คุณแม่ทุกคนต่างรู้กันดีอยู่ว่า “น้ำนมแม่” เป็นอาหารที่มีคุณค่ามหาศาลกับลูกน้อยขนาดไหน เด็กที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน จะได้รับวัคซีนนมแม่เป็นภูมิต้านทานที่ดี เสริมให้ร่างกายแข็งแรงและดีต่อสุขภาพจิตของทารกด้วย แต่ถ้า ลูกไม่ยอมกินนมแม่ จู่ ๆ ลูกก็หยุดกินนมกะทันหันซะงั้น จะทำยังไงดี?
ลูกไม่ยอมกินนมแม่ คืออาการอะไร เกิดจากอะไร
อาการลูกไม่กินนมแบบกะทันหัน (Nursing strike) ที่อยู่ ๆ ลูกเบือนหน้าหนีไม่ยอมเข้าเต้ากะทันหัน ไม่ยอมดูดนมแม่ แม้ก่อนหน้านี้ลูกจะกินนมแม่ได้ดี กินได้มากก็ตาม อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ร่างกายมีอาการผิดปกติ : อาจมีอาการป่วย เช่น เป็นหวัด หูอักเสบ มีกรดไหลย้อนทำให้กินนมแล้วปวดท้อง นมแม่เยอะ น้ำนมพุ่งจนทำให้ลูกกลืนไม่ทัน ส่งผลให้มีอาการสำลัก และไม่ยอมดูดนมจากเต้า ทารกแพ้อาหารหรือไวต่ออาหารหรือยาที่แม่กินที่ได้รับผลกระทบมาทางน้ำนม มีไข้หลังพาลูกไปฉีดวัคซีน มีแผลในปาก เชื้อราในปาก หรืออาการเจ็บปากจากฟันที่กำลังจะขึ้น เป็นต้น
- หัวนมบอด : อาการหัวนมบอดของคุณแม่ คือ อาการที่เต้านมไม่มีหัวนมออกมาเด่นชัด เพราะท่อนมสั้น หรือพังผืด ทำให้ทารกน้อยดูดนมได้ยากลำบาก ไปจนถึงดูดนมไม่ได้เลย อย่างไรก็ตามอาการนี้สามารถแก้ไขได้ เพื่อให้หัวนมเป็นลักษณะปกติ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยการรักษาจะใช้เวลาพอสมควร
- สิ่งแวดล้อมรอบตัวลูก : เช่น อารมณ์ของทารกในขณะนั้น อาจได้รับการกระตุ้นมากเกินไป ให้นมตามตารางมากไป มีการรบกวนตอนที่ทารกกำลังดูดนม เสียงตะโกน เสียงดังจนลูกตกใจ การดุด่าว่าเมื่อลูกเผลอกัดนม การปล่อยให้ลูกร้องไห้นานเกินไป ซึ่งทำให้ลูกเกิดอารมณ์หงุดหงิดและมีความเครียด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงตารางชีวิต เช่น ต้องเดินทางไกล ย้ายบ้าน แม่กลับไปทำงาน หรือการห่างที่แม่จากลูกนาน ๆ ก็มีผลต่อการที่ลูกจะเบือนเต้าไม่เอานมแม่ได้
- ให้ลูกกินนมขวด และจุกหลอกบ่อย : เป็นพฤติกรรมความเคยชิน หากคุณแม่ให้ลูกกินจากขวดบ่อยมากกว่าการเข้าเต้า การใช้จุกหลอกบ่อยก็เช่นกัน พฤติกรรมเหล่านี้มีส่วนทำให้ลูกปฏิเสธการเข้าเต้าได้ อย่างน้อยถ้าลูกจะกินนมจากขวด ก็ควรเป็นนมคุณแม่ที่ปั๊มออกมาเก็บไว้ อย่างไรก็ตาม การเอาลูกเข้าเต้าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเสมอ เพราะจะช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ได้ดี
ลูกไม่ยอมกินนมแม่ส่งผลกระทบอย่างไร
ปัญหาเรื่องลูกกินนมแม่ได้น้อย ไม่ยอมเข้าเต้า ไม่ใช่เรื่องเล็กแน่นอน เพราะนมแม่เป็นอาหารธรรมชาติของทารก ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งทารก และคุณแม่ ดังต่อไปนี้
- เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารได้ เนื่องจากอาหารที่ดีที่สุด คือ นมแม่ โดยเฉพาะน้ำนมเหลือง ที่มีสารอาหารหลากหลาย เปรียบได้กับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันของลูกน้อย
- พัฒนาการของลูกที่ล่าช้า เป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากการที่ลูกได้สารอาหารไม่ครบถ้วน อาจทำให้ลูกมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามมาตรฐานของช่วงวัย
- ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำนมของคุณแม่ ทำให้เสี่ยงต่อการเจอปัญหาน้ำนมน้อย เพราะไม่ได้รับการกระตุ้นตามธรรมชาติ จากการเข้าเต้าของทารกมากพอนั่นเอง
8 วิธีแก้ไขเมื่อเจอ Nursing strike จากเจ้าตัวน้อย
เพื่อเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น คุณแม่จำเป็นที่จะต้องรู้วิธีการรับมือ เมื่อลูกเกิดอาการ Nursing strike เรามีวิธีแนะนำในการแก้ปัญหาหลายวิธีที่อยากจะแชร์กับคุณแม่
1. เริ่มจากการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน
ก่อนที่จะทำอย่างอื่น คุณแม่ควรปรึกษา รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม กรณีที่มีอาการอื่น ๆ หรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จะได้ทำการรักษาแก้ไขได้ไปในเวลาเดียวกันด้วย หากรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว คุณแม่สามารถใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยตามข้อต่อ ๆ ไปที่เรากำลังจะกล่าวถึง
2. เสริมแวดล้อมให้ลูกเข้าเต้าอย่างมีความสุข
หาวิธีสร้างอารมณ์และบรรยากาศในการกินนมแม่ของลูก เช่น อุ้มลูกมากอดตรงหน้าอกเพื่อให้ได้กลิ่นนมแม่ ชวนคุย หัวเราะ จ้องตา ทำช่วงเวลาของความผูกพันระหว่างแม่ลูกให้มีความสุข จะช่วยลดการเกิด nursing strike ได้
3. ความสนิทของแม่และลูก
ในเวลาที่ไม่ได้ให้นมลูก ควรใช้เวลาเหล่านี้กอด เล่น ลูก สัมผัสกันให้นานที่สุด วิธีนี้จะทำให้เจ้าตัวน้อยและคุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ฮอร์โมนความสุขที่หลั่งออกมาจากตัวคุณแม่จะทำให้ลูกสัมผัสความรักจากตัวคุณแม่ และยอมรับการดูดนมจากเต้ามากขึ้น
4. นำลูกเข้าเต้าในเวลาที่เค้าง่วง
ทารกบางคนยอมรับเต้าได้ในตอนที่กำลังง่วง ๆ ผ่อนคลาย ลองให้นมตอนที่ลูกนอนหลับกลางวัน ใช้ท่าเข้าเต้าที่ลูกชอบที่สุด หรือท่าเข้าเต้าที่มักได้ผลคือ แม่นอนเอียง ๆ หลัง ให้ลูกวางบนตัวแม่ ท้องแนบท้อง ให้ลูกกินจากเต้าท่านี้จนหลับและผ่อนคลายไปด้วยกัน
5. กระตุ้นน้ำนมก่อนนำลูกเข้าเต้า
สำหรับคุณแม่ที่น้ำนมน้อย ช่วยได้โดยการปั๊มนมก่อนที่จะให้ลูกเข้าเต้า หรือบีบนมใส่ริมฝีปากลูก ถ้าลูกยอมกินจากเต้าแต่แค่แป๊บเดียว ลองใช้ไซริงค์หยอดนมที่มุมปากลูกเพื่อกระตุ้นการดูดและกลืน และทำซ้ำอีกถ้าลูกจะออกจากเต้าอีก
6. จัดเต้าให้ถูกท่าเมื่อเอาลูกเข้าเต้า
การให้นมลูกอย่างถูกท่าและถูกวิธีด้วยการช่วยลูกขยับปากให้ลูกได้อมถึงลานนมมากขึ้น หรือเด็กบางคนชอบกินนมตอนที่แม่เดินหรือโยกตัว ถ้านั่งให้นมหรือนอนให้นมมันไม่เวิร์กคุณแม่ลองเปลี่ยนท่าด้วยการเดินหรือแกว่งตัวไปมาดูนะคะ เมื่อลูกเข้าเต้าได้ดีขึ้น ให้ใช้เวลาตรงนั้นให้ดีที่สุด โดยปล่อยให้ลูกได้กินนมจนหลับหรือปล่อยปากหลุดออกจากเต้าเอง
7. เมื่อลูกแสดงอาการหิวไม่ปล่อยให้ลูกร้องนาน
ทารกจะกินนมได้ดีเมื่ออยู่ในอารมณ์สงบ สบาย แต่อาจจะไม่ยอมกินนมเมื่อรู้สึกหิวเกินไป เครียด หงุดหงิด
8. แก้วิธีลูกไม่เอาเต้าเอาแต่ขวด
ด้วยการสับขาหลอก โดยเริ่มจากให้นมขวดในท่าให้นมปกติ เมื่อทารกเริ่มดูดดีและกลืนนม ให้เอาขวดนมออกแล้วนำหัวนมแม่ใส่ปากแทน เด็กบางคนก็ยอมดูดต่อโดยดี
ต้องรีบแก้ปัญหา เพราะนมแม่คือภูมิคุ้มกันของทารก
การที่ลูกมีปัญหาไม่ยอมเข้าเต้า หากรีบแก้ได้ต้องรีบแก้ ทางที่ดีที่สุด คือ ปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เลย หรือสอบถามแพทย์ไว้ก่อนกรณีที่อาจเกิดปัญหานี้ เพราะนมแม่ดีที่สุดสำหรับทารก โดยเฉพาะ น้ำนมเหลือง (Colostrum) หลังคลอด 1-3 วัน ที่มี แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำหน้าที่เสมือนเป็นวัคซีนธรรมชาติที่แม่ส่งต่อให้ลูกผ่านนมแม่ สามารถกำจัดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่บริเวณลำไส้ได้ดี ซึ่งจะพบ แลคโตเฟอร์ริน ได้มากที่สุดในระยะน้ำนมเหลือง, MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมัน ที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง และ DHA เมื่อได้ทานร่วมกันกับ MFGM จะสร้างเสริมพัฒนาการทางสมองตั้งแต่วัยแรกเกิดถึงวัยเข้าเรียน ทำให้ลูกน้อยมี IQ และ EQ ของที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ปีแรกของชีวิต
ปัญหาหรือความกังวลที่ลูกไม่ยอมกินนมแม่ ลูกกินนมได้น้อย เป็นปัญหาที่คุณแม่มือใหม่พบได้บ่อย คุณแม่อาจจะต้องลองสังเกตพฤติกรรมลูกดู ว่าเขาชอบแบบไหน แล้วค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ เรียนรู้นิสัยใจคอกัน อดทนกับการแก้ปัญหาสักหน่อย ที่สำคัญอย่าเพิ่งท้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยได้กินนมแม่อย่างยาว ๆ แต่ถ้ารู้สึกว่าลูกกินนมได้น้อย หรือมีน้ำหนักลดลง คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพื่อรับคำแนะนำในการเสริมโภชนาการที่เหมาะสมนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
8 อาหารเพิ่มน้ำนมคุณแม่ ให้มีน้ำนมพอ รวมมาให้หมดแล้ว !
นมผงแต่ละสูตรต่างกันอย่างไร ก่อนเปลี่ยนนมให้ลูกแม่ต้องรู้อะไรบ้าง
แลคโตเฟอร์ริน คืออะไร พบได้ในนมแม่ มีส่วนสำคัญกับทารกมากกว่าที่คิด
ที่มา : enfababy, healthline
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!