกล้ตัวมาก ๆ จะเป็นยังไงอ่านต่อด้านล่างได้เลยค่ะ
ลูกผนังกั้นหัวใจรั่ว ต้องยุติการตั้งครรภ์
เหตุเนื่องจากความอยากรู้ว่าลูกจะปากแหว่งไหม ? ลูกจะสมบูรณ์ไหม ? ทั้ง ๆ ที่ก็ไปอัลตราซาวนด์กับหมอมาแล้ว 1 รอบ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2560 คำตอบคือ ได้ลูกสาว สมบูรณ์แขนขาครบถ้วน น้ำหนักตามเกณฑ์ สบายใจไป
แต่ก่อนจะไปได้แวะถามหมอขออัลตราซาวนด์ ตอนนั้นหมอบอกว่าอายุครรภ์ยังน้อยไว้วันที่ 2 มกราคมมาอีกที พอถึงวันนัดตัดสินใจไปอีกรอบด้วยความกังวลใจ ผลที่ได้คือ ลูกสาว แขนขาครบตาจมูกปากสมบูรณ์ แต่พอหมอดูตรงหัวใจเท่านั้นแหละ #โป๊ะแตก ใจแม่จะสลาย ทั้ง ๆ ที่ผลเลือดปกติทุกอย่าง แต่น้องมีหัวใจผิดปกติ
หมอจึงนัดให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกรอบ เพื่อให้หมออีกท่านดูและช่วยยืนยันผล ผลคือ น้องหัวใจผิดปกติผนังกั้นหัวใจรั่วและรั่วเยอะ หมอจึงเจาะน้ำคร่ำไปตรวจดูโครโมโซม ถ้าผลออกมาบวกคือต้องทำเรื่องส่งตัวไปโรงพยาบาลอื่น แต่ถ้าผลออกมาลบคือ “ต้องยุติการตั้งครรภ์ทันที”
-
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดไม่ได้เกี่ยวกับพันธุกรรม และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ปกติไม่เกี่ยวกับพันธุกรรม 100% หมอจึงทำเรื่องส่งตัวให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อให้หมอหัวใจเด็กดูว่า ถ้าน้องคลอดแล้วสามารถผ่าตัดหรือรักษาไหวไหม แต่โชคชะตาเล่นตลก ผลยืนยันตรงกันให้ ยุติการตั้งครรภ์ทันที
เพราะหมอที่โรงพยาบาล พบน้องมีกระเพาะและม้ามที่ผิดฝั่ง อีกทั้งเส้นเลือดของหัวใจ มีความผิดปกติอย่างมาก ถ้าคลอดออกมาน้องอาจจะอยู่ได้ไม่นานหรืออาจจะเสียได้เลย ตอนนั้นอายุครรภ์ได้ 23 สัปดาห์ 3 วัน จึงขอให้หมอทำเรื่องส่งตัวกลับมาที่โรงพยาบาลเดิม ตอนนั้นเสียใจมากแทบไม่อยากเชื่อว่า จะเกิดขึ้นกับลูกเรา เพราะคนแรกปกติดีทุกอย่าง
และก่อนถึงวันที่หมอนัดให้เข้าไป พยายามไม่เครียดและทำทุกอย่างให้ปกติ เพราะเค้ายังอยู่กับเรา พอถึงวันจริง ๆ แอดมิตตามระเบียบ
- เหน็บยารอบแรกมีอาการปวดท้องแต่ไม่มาก ท้องแข็งเป็นระยะ น้องดิ้นน้อยลง มีไข้ตามมา แต่ไม่สูง
- เหน็บยารอบสอง ปวดมากขึ้น มีไข้สูงหนาวสั่น แต่ก็ยังทนไหว เพราะท้องแรกก็คลอดเอง จึงรู้ระดับความปวด
- เหน็บยารอบสาม ปวดมากขึ้น ไข้สูงทะลุ 40 จนถึงเช้า ยาพาราเซตามอล ช่วยลดไข้พอได้ อาบน้ำเริ่มมีมูกเลือดออกมา
ในใจคิดแล้วว่าคงใกล้ถึงเวลาของหนูแล้วสินะ ตอนนั้นรู้สึกได้ว่า น้องไม่ดิ้นแล้ว อาจเป็นเพราะยา ท้องแข็งมากขึ้น ความปวดก็ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ฝืนกินข้าวเช้าและคิดในใจว่า คงเป็นมื้อสุดท้ายของหนูสินะ แม่จะฝืนกินให้ได้มากที่สุด บอกรักเค้าตลอด หลังกินข้าวเสร็จความปวดก็ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ แทบจะทุก ๆ 1 นาทีจนสุดท้ายทนไม่ไหว เรียกพยาบาลบอกไม่ไหวแล้ว พยาบาลพาเข้าห้องจะตรวจดูปากมดลูกว่าเปิดกี่เซนติเมตร ด้วยความปวดและฤทธิ์ยา จึงทนสุด ๆ แต่ไม่ไหว
นาทีนั้นน้ำคร่ำแตกกระจายทั่วห้อง หลังจากนั้น เท้าน้องก็โผล่ออกมาและก็ค่อย ๆ เบ่งน้องออกมา หมอและพยาบาลช่วยกันจับน้องและตัดสายสะดือ จับน้องขึ้นมาให้ดู จึงขอหมอดูหน้าน้องชัด ๆ น้องร่างกายภายนอกปกติดีทุกอย่างปากนิดจมูกหน่อย น้ำหนักตัวชั่งได้ 586 กรัม
-
น้องดิ้นนิดนึงแล้วน้องก็ไป น้องอายุครรภ์ได้ 24 สัปดาห์
ตอนนี้น้องจากไปได้ 10 วันแล้วค่ะ แม่ก็รักษาตัว เพราะเหมือนคลอดปกติทุกอย่าง ยังคิดถึงน้องและร้องไห้บ่อย ๆ แต่ก็พยายามทำใจ ไม่อยากให้เป็นบ่วงที่จะทำให้น้องไปไหนไม่ได้เพราะแม่ยังโหยหาเค้าอยู่ ได้แต่ภาวนาว่า สักวันเราพร้อมอีกครั้ง และน้องแข็งแรงดี เชื่อว่าน้องจะกลับมาอีกครั้งค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่แชร์เรื่องราวสุดสะเทือนใจ ลูกน้อยป่วยหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คืออะไร
ศ.นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบายถึงโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดว่า โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
เกิดจากพฤติกรรมของแม่ตอนตั้งท้องและความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น
- สูบบุหรี่
- ดื่มสุรา
- แม่ได้รับยาสารเสพติดหรือสารเคมีขณะตั้งครรภ์
- แม่ที่อายุเกิน 35 ปีในระหว่างตั้งครรภ์
- การติดเชื้อไวรัสในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน
เกิดจากตัวเด็กเองที่มีโครโมโซมผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม และเกิดจากการผิดปกติของการแบ่งตัวของช่องหัวใจเด็กเอง
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แบ่งได้เป็น 2 ชนิด
- ชนิดเขียว จะมีออกซิเจนในเลือดค่อนข้างต่ำ เกิดจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด หรืออาจจะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้เลือดดำปนกับเลือดแดงแล้วไปเลี้ยงร่างกาย จึงส่งผลให้เด็กเกิดภาวะขาดออกซิเจน ผิวหนังจึงมีสีเขียว ๆ ม่วง ๆ จะมีความผิดปกติได้หลายแบบและอาการรุนแรงมาก จึงทำให้การเจริญเติบโตของเด็กกลุ่มนี้จะน้อยกว่าปกติมาก
- ชนิดไม่เขียว เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างระบบหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งความผิดปกติที่พบอาจเกิดที่ผนังกั้นหัวใจที่มีรูลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท จึงมีอาการรั่วเกิดขึ้น
สำหรับการตั้งครรภ์ ควรวางแผนก่อนมีลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องตรวจร่างกายให้ละเอียด เพื่อเตรียมตัวรับวัคซีนป้องกันโรค รักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจของแม่ ถ้าลูกคนแรกมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ก็ควรปรึกษาแพทย์หากต้องการที่จะมีลูกคนที่ 2 ว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ลูกคนที่ 2 เป็นโรคหัวใจซ้ำเดิม จะต้องทำการตรวจตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ อัลตราซาวนด์ และเจาะน้ำคร่ำค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะแทรกซ้อนในครรภ์แฝด มีอะไรบ้าง จะดูแลครรภ์อย่างไรให้ปลอดภัย ?
คนท้อง ครรภ์เป็นพิษ ผ่าคลอดด่วน! หมอบอกต้องเลี่ยงอาหารรสเค็ม รสจัด
แม่คลอดธรรมชาติ ใช้เล็บจิกถุงน้ำคร่ำให้แตก แถมคุณพ่อต้องมาช่วยทำคลอด
ที่มา : bumrungrad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!