ลูกติดเชื้อทางเดินหายใจ ทรมานกว่าจะหาย
แม่มือใหม่ต้องระวัง ลูกติดเชื้อทางเดินหายใจ ทารกป่วยง่าย โรคติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กเล็กและทารก หากเป็นแล้ว ใช้เวลานานกว่าจะหาย พ่อแม่ต้องระวัง ถ้าไม่อยากเห็นลูกป่วย ทรมานด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ พ่อแม่ต้องทำ 7 ข้อนี้ ห้ามละเลย! 7 เคล็ดลับปกป้องลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจในทารกและเด็กเล็ก เป็นโรคที่ต้องระวัง
ช่วงนี้เป็นฤดูที่ฝนตกเกือบทุกวัน หมอได้ตรวจผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการไอ จาม คัดจมูกน้ำมูกไหล จากการป่วยเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเยอะมาก ทั้ง ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถติดต่อได้ง่ายมากในเด็กจากการหายใจเอาเชื้อโรคจากผู้ป่วยเข้าไป และจากการที่มือสัมผัสกับสิ่งของ เครื่องใช้ หรือสิ่งคัดหลั่ง อันได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เลือด ของผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคอยู่
หมอขอนำ 7 เคล็ดลับการปกป้องลูก ให้ห่างไกลจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มาฝากกันดังนี้ค่ะ
7 เคล็ดลับปกป้องลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในทารกและเด็กเล็ก
1. สอนลูกให้ใส่หน้ากากอนามัย หากมีอาการไอ จาม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
โดยมีวิธีการที่ถูกต้องคือ หันด้านที่มีสีเข้มหรือมีลวดลายออกด้านนอก ด้านสีจางหันเข้าด้านใน แถบเหล็กอยู่ด้านบนสันจมูก ดัดแถบเหล็กให้แนบชิดไปกับสันจมูก และดึงหน้ากากด้านล่างให้คลุมลงมาถึงใต้คาง ทั้งนี้ ในเด็กที่ร่างกายแข็งแรงดีแต่ต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจอาจใส่หน้ากากอนามัยเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วยรอบตัวได้
สำหรับลูกน้อยวัยทารก : หากลูกยังไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้คุณพ่อคุณแม่ก็ควรใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำเมื่อมีอาการป่วย หรือต้องไปอยู่ในที่ชุมชนคนเยอะ หรือสัมผัสกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้รับเชื้อแล้วมาแพร่ยังลูกน้อย
2. สอนให้ลูกรู้จักการปิดปากเมื่อไอ จามอย่างถูกวิธี
โดยหากรู้สึกว่าจะไอ หรือจามควรหากระดาษชำระมาปิดปาก แต่หากไม่มีกระดาษชำระ ควรใช้การไอ จามใส่ข้อศอก โดยยกมุมข้อศอกปิดปากและจมูกตนเอง ไม่ควรไอ จามใส่มือ เพราะเชื้อโรคจะติดอยู่ที่มืออาจไปหยิบจับและก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องไอใส่มือที่ปิดปาก ก็ควรจะรีบไปล้างมือทันทีหลังจาก ไอหรือจาม
สำหรับลูกน้อยวัยทารก : หากลูกมีอาการไอหรือจามและยังเล็กเกินกว่าที่จะใส่หน้ากากอนามัยได้ ก็ไม่ควรพาลูกไปในที่ชุมชนคนเยอะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น และไม่ควรพาลูกน้อยไปในที่ชุมชนคนเยอะ เพื่อป้องกันการที่ลูกจะติดเชื้อทางเดินหายใจ
3. สอนลูกให้ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธี
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้รู้จักการล้างมือในโอกาสต่าง ๆ ได้แก่ ล้างมือหลังเสร็จกิจกรรมที่ทำให้มือสกปรก เช่น หลังจากไอ จามเสร็จแล้ว หลังการขับถ่าย ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร วิธีการล้างมือที่ถูกต้องสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่คือ ใช้ฝ่ามือถูฝ่ามือ แล้วใช้ฝ่ามือถูหลังมือ จากนั้นจึงประกบฝ่ามือถูซอกนิ้ว ใช้ฝ่ามือขัดหลังนิ้ว และถูนิ้วหัวแม่โป้ง ขัดฝ่ามือด้วยปลายนิ้ว แล้วจบด้วยการถูรอบข้อมือ โดยทำทุกขั้นตอน 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง
สำหรับลูกน้อยวัยทารก : หากคุณพ่อคุณแม่ทำภารกิจใดๆที่ทำให้มือสกปรกมา ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสตัวลูก และควรล้างมือให้ลูกหากสงสัยว่ามือลูกอาจมีสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคติดอยู่
4. ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกโดยย้ำอยู่เสมอว่า ห้ามใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ หลอด ช้อนส้อม ร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจทำให้ติดเชื้อโรคได้
สำหรับลูกน้อยวัยทารก : ไม่ควรทานอาหารโดยใช้ช้อนอันเดียวกับลูก หรือป้อนข้าวลูกโดยที่คุณพ่อคุณแม่เคี้ยวให้ก่อน เพราะจะทำไห้ลูกติดเชื้อโรคได้ เพราะบางครั้งผู้ใหญ่ไม่ได้มีอาการป่วย แต่มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย หรืออยู่ในน้ำลาย โดยที่ไม่มีอาการเนื่องจากมีภูมิต้านทานดี แต่เมื่อเด็กได้รับเชื้อโรคนั้นเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการป่วยได้โดยที่คุณพ่อคุณแม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
5. สอนลูกไม่ให้เอามือไปแคะจมูก เอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกไม่ให้เอามือไปแคะแกะเกาที่จมูก ปาก หรือตา เพราะมืออาจสัมผัสกับเชื้อโรคอยู่โดยที่ตาเปล่ามองไม่เห็น และทำให้เชื้อโรคจากมือเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว ทั้งทาง จมูก ปาก ตา จึงเกิดการติดเชื้อขึ้นได้
สำหรับลูกน้อยวัยทารก : คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูก หากลูกชอบแคะจมูก เอามือเข้าปาก หรือขยี้ตาก็ควรจับให้หยุดทำ แล้วเบี่ยงเบนความสนใจ ให้ลูกเลิกทำพฤติกรรมดังกล่าว
6. สอนลูกไม่ให้ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับเพื่อนที่ป่วย
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกว่าหากเห็นเพื่อนป่วย มีอาการไอ จาม มีไข้ ก็ไม่ควรจะเข้าไปคลุกคลีใกล้ชิดเพราะอาจติดเชื้อโรคได้ ในขณะเดียวกันหากลูกไม่สบายคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะให้พักอยู่ที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
สำหรับลูกน้อยวัยทารก : ไม่ควรพาลูกน้อยไปอยู่ในที่ชุมชนคนเยอะ เนื่องจากอาจทำให้ลูกสัมผัสกับเชื้อโรคและมีอาการป่วยได้
7. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์อายุ โดย วัคซีนที่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (IPD)
สำหรับลูกน้อยวัยทารก : วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถเริ่มฉีดเข็มแรกได้ที่อายุ 6 เดือนโดยการฉีดครั้งแรกสำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปีจะต้องฉีดกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน หลังจากนั้นก็จะฉีดเพียงปีละครั้ง ส่วนวัคซีน IPD เป็นวัคซีนเสริมเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสที่มีอาการรุนแรง คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด โดยจะฉีดที่อายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอายุ 12-15 เดือน
ที่มาจาก : https://www.phyathai.com/article_detail/2764/th/_
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำไมทารกนอนกัดฟัน ลูกฟันขึ้น ลูกเครียด ลูกป่วยไหม อันตรายหรือเปล่า
วิธีลูบท้องกระตุ้นสมองและพัฒนาการทารกในครรภ์
ยิ่งเล่นยิ่งฉลาด! เล่นกับลูกอย่างไร ให้สนุก สตรอง แถมพัฒนาการดีทุกด้านให้กับเจ้าตัวเล็ก
ระวัง! หวัดขึ้นหู เสี่ยงลูกหูหนวก โรคอันตรายจากหน้าฝน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!