4 โรคระบาดในเด็ก และอาการที่พ่อแม่ต้องคอยเฝ้าระวัง
ลูกป่วยทีไรทรมานใจคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่สุด โดยเฉพาะในฤดูฝนแบบนี้ เด็ก ๆ ยิ่งป่วยได้ง่าย เพราะเชื้อโรคส่วนใหญ่จะเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่อับชื้น ทำให้เชื้อต่าง ๆ มีอยู่ยั้วเยี้ยไปหมด และเด็กเล็ก ๆ ยังมีภูมิต้านทานที่ไม่ดีนัก จึงทำให้เกิด โรคระบาดในเด็ก ได้ง่ายมาก แถมอาการป่วยของเด็กก็มักจะรุนแรงและเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่เสียด้วย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องดูแล และระวังให้มาก ๆ นะคะ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยของเราปลอดภัย และวันนี้เราก็ได้รวบรวม 4 โรคระบาดในเด็ก พร้อมกับอาการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวัง และวิธีป้องกัน มาฝากกันค่ะ
1. ไข้หวัดใหญ่
เพราะอากาศที่เย็นลงและความชื้นในช่วงหน้าฝนจะทำให้โรคในกลุ่มไวรัสที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจนั้นเจริญเติบโตได้ดีกว่าปกติ ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นค่ะ
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
- คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ
- จาม คอแห้ง เจ็บคอ ไอแห้ง ไอมีเสมหะ
- เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
- หากอาการรุนแรงอาจมีโรคแทรกซ้อนที่มากับไข้หวัด คือ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดอักเสบได้
การป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดประมาณ 1-2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโรคทุกๆ ปี และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
- ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ
- รับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย เลือกกินแต่อาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ ๆ จะดีที่สุดค่ะ
2. โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากเป็นโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบบ่อยในช่วงหน้าฝน และพบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งจะพบการระบาดได้บ่อยตามโรงเรียนอนุบาลหรือเนิร์สเซอรี่ หากพบว่าลูกเป็นต้องแจ้งทางโรงเรียนทันทีเพื่อให้ปิดเรียนและทำความสะอาด ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อนะคะ
อาการของโรคมือเท้าปาก
- มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2-3 วันจะมีอาการเจ็บปาก เพราะในปากมีตุ่มแดงทั้งที่ลิ้น เพดานปากและกระพุ้งแก้ม แล้วกลายเป็นตุ่มพองใสในที่สุด เมื่อตุ่มแตกออกจะเป็นแผลหลุมตื้นๆ
- มีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และก้น แต่จะไม่คัน
- ไข้จะลงภายใน 3 – 5 วัน อาการของเด็กก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
- เด็กบางคนจะรับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ เพราะมีอาการเจ็บปากมาก แม้แต่น้ำลายก็ไม่ยอมกลืน ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ
- พ่อแม่ต้องระวังอย่าให้ลูกมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจจะชักได้ โดยบางรายอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น สมองอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ
การป้องกัน
- ดูแลลูกในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม
- ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด
- ควรมีกระติกน้ำหรือแก้วน้ำส่วนตัวให้ลูกไปใช้ที่โรงเรียน
- ปลูกฝังและฝึกให้ลูกล้างมือก่อนกินข้าว และใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
3. โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคที่มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จริง ๆ แล้วโรคไข้เลือดออกสามารถระบาดได้ทั้งปี แต่มักจะระบาดหนักในหน้าฝน เพราะมีโอกาสที่น้ำจะขังมากทำให้ยุงวางไข่และขยายพันธุ์ได้ดี
อาการของโรคไข้เลือดออก
- หลังได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง
- ปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว มีอาการตาแดง หน้าแดง และปากแดง
- โรคไข้เลือดออกยังส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบได้อีกด้วย ทำให้คนไข้มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะตรงบริเวณชายโครงด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ นั่นเป็นเพราะตับโตขึ้น
- อาเจียน และมีภาวะขาดน้ำ
การป้องกัน
- พยายามอย่าให้ยุงกัด โดยให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง
- จำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยพยายามทำบ้านให้โปร่ง ไม่มีมุมอับทึบ และกำจัดแหล่งน้ำขังในบ้านตามจุดต่าง ๆ เช่น ขารองตู้กับข้าวเป็นต้น
- หากสงสัยว่าลูกอาจเป็นไข้เลือดออก อย่ารอให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น มีไข้สูง ช็อค แล้วค่อยมาพบแพทย์เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
4. ไวรัส RSVหรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV
เป็นโรคติดเชื้อที่มีอาการคล้ายหวัดแต่บางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบได้เลยทีเดียว ไวรัส RSVเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งอาการบางอย่างของไวรัส RSV นี้อาจคล้ายกับอาการของไข้หวัด เช่น มีไข้ไอจามอาจจะทำให้พ่อแม่แยกความแตกต่างของอาการหวัดและไวรัสได้ยาก
อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV
- เด็กมีอาการหอบเหนื่อยและหายใจลำบาก
- หายใจเร็ว และมีเสียงครืดคราด ๆ
- ไอหนักมาก ๆ
- มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
- มีเสมหะมาก
- มีไข้
- หากลูกมีโรคประจำตัวอย่างหอบหืด ภูมิแพ้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจล้มเหลว
การป้องกัน
- ให้ลูกหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
- หากลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้าง
แม้ว่าบางโรคอาจจะดูร้ายแรง แต่หากทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการลงได้มาก เพราะฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกของเราป่วย ก็ควรพาไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
Credit : www.paolohospital.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรคยอดฮิต ทารกแอดมิทกันเพียบช่วงนี้! ดูให้ดี ลูกมีไข้สูง 5 วัน แล้วออกผื่น หรือไม่?
บำรุง หรือ ทำร้าย? 3 อาหารบำรุงร่างกายที่อาจทำร้ายลูกถึงชีวิต
ลูกติดเชื้อทางเดินหายใจ ทรมานกว่าจะหาย ไม่อยากเสียใจที่เห็นลูกป่วย พ่อแม่ต้องทำแบบนี้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!