สังเกตและแก้ไข อย่าให้ ลูกซีด เพราะขาดธาตุเหล็ก
น้องจ๋า อายุ 1 ปี เป็นเด็กนมแม่ล้วน ตัวอ้วน จ้ำม่ำ ทานอาหารเสริมตามวัย ครบสามมื้อ ทานข้าวหมด 1 ถ้วยเต็มทุกมื้อ
1 สัปดาห์ก่อนน้องจ๋ามีไข้สูง หลายวัน คุณหมอตรวจเลือดพบว่าติดเชื้อไวรัสธรรมดา แต่มีภาวะโลหิตจางและรูปร่างของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ เมื่อตรวจเลือดเพิ่มเติมก็พบว่ามีภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็กเล็กก่อนวัยเรียน อายุประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปีค่ะ
ธาตุเหล็กมีความจำเป็นกับเด็กๆ อย่างไร?
ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารสีแดงในเม็ดเลือดแดงชื่อว่า ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งมีหน้าที่ในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์หลายชนิดในร่างกาย หากร่างกายมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอที่จะนำไปสร้างเม็ดเลือดก็จะมีความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่าปกติ เกิดภาวะโลหิตจางขึ้น และยังเกิดผลเสียต่อระบบการทำงานอื่นๆของร่างกายอีกด้วย หากเด็กขาดธาตุเหล็ก ก็จะดูซีด มีการเจริญเติบโตผิดปกติ ระบบประสาทความจำผิดปกติ เกิดปัญหาการเรียน และพฤติกรรมได้
ลูกซีด ลูกขาดธาตุเหล็ก เกิดจากอะไร?
การได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในเด็ก โดยเฉพาะช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว เช่น ในขวบปีแรก หรือในวัยรุ่น ร่างกายจะต้องการธาตุเหล็กมาก หากได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอจึงเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กขึ้นได้ค่ะ นอกจากนี้ในบางพื้นที่ของประเทศไทย พบว่าพยาธิปากขอเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีเลือดออกในลำไส้เรื้อรัง และขาดธาตุเหล็ก เกิดภาวะโลหิตจางได้
เพราะเหตุใดเด็กที่อ้วน ทานเก่งจึงขาดธาตุเหล็กได้?
แม้เด็กจะทานอาหารได้ดี ครบ 3 มื้อ แต่ได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ เลือด ตับ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักตำลึง และไข่แดง ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในวัยที่เพิ่งเริ่มอาหารเสริม หลัง 6 เดือน ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการขาดธาตุเหล็กจนมีภาวะโลหิตจางได้ แม้ว่าจะทานอาหารอย่างอื่นได้มากก็ตามค่ะ
บทความแนะนำ อาหาร 6 ชนิดที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ
เด็กที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กจะมีอาการอย่างไร?
เด็กที่ขาดธาตุเหล็กจะมีอาการ ตัวซีด ตาซีด ริมฝีปากซีด ยิ่งเห็นได้ชัดเจนถ้าขาดมากๆ บ่นปวดศีรษะบ่อยๆ เวียนศีรษะ เหนื่อยง่ายเวลาวิ่งเล่น ออกกำลังกาย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมผิดปกติ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เบื่ออาหาร สติปัญญาและพัฒนาการ การเรียนรู้ผิดปกติ ผลการเรียนแย่ลงได้นะคะ
ทราบได้อย่างไรว่า ลูกขาดธาตุเหล็ก?
หากเด็กๆ มีอาการดังกล่าวข้างต้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อที่จะได้ตรวจร่างกายหาอาการแสดงของภาวะนี้ ได้แก่ ลิ้นเลี่ยน คือลิ้นมีผิวเรียบ ไม่ขรุขระเหมือนปกติ ลิ้นสีซีดลง ริมฝีปาก และมุมปากอักเสบ เล็บบางหรือเล็บงอนคล้ายช้อน และคุณหมอจะส่งเลือดตรวจนับเม็ดเลือด หากผิดปกติสงสัยภาวะนี้ ก็จะตรวจเลือดดูปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายต่อไป ในสถานพยาบาลบางแห่ง ที่ไม่สามารถตรวจเลือดดูปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายได้ คุณหมออาจวินิจฉัยภาวะนี้ โดยให้ลองทานยาธาตุเหล็ก 4-6 สัปดาห์ แล้วเจาะเลือดติดตามผลว่า มีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากขึ้น และอาการของผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่
คุณหมอจะรักษาภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กในเด็กอย่างไรบ้าง?
เมื่อวินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กแล้ว คุณหมอหาสาเหตุ ให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขสาเหตุนั้นๆ ด้วย เช่น หากเกิดจากทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อยไป ก็จะส่งเสริมให้เด็กได้ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก หากมีพยาธิปากขอก็จะให้ยาถ่าย พยาธิ ควบคู่ไปกับการให้ยาธาตุเหล็ก โดยคำนวณตามน้ำหนักตัวเด็กค่ะ
การใช้ยาธาตุเหล็กชนิดน้ำอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือเด็กมีฟันดำได้ ซึ่งป้องกันได้โดยการหยอดยาไปด้านหลังลิ้นเพื่อไม่ให้ติดเป็นคราบดำที่ฟัน นอกจากนี้ การทานยาธาตุเล็กจะทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ซึ่งเป็นสีของยาธาตุเหล็กที่เหลือจากการดูดซึม เนื่องจากยาธาตุเหล็กอาจทำเกิดการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้องได้ จึงควรทานยานี้หลังอาหาร ไม่ควรทานตอนท้องว่าง
นมแม่มีธาตุเหล็กน้อยกว่านมผง แล้วทำให้เด็กมีภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กจริงหรือ?
ในนมแม่ มีปริมาณธาตุเหล็กน้อยกว่านมวัว แต่ธาตุเหล็กในนมแม่ถูกดูดซึมไปใช้ได้ดีกว่าธาตุเหล็กในนมวัว 2-3 เท่า จึงควรสนับสนุนให้เด็กดื่มนมแม่ เมื่อลูกอายุ มากกว่า 6 เดือนแล้ว ก็ควรให้อาหารเสริมตามวัยที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ โดยพยายามเริ่มตับ หรือเนื้อสัตว์ ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากเด็กได้รับอาหารตามวัยที่มีปริมาณธาตุเหล็กอย่างเพียงพอก็จะไม่เกิดภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก แต่หากได้รับอาหารตามวัยไม่เหมาะสม ไม่ว่าเด็กจะทานนมผสมหรือนมแม่ก็จะเกิดภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กได้เหมือนกันนะคะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
เมนูตับเพิ่มธาตุเหล็กให้ลูกน้อยวัย 6-12 เดือน
6 วัตถุดิบสำหรับทำอาหารเสริมให้เจ้าตัวน้อย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!