แม่แชร์ลูกชายป่วยเป็น โรคคาวาซากิ โชคดีที่รักษาเร็ว
3 วันหลังจากเซเล็บ เด็กชายวัย 6 ขวบ เริ่มมีไข้ ตามมาด้วยอาการผื่นขึ้น เริ่มเจ็บที่ปาก และทานอาหารได้น้อย แอนนี่ คุณแม่ของเซเล็บก็เริ่มสงสัยว่าลูกชายของเธออาจจะป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่าง และหลังจากที่คุณพ่อของเซเล็บ สังเกตเห็นว่ามีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นที่ลิ้นของลูก พวกเขาก็เริ่มกังวลมากขึ้น จึงได้ส่งรูปตุ่มที่ลิ้นของลูก ไปให้คุณหมอดู ซึ่งหลังจากที่คุณหมอเห็นรูปแล้ว ก็ได้ส่งข้อความตอบกลับมาว่าลูกชายของพวกเค้า อาจจะป่วยเป็น โรคคาวาซากิ
“พวกเราโชคดีที่สังเกตเห็นอาการผิดปกติ และปรึกษาคุณหมอก่อนที่อาการของโรคคาวาซากิจะรุนแรงมากขึ้นจนหัวใจขาดเลือด และอาจเสียชีวิตได้” แอนนี่ คุณแม่ชาวฟิลิปปินส์ กล่าวกับทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์
นอกจากนี้ เธอยังโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับอาการป่วยของลูกชายลงในเฟสบุ๊ค เพื่อเป็นอุธาหรณ์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ เพราะถึงแม้ว่าโรคคาวาซากินี้ จะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเป็นแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคคาวาซากิ คืออะไร
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน อธิบายเกี่ยวกับโรคคาวาซากิเอาไว้ว่า โรคคาวาซากิเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลาง โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงหัวใจ ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างที่แข็งแรงของหลอดเลือดแดง ผนังของหลอดเลือดโป่งพอง จนเกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดจากก้อนลิ่มเลือดที่แข็งตัว ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้หลอดเลือดแดงนั้นอุดตันในที่สุด ซึ่งโรคนี้พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง และอายุเฉลี่ยน้อยกว่า 4 ปี โดยพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 1-2 ปี
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคคาวาซากิ
อาการของโรคคาวาซากิ ที่ต้องคอยสังเกตมีดังนี้
- มีอาการไข้สูง นาน 1-2 สัปดาห์
- มีผื่นขึ้นตามตัวและแขนขาหลังจากมีไข้ 2-3 วัน ลักษณะผื่นมีได้หลายแบบ มักจะไม่มีอาการคัน
- ตาแดง โดยที่ตาขาวจะแดงโดยไม่มีขี้ตา เกิดหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน
- ริมฝีปากแดง แห้ง ลิ้นจะแดงคล้ายลูกสตรอเบอร์รี่
- ฝ่ามือและฝ่าเท้าบวมแดง ไม่เจ็บ ต่อมาจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายของเล็บมือและเท้า หลังมีไข้มากกว่า 1 สัปดาห์
- มีต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอโตข้างเดียวหรือสองข้างของลำคอก็ได้ โดยมีขนาดเกินกว่า 1.5 เซนติเมตร
นอกจากนี้ก็อาจมีอาการแสดงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดข้อ ท้องเสีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตรวจปัสสาวะพบเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติแต่ไม่ติดเชื้อได้
โรคคาวาซากินี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้ คือการอักเสบหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยหลอดเลือดหัวใจอาจมีลักษณะโป่งพอง ตีบหรือแคบได้ จนเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง และเสียชีวิตเฉียบพลันได้
สาเหตุของโรคคาวาซากิ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคคาวาซากิ แต่สันนิษฐานว่าโรคนี้น่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อหรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทานผิดปกติ ทำให้มีการอักเสบของหลอดเลือดเกิดขึ้น
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบว่าลูกมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงทีนะครับ
ข้อมูลบางส่วนจาก sg.theasianparent.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่โพสต์เตือน เพราะสายชาร์จโทรศัพท์ ทำคนเป็นแม่เสียใจไปตลอดชีวิต
ลำไส้กลืนกัน อุทาหรณ์ป้อนกล้วยลูกหลานก่อนวัยอันควร
เกือบไปแล้ว! ลูกของฉันพัฒนาการถดถอย จนเกือบเป็นออทิสติก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!