สุขภาพของลูก เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่เพราะเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องใกล้ตัว เราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เสมอไป โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศชาย ล่าสุด ที่ดาราชื่อดัง คุณเต๋า สมชาย เข็มกลัด ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ เกี่ยวกับลูกชายของเขาป่วยเป็น โรคอัณฑะบิดหมุน ซึ่งบทความนี้เราจะช่วยไขข้อสงสัย และเตรียมความพร้อมให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับโรคนี้ เพื่อปกป้องสุขภาพลูกชายวัยรุ่นของเราไปด้วยกันค่ะ
เต๋า สมชาย แชร์ประสบการณ์ตรงลูกชายป่วยเป็น โรคอัณฑะบิดหมุน จากการเล่นกีฬา
เต๋า สมชาย เข็มกลัด อดีตนักร้องชื่อดังและนักแสดงมากความสามารถ ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวสุดตกใจ เกี่ยวกับลูกชายของเขาที่ป่วยเป็นโรคอัณฑะบิดหมุน (Testicular torsion)
โดยเต๋าเล่าว่า ลูกชายของเขาหลังมีอาการปวดอัณฑะที่บวมจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าเป็นแค่การอักเสบธรรมดา แต่พออาการไม่ดีขึ้น จึงพาไปตรวจที่โรงพยาบาล คุณหมอวินิจฉัยว่า เป็นอาการของโรคอัณฑะบิดหมุน ซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบรักษาโดยการผ่าตัด
ซึ่งหลังจากตอนที่รู้ผลการวินิจฉัย ทางครอบครัวรู้สึกตกใจและกังวลมาก แต่เพราะการผ่าตัดครั้งนี้ได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจาก พ.ต.อ.วสันต์ นันทสันติ นายแพทย์ (สบ 4) ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมเด็ก ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมตัว รวมไปถึงการดูแลก่อนและหลังการผ่าตัด ทำให้ครอบครัวคลายความกังวลและตัดสินใจผ่าตัดตามคำแนะนำ จนปัจจุบันลูกชายสามารถใช้ชีวิตปกติ ออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้โดยไม่มีผลกระทบหรือผลข้างเคียงใด ๆ ต่อสุขภาพ
โรคอัณฑะบิดหมุน: ภัยร้ายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพเพศชาย
อัณฑะบิดหมุน หรือ อัณฑะบิดขั้ว เป็นภาวะทางเพศชายที่พบได้ในเด็กทารกและชายทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กชายอายุ 12 – 18 ปี เกิดจากการบิดเกลียวของเส้นเลือดขึ้นด้านบน เลือดไปเลี้ยงอัณฑะได้น้อย จนเกิดการบิดหมุนของลูกอัณฑะ ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
- การบิดหมุนของลูกอัณฑะเอง โดยบิดหมุนได้ทั้งภายในและภายนอกของถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นประเภทที่รุนแรงมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมาก
- การบิดหมุนของติ่งลูกอัณฑะ หรือการบิดหมุนของติ่งท่อนำไข่ อาการปวดรุนแรงน้อย
สาเหตุของโรคอัณฑะบิดหมุน
สาเหตุของโรคนี้มาจากหลายปัจจัย เช่น
- ตำแหน่ง ในหรือนอกถุงอัณฑะ
- อุณหภูมิหรือฮอร์โมน เช่น ในช่วงตื่นนอนตอนเช้า ลูกอัณฑะจะเกิดการหดตัว อวัยวะเพศแข็งตัว กล้ามเนื้อบริเวณนั้นหดตัวจนเกิดอาการปวด
- เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ได้รับการกระแทก การออกกำลังกาย เล่นกีฬา เป็นต้น
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดอัณฑะ
โรคอัณฑะอักเสบ พบได้บ่อยในวัยรุ่น เกิดจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคคางทูม (ต่อมน้ำลายบริเวณคางทั้งสองข้างอักเสบ) โดยเชื้อไวรัสจะแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปยังอัณฑะ ในบางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อหนองในลุกลามมาที่อัณฑะ หรือจากการติดเชื้ออื่นๆ ก็ได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัณฑะอักเสบ จะมีอาการปวดอัณฑะอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการอัณฑะบวมแดงร้อน มักมีไข้ร่วมด้วย
- ไส้เลื่อน (inguinal hernia)
ไส้เลื่อน เป็นภาวะที่ลำไส้หรือเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ยื่นทะลุผนังช่องท้องบริเวณขาหนีบลงมาสู่ถุงอัณฑะ มักพบในเพศชาย อาการที่พบบ่อยคือรู้สึกเหมือนมีก้อนนูนที่อัณฑะเวลาที่ยืน นั่ง หรือไอ ก้อนนี้มักยุบหายไปเองเมื่อนอนราบ โดยไม่มีอาการเจ็บปวด ภาวะนี้จะทำให้เกิดอาการปวดบวมอย่างต่อเนื่องที่อัณฑะ ร่วมกับอาการปวดท้องและอาเจียน เนื่องจากลำไส้อุดกั้น
กล่อนน้ำ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ถุงน้ำลูกอัณฑะ” เกิดขึ้นเมื่อมีน้ำสะสมอยู่ภายในถุงอัณฑะ พบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ ลักษณะที่พบบ่อยคือเป็นก้อนนุ่มที่ถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง ก้อนนี้จะไม่ยุบหายแม้จะเปลี่ยนท่าทางก็ตาม โดยทั่วไปกล่อนน้ำไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงก้อนนุ่มๆ หรือรู้สึกหนักบริเวณถุงอัณฑะ บางรายอาจรู้สึกอึดอัดหรือตึงบริเวณขาหนีบ
มะเร็งอัณฑะ เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น มักพบก้อนแข็งที่อัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง โดยไม่รู้สึกเจ็บ แต่ก้อนจะโตเร็ว มักพบในกลุ่มผู้ชายอายุ 15-34 ปี อย่างไรก็ตาม ก้อนบวมที่อัณฑะอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากมะเร็ง ดังนั้น ผู้ที่มีก้อนบวมที่อัณฑะควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด
บทความที่เกี่ยวข้อง: อาการผิดปกติของอวัยวะเพศชาย ในทารก สังเกตอย่างไร? คุณแม่มาดูกัน!
อาการ ของโรคอัณฑะบิดหมุน
สัญญาณเบื้องต้นที่ไม่ควรมองข้ามคืออาการปวดลูกอัณฑะอย่างรุนแรง อาจมาพร้อมกับอาการ อาทิ
- อาการคลื่นไส้
- อาเจียน
- อัณฑะข้างที่ปวดมักมีอาการอักเสบ บวม เจ็บ และพบว่าอัณฑะข้างนั้นจะยกขึ้นสูงกว่าข้างที่ปกติ
- สังเกตเห็นอาการบวมแดงบริเวณลูกอัณฑะ
- ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเป็นไข้ร่วมด้วย
- บางรายอาจมีอาการปวดเกิดขึ้นตอนกลางคืนจนทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่น หรืออาจเกิดขึ้นขณะออกกำลังกายหรือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่
ซึ่งอาการเหล่านี้อาจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเนื้อเยื่อบริเวณลูกอัณฑะเสื่อมสภาพและอาจต้องตัดทิ้งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้เด็กที่มีลูกอัณฑะไม่ครบตั้งแต่กำเนิด และผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ ดังนั้นหากมีอาการปวดลูกอัณฑะ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
วิธีการรักษาและการป้องกัน
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น เมื่อเกิดภาวะอัณฑะบิดขั้ว แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดทันที เพื่อรักษาลูกอัณฑะไว้ หลังจากการผ่าตัดแล้ว ทางคุณหมอก็จะแนะนำให้พักผ่อน ใส่ชุดพยุงอัณฑะ และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก เล่นกีฬา แต่ในกรณีที่ปล่อยให้เกิดภาวะนี้ไว้นานเกินกว่า 4 ชม. อาจส่งผลให้ลูกอัณฑะเกิดความเสียหายอย่างถาวรได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อแทรกซ้อน และ อาจจะต้องตัดลูกอัณฑะทิ้งไปในที่สุดค่ะ ส่งผลให้มีบุตรยากได้
และถึงแม้ในปัจจุบัน จะยังไม่มีวิธีป้องกันโรคอัณฑะบิดหมุนที่ชัดเจน แต่การหมั่นสังเกตอาการตัวเองและรีบพบแพทย์เมื่อมีสัญญาณเตือนภัย ถือเป็นวิธีรับมือที่ดีที่สุด อย่าปล่อยปละละเลยเด็ดขาด เพราะความรวดเร็วในการรักษาส่งผลต่อการรักษาอวัยวะและการใช้ชีวิตในอนาคตค่ะ
จากกรณีของลูกชาย เต๋า สมชาย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการอัณฑะบิดหมุน ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงและรักษาอวัยวะไว้ได้ ผู้ชายทุกคน รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกชาย ควรตระหนักถึงสัญญาณเตือนของโรคนี้ และรีบพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดลูกอัณฑะรุนแรง คลื่นไส้ หรือบวมแดง การรักษาที่รวดเร็วจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ที่มา: Nationtv, Doctor
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
การรักษาผู้มีบุตรยาก ทำอย่างไรให้ท้องได้สักที คำแนะนำแม่ท้องยาก
การขริบหนังหุ้มปลาย จำเป็นต่อทารกหรือไม่? ขริบให้ลูกชายดีไหม?
ลูกอวัยวะเพศแข็งตัว ชี้โด่บ่อย ๆ ปกติหรือไม่ ไขข้อข้องใจได้ที่นี่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!