โรคกระเพาะ เมื่อเรานึกถึงโรคกระเพาะหรือโรคกระเพาะอาหารแล้ว ความรู้สึกปวดแสบ จุก เสียด และแน่นตรงบริเวณหน้าอกทั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังรับประทานอาหาร คนทั่วไปมักจะสรุปอาการกันเอาเองว่า เมื่อมีอาการปวดแสบหรือจุกแน่นบริเวณท้องหรือหน้าอก ก็จะตีความกันไปเลยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบอย่างแน่นอน แต่อย่างไรแล้วเราไปดูกันดีกว่าว่า โรค กระเพาะ มีสาเหตุมาจากอะไร และจะรักษาอาการเบื้องต้นได้อย่าง?
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบโดย นพ. วรณัฐ ปกรณ์รัตน์ (แพทย์จาก Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน) | ตุลาคม 2565
สาเหตุของโรคกระเพาะ (Gastritis) คืออะไร?
สาเหตุหลักของโรคกระเพาะ มาจากการเสียความสมดุลของกรดที่หลั่งออกมา จึงทำให้ไปทำลายเยื่อบุของกระเพาะอาหาร ซึ่งเยื่อบุของกระเพาะอาหารมีความต้านทานของกรดไม่ดีพอ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องของการเกิดโรคกระเพาะอาหารบ่อยที่สุดคือ การใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปเช่น ความเครียด ความกังวล ที่อาจจะพบได้บ่อยมากในสังคมกลุ่มคนทำงาน รวมไปถึงการรับประทานอาหารไม่ดี และละเลยการสนใจสุขภาพของตนเอง เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารที่มีรสจัดจนเกินไป การอดอาหาร การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการที่รับประทานยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบเป็นประจำ และอีกหนึ่งสาเหตุของโรคที่สำคัญคือ การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เอชไพโลไร มีการถ่ายทอดมาจากคนสู่คน จากการรับประทานอาหารเชื้อจะเข้าสู่กระเพาะอาหารและเลื่อนเข้าสู่เซลล์เยื่อบุอาหาร ซึ่งเชื้อนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อีกด้วย
อาการ โรคกระเพาะ
อาการของโรคกระเพาะจะมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังมากในบริเวณใต้ลิ้นปี่ เวลาที่ปวดมักจะมีความสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร จะมีอาการที่ปวดแสบ จุกแน่น และจะมีอาการคลื่นไส้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กรณีที่เป็นแผลบริเวณลำไส้ส่วนต้นมักจะมีอาการปวดท้องหลังการรับประทานอาหาร 1-3 ชั่วโมง หรือขณะที่ท้องของเรากำลังว่าง จะปวดมากในช่วงเวลา บ่าย เย็น และตอนดึก อาการของเราจะดีขึ้นทันทีหลังจากได้รับประทานอาหาร ดื่มนม และรับประทานยาลดกรด
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคโครห์น กลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม
วิธีแก้ปวดท้องโรคกระเพาะอาหารเบื้องต้น
การรับประทานยา และการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตในเบื้องต้น ได้แก่
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- รับประทานอาหารอ่อน ที่สามารถย่อยได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด หวานจัด หรืออาหารจำพวกหมักดอง
- หลีกเลี่ยงความเครียด ความกังวล ความกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช้สเตอรอยด์ และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่ใช้ยา
- รับประทานยาโรคกระเพาะตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง
การรักษาโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะ สามารถรักษาได้ด้วยการรักษาตามสาเหตุของการเกิดโรค หากผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะจากการติดเชื้อ จะต้องทำการรักษาด้วยยาฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอะมอซิซิลลิน (Amoxicillin) ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยมีสาเหตุของโรคมาจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เพื่อประคองอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ จากการรับประทานยาบรรเทาปวด แพทย์จะแนะนำให้หยุดการรับประทานยานั้น และปรับเปลี่ยนตัวยาในกลุ่มเดียวกันแทน รวมไปถึงการหยุดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้อาการแย่ลง
โรคกระเพาะ อาหารที่ไม่ควรกิน มีอะไรบ้าง?
ร่างกายของผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอาจจะตอบสนองต่ออาหารในแต่ละชนิดแตกต่างกันไป ผู้ป่วยในแต่ละรายควรที่จะสังเกตอาการของตนเองขณะรับประทานอาหารแต่ละชนิด และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้อาการป่วยนั้นแย่ลง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดกับอาหารประเภทที่มีรสจัด หรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด และอาหารที่มีไขมันสูง เช่น
- อาหารทอด
- ช็อกโกแลต นมช็อกโกแลต และโกโก้ร้อน
- ชาเขียว ชาดำ หรือกาแฟ
- เครื่องดื่มอัดแก๊ส เช่น น้ำอัดลม โซดา
- น้ำผลไม้ โดยเฉพาะน้ำส้มหรือน้ำเกรปฟลุต
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หรือเบคอน
- นมสด หรืออาหารที่ทำมาจากนมสดหรือครีม
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- พริกหรือพริกไทย เช่น พริกป่น พริกไทยป่น หรือซอสพริก
บทความที่เกี่ยวข้อง : 20 อาหารเสริมโอเมก้าสูง ต้องกินอะไร ดีต่อสุขภาพอย่างไร
เป็นโรคกระเพาะควรกินอาหารแบบไหน?
ในอาหารแต่ละชนิดที่เรารับประทานเข้าไปนั้น ส่งผลต่อระบบของการย่อยอาหารของเรา และสุขภาพโดยรวมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านระบบทางเดินอาหารอย่างโรคกระเพาะ ควรเลือกรับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหาร ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร และมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการป่วยดังนี้
- อาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใยสารอาหาร เช่น พืชตระกูลถั่ว แครอท ข้าวโอ๊ต แอปเปิล เป็นต้น
- อาหารปรุงโดยเลือกใช้ น้ำมันมะกอก เป็นหลัก
- ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ขนมปังโฮลวีท ซีเรียล ข้าวกล้อง เป็นต้น
- อาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ หรืออาหารที่มีฤทธิ์ด่าง เป็นผักชนิดต่าง ๆ
- อาหารที่มี โพรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ และยีสต์ในกลุ่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กิมจิ กะหล่ำดอง ชาหมัก โยเกิร์ต เป็นต้น
นอกจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อระบบการย่อยของอาหาร หรือเรียกได้ว่าอาหารรักษาโรคกระเพาะอักเสบก็ได้ ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมการกินของตนเองให้เหมาะสม ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนที่จะเข้านอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ โดยให้หันมารับประทานอาหารในครั้งละน้อย ๆ แต่รับประทานให้บ่อยขึ้นแทน
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรค เบาหวาน เกิดจากอะไร ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเบาหวานคืออะไร?
การป้องกันโรคกระเพาะอักเสบ
การป้องกันโรคกระเพาะ สามารถทำได้โดยการรักษาความสะอาดในการรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การล้างมือก่อน-หลัง รับประทานอาหาร การเลือกรับประทานอาหารที่สาะอาดถูกสุขลักษณะ และยังควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้กระเพาะอาหารทำงานได้ไม่ดี หรือ ทำงานได้ไม่ปกติ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ภาวะความเครียด และ ไม่ควรซื้อยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะ
พฤติกรรมการรับประทาน และความสะอาดต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลจากโรค แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างในปัจจุบันนี้ ทำให้มีคนป่วยเป็นโรคกระเพาะอักเสบมากยิ่งขึ้น ด้วยพฤิตกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหารต่าง ๆ หากใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองมีโอกาสจะเป็นโรค ก็ควรพบแพทย์โดยด่วน เพื่อให้แพทย์ได้ทำการวินิจฉัย และทำการรักษา ป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม และเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรคกรดไหลย้อน อาการเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร รักษายังไงไม่ให้เป็นอีก?
โรคเอ็ดเวิร์ดซินโดรม โรคปากแหว่งเพดานโหว่ โรคทางพันธุกรรมที่พบในเด็ก
โรคเครียด เป็นยังไง? เช็คตัวเองด่วน แบบนี้เป็นโรคเครียดแล้วหรือยัง!
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!