ทารกแรกเกิดเป็นวัยที่ยังบอบบางและมีโอกาสติดเชื้อง่าย คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของอวัยวะเพศเด็ก โดยเฉพาะทารกเพศชาย บางครั้งอาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือจากการรักษาสุขอนามัยที่ไม่ดี หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทันสังเกตก็อาจเสี่ยงต่อภาวะที่รุนแรงได้ วันนี้เราจะพามาดู อาการผิดปกติของอวัยวะเพศชาย ว่าต้องสังเกตอย่างไร และมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง เราไปดูกันค่ะ
อาการผิดปกติของอวัยวะเพศชาย ในทารก
1. อัณฑะไม่ลงถุง (Undescended testicle)
อัณฑะไม่ลงถุงตั้งแต่แรกเกิด คือ การที่อัณฑะไม่เคลื่อนลงมาในถุงอัณฑะตามปกติตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งโดยปกติเมื่อลูกอยู่ในท้องคุณแม่อายุครรภ์ 7 เดือน อัณฑะยังคงอยู่ในช่องท้องในและเลื่อนลงอยู่ในช่องขาหนีบเมื่ออายุ 7-8 เดือน และอยู่ในถุงอัณฑะเมื่ออายุ 9 เดือน
ทำอย่างไรเมื่อ อัณฑะไม่ลงถุง
นายแพทย์ นพพร ศรีทิพโพธิ์ กุมารศัลยแพทย์ อธิบายว่า อาการอัณฑะไม่ลงถุง ควรได้รับการผ่าตัดรักษาตั้งแต่อายุ 1-2 ปี และจะสามารถมีบุตรได้ตามปกติ หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้มีบุตรยาก โดยอาจมีบุตรได้เพียงร้อยละ 30 และพบว่าเด็กที่อัณฑะไม่ลงถุงอัณฑะแต่กำเนิด มีโอกาสของการเกิดมะเร็งอัณฑะสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่อัณฑะอยู่ในท้องโอกาสสูงกว่ารายที่อยู่ในขาหนีบ นอกจากนี้ ร้อยละ 90 ของอัณฑะไม่ลงถุงอัณฑะแต่กำเนิดมีไส้เลื่อนร่วมด้วย
2. หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิด (Hypospadias)
ภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิด เป็นภาวะที่พบบ่อยให้เด็กเพศชาย หมายถึงการที่ไม่สามารถรูดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศได้ เมื่อรูดแล้วเจ็บ หรือรูดแล้วดันกลับไม่ได้ ทำให้เด็กมีอาการผิดปกติเช่น ปัสสาวะลำบาก หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศโป่งขณะเบ่งถ่ายปัสสาวะ หรือมีการอักเสบ มีสารคัดหลั่งสีเหลืองคล้ายหนองไหลออกมา ถ่ายปัสสาวะเป็นหยด ๆ ไม่พุ่ง มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะมีเลือด หรือมีก้อนนูนใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเป็นต้น
ทำอย่างไรเมื่อ หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิด
นายแพทย์ นพพร ศรีทิพโพธิ์ กุมารศัลยแพทย์ อธิบายว่า การที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดในทารกแรกเกิดหรือในเด็กเล็ก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศตั้งแต่แรกคลอด หรือในเด็กเพียงเพราะว่าหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศยังไม่เปิด
คุณแม่อาจพบว่ามีการคั่งของขี้เปียก ใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเป็นก้อนนูนใต้ผิวหนัง ซึ่งก้อนนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากต่อมใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ร่วมกับเซลล์ของผิวหนังที่ตายแล้ว ซึ่งเมื่อสามารถรูดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศได้ก็จะสามารถทำความสะอาดเอาก้อนที่ว่านี้ออกได้เอง
การรักษาหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิด ทำได้โดยแม่ช่วยรูดหนังหุ้มปลายลงมาแล้วรูดกลับ ทำทีละน้อย เบา ๆ ขณะอาบน้ำหรือขณะนอนหลับจะช่วยให้หนังหุ้มปลายเปิดได้ อาจใช้ยาที่มีสเตอรอยด์อ่อน ๆ ได้แก่ betamethasone 0.05% ทาวันละ 2-3 ครั้งบริเวณปลายสุดของหนังหุ้มปลายให้มีความยืดหยุ่นดีขึ้น เด็กกว่าร้อยละ 90 หนังหุ้มปลายจะเปิดได้ แต่หากใช้เวลากว่า 3 เดือนไม่เห็นผลก็ควรเปลี่ยนวิธีการรักษาค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : การขริบหนังหุ้มปลาย จำเป็นต่อทารกหรือไม่? ขริบให้ลูกชายดีไหม?

3. ไส้เลื่อน (Inguinal hernia)
โรคไส้เลื่อนเกิดขึ้นจากถุงเยื่อบุช่องท้องที่ยื่นออกมาบริเวณขาหนีบไม่ปิดเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กผู้ชาย มากกว่าเด็กผู้หญิง ประมาณ 5-10 เท่า โดยสังเกตเห็นว่าเป็นก้อนนูน บริเวณเหนือขาหนีบและข้างหัวหน่าวเข้า ๆ ออก ๆ โดยเฉพาะเวลาเบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ ไอ หรือร้องไห้ ก้อนที่ออกมาจะยุบหายไปหมดเมื่อเด็กนอนหลับ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถดันก้อนไส้เลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องได้
ทำอย่างไรเมื่อ ลูกเป็นไส้เลื่อน
รศ. นพ. รวิศ เรืองตระกูล สาขาวิชากุมารศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำว่า เด็กที่มีอาการไส้เลื่อน ควรได้รับการผ่าตัดรักษาโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้ เนื่องจากจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ “ไส้เลื่อนติด” โดยลำไส้ที่เลื่อนลงมาในถุง ไม่สามารถเลื่อนกลับขึ้นสู่ช่องท้องได้ ทำให้เกิดการขาดเลือดและลำไส้เน่าได้ หากรอผ่าตัดตอนเด็กโต จะมีความเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อนติดค้าง อาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
4. ถุงน้ำที่ถุงอัณฑะ (Hydrocele)
ถุงน้ำที่ถุงอัณฑะ เป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็กทารกแรกเกิด เกิดจากมีการสะสมน้ำที่ผลิตจากเยื่อบุถุงน้ำที่อยู่รอบอัณฑะ อาการสำคัญคือมีก้อนที่อัณฑะโตผิดปกติ ไม่ยุบหรือยุบเล็กน้อย คลำก้อนได้คล้ายถุงน้ำ ไม่เจ็บปวด บางรายจะมีลักษณะคล้ายมีอัณฑะ 3 ลูก
ทำอย่างไรเมื่อมี ถุงน้ำที่ถุงอัณฑะ
นายแพทย์ นพพร ศรีทิพโพธิ์ กุมารศัลยแพทย์ แนะนำให้สังเกตอาการภายในอายุ 1-2 ปี ถุงน้ำมักจะยุบหายได้เอง หากบางรายที่ไม่ยุบหรือโตมากขึ้นอาจต้องได้รับการผ่าตัดรักษา
บทความที่เกี่ยวข้อง : ดูแลอวัยวะเพศทารกแรกเกิด ดูแลอย่างไรให้สะอาด ดูแลไม่ดี ระวังติดเชื้อ!

5. อวัยวะเพศชายอักเสบ (Balanitis)
การอักเสบของอวัยวะเพศเกิดจากการติดเชื้อส่วนปลายอวัยวะเพศ โดยจะมีอาการ ปัสสาวะลำบาก กระสับกระส่าย อวัยวะเพศแดง บวม เจ็บ คัน และมีกลิ่นผิดปกติ อาจเป็นผลมาจากผื่นผ้าอ้อม และยังสามารถเกิดได้จากการทำความสะอาดที่มากหรือน้อยเกินไปอีกด้วย
ทำอย่างไรเมื่อ อวัยวะเพศชายอักเสบ
หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ในขณะที่มีการอักเสบ ใช้น้ำอุ่นทำความสะอาดเบา ๆ แล้วซับให้แห้งอย่างนุ่มนวล พบคุณหมอเพื่อให้คุณหมอพิจารณายาที่เหมาะสมและปลอดภัยกับเด็ก คุณแม่สามารถป้องกันจุ๊ดจู๋ลูกน้อยอักเสบได้โดย ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกอย่างสะอาดหมดจด ถลกหนังหุ้มปลายลงเพื่อล้างด้านในอย่างนุ่มนวลทุกครั้งที่อาบน้ำ และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง
หากคุณแม่สังเกตเห็น อาการผิดปกติของอวัยวะเพศชาย ของลูกน้อย ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อความมั่นใจ และรับคำแนะนำในการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีขึ้นอยู่กับอาการของเด็กด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกชอบเล่นอวัยวะเพศ บ่งบอกอะไร ต้องพาไปหาหมอหรือไม่?
ลูกอวัยวะเพศแข็งตัว ชี้โด่บ่อย ๆ ปกติหรือไม่ ไขข้อข้องใจได้ที่นี่
ปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ อาการที่เด็กเล็กอายุ 6-8 ปีก็เสี่ยงได้
ที่มา : 1, 2, 3

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!