ตั้งครรภ์เกินกำหนดคลอดอันตราย เสี่ยงทั้งแม่และลูก
ตั้งครรภ์เกินกำหนดคืออะไร
รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์ กล่าวถึง ตั้งครรภ์เกินกำหนดคลอดไว้ว่า ตามปกติแล้วอายุครรภ์ที่ครบกำหนดคลอดและทารกมีความสมบูรณ์เต็มที่ คือ อายุครรภ์ช่วงระหว่าง 37 สัปดาห์ถึง 41 สัปดาห์ และอีกไม่เกิน 6 วัน เมื่อคำนวณจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่มาปกติ สำหรับแม่ท้องที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 42 สัปดาห์ หรือ 294 วัน ถือว่าเป็น "การตั้งครรภ์เกินกำหนด (Post term pregnancy)” ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง ความเสี่ยงแบ่งออกเป็น
เสี่ยงต่อแม่
1. เสี่ยงที่จะผ่าคลอดเพราะทารกในครรภ์มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น หัวโตขึ้นทำให้คลอดยาก ทำให้คุณแม่ต้องเสี่ยงผ่าตัดคลอด ต้องใช้เครื่องดูดสุญญากาศช่วยในการคลอด หรือต้องใช้คีมช่วยในการคลอด
2. ทารกตัวใหญ่ขึ้นส่งผลให้ช่องคลอดฉีกขาดในขณะคลอด
3. มีโอกาสที่จะตกเลือดหลังคลอดมากกว่าครรภ์ปกติ เนื่องจากมดลูกหดตัวไม่ดีเกิดจากมีบาดแผลบริเวณช่องคลอด
เสี่ยงต่อทารกในครรภ์
1. ทารกเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในครรภ์ ยิ่งถ้าหากเกินกำหนดมากขึ้นเท่าใด โอกาสจะเสียชีวิตของทารกจะมีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
2. ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการสำลักน้ำคร่ำและอาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหลังคลอดได้สูง
3. ทารกเสี่ยงต่อการบาดเจ็บขณะคลอด เช่น บาดเจ็บที่เส้นประสาทแขนเนื่องจากทารกตัวใหญ่ทำให้ไหล่ติดมดลูกขณะที่คลอด
4. รกเสื่อม เพราะอายุครรภ์เกินกำหนด ส่งผลให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนเรื้อรัง(Chronic hypoxia) ทำให้ทารกเจริญเติบโตไม่เต็มที่ น้ำคร่ำจะน้อยลง เมื่อมดลูกยิ่งหดตัว รกจะยิ่งขาดออกซิเจนเพิ่มขึ้น ทำให้ทารกอยู่ในภาวะเครียด (Fetal distress) หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้
สาเหตุของครรภ์เกินกำหนด
ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อยืนยันชัดเจนว่าครรภ์เกินกำหนดคลอดเกิดจากสาเหตุใด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติหรือความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่พบว่า ทารกในครรภ์พิการบางอย่าง เช่น ทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ (Anencephaly) ต่อมใต้สมองผิดปกติ, ต่อมหมวกไตฝ่อ และการขาดฮอร์โมน Placental sulfatase deficiency ทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนมีน้อยลง คุณแม่จึงไม่มีอาการเจ็บท้องคลอด แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการตั้งครรภ์เกินกำหนด คือ การที่แม่ท้องจำวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้หรือจำวันผิด ทำให้คำนวณอายุครรภ์ผิดไป
แม่ท้องทุกคนควรเตรียมพร้อมในการฝากครรภ์ที่สำคัญ คือ ควรจำวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายให้ได้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะคุณหมอจะได้คำนวณวันที่ครบกำหนดคลอดได้ไม่คลาดเคลื่อนมากนัก แต่ถ้าจำไม่ได้จริง ๆ คุณหมอจะแนะนำให้เองค่ะ ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดีที่สุด เพื่อลูกน้อยคลอดออกมาจะได้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://haamor.com/th
https://frynn.com/
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นักวิจัยพบ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรกินยาพาราเซตามอล
ตั้งครรภ์ได้ไหม ? หากเป็นโรคเบาหวาน
ภาวะรกเกาะต่ำขณะตั้งครรภ์ คืออะไร อันตรายแค่ไหน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!