สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ ด้วยคำว่า “ไม่” ทำไมถึงต้องสอน เด็กเล็กที่กำลังอยู่ในวัยกำลังพูด หรือเริ่มพูดได้สักพักแล้วคุณควรสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธด้วยคำพื้นฐานอย่างคำว่า “ไม่” เพื่อให้พวกเขาปกป้องตัวเองจากบุคคลภายนอก หรือปฏิเสธในสิ่งที่เขาไม่ต้องการได้
ทำไมคำว่า “ไม่” จึงสำคัญ
การสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ หรือให้เขาเข้าใจบริบท หรือหน้าที่ของคำว่า “ไม่” นั้นถือว่าเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันลูกหลานของคุณจากบุคคลอันตราย หรือการกระทำที่นำไปสู่การถูกคุกคามต่าง ๆ หรือแม้แต่การที่พวกเขาจะได้ยืนหยัด และความมั่นใจกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ โดยการสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธนั้นทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ และพัฒนา ดังต่อไปนี้
-
การป้องกันตนเองจากอันตราย
หากมองย้อนกลับไปถึงจุดประสงค์แรกของการสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธนั้น สิ่งแรกที่คิดคงนึกถึงความปลอดภัยของเด็ก ๆ ในกรณีที่พวกเขากำลังตกอยู่ในอันตราย นอกจากนี้เด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับการพูดปฏิเสธออกไปด้วยคำว่า “ไม่” และการแตะออก หรือปัดป้องการสัมผัสร่างกายควบคู่กันไป ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาอย่างยิ่ง เพราะเขาจะได้รู้ว่าไม่ควรมีใครมาสัมผัส หรือทำร้ายเข้าได้โดยที่เขาไม่ได้อนุญาต หรือไม่สบายใจ
เด็ก ๆ มักถูกขอให้ทำหลายสิ่ง หลายอย่างตลอดชีวิตของพวกเขา มีทั้งที่พวกเขาชอบ และไม่ชอบ การที่พวกเขาได้รู้วิธีที่จะปฏิเสธนั้นทำให้พวกเขาได้เริ่มการตัดสินใจได้ด้วยตนเอง การยึดมั่นในคำตอบ และความรู้สึก หรือความคิดเห็นของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ
ในบางครั้งผู้ปกครองก็มักจะยัดเยียดความรู้สึกนึกคิด อยากให้เขาเป็นในสิ่งที่คุณต้องการ การที่พวกเขาได้เรียนรู้จักการปฏิเสธนั้นจะทำให้เขารู้สึกมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ทักษะ และความสามารถของเขาพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น
บทความที่น่าสนใจ : สอนลูกยังไงให้ไม่เหยียด กรณีศึกษาจากดราม่า #Ummก็สวยอยู่
สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ ได้อย่างไร
เด็กแต่ละคนนั้นมีความสามารถในการพูดที่แตกต่างกันออกไป ด้วยพื้นฐานของนิสัยของเด็กแต่ละคนเอง แต่อย่างไรก็ตามการพูดปฏิเสธนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เราควรสอนให้พวกเขารู้ และนำไปใช้ให้ถูกทางมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ของตัวพวกเขาเอง โดยคุณสามารถสอนเด็ก ๆ ได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
-
อธิบายให้เขาเข้าใจว่า เขาก็สามารถโดนปฏิเสธได้
เมื่อเราสอนให้เด็ก ๆ รู้จักการปฏิเสธแล้ว แต่เราก็ต้องสอนให้พวกเขารู้เหมือนกันว่าเขาเองก็สามารถถูกปฏิเสธได้เช่นกัน เพราะการปฏิเสธไม่ใช่สิ่งที่เขาสามารถทำได้เพียงคนเดียว แต่การถูกปฏิเสธนั้นจะต้องมีเหตุ และผลมากเพียงพอ ไม่ใช่ปฏิเสธออกไปเพียงแค่เพราะอารมณ์ หรือความรู้สึกส่วนตัวเพียงเท่านั้น
-
จำลองสถานการณ์
การที่เราใช้เพียงคำพูดเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เด็ก ๆ ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้ ดังนั้นการจำลองสถานการณ์ให้กับพวกเขาก็สามารถช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้มากขึ้น และเมื่อเขาได้พบกับสถานการณ์จริง จะได้รู้ว่าตนเองจะต้องปฏิบัติตน หรือพูดออกไปอย่างไร
-
ปล่อยให้พวกเขาทำตามสัญชาตญาณ
หลังจากที่คุณได้สอน และจำลองสถานการณ์แล้ว สิ่งถัดไปที่เขาควรได้เรียนรู้คือสถานการณ์จริง โดยยิ่งเขาพบเจอกับสถานการณ์ที่ต้องปฏิเสธ หรือถูกปฏิเสธบ่อยครั้ง อาจทำให้เขานั้นสามารถตอบปฏิเสธได้ดีมากขึ้นในครั้งถัดไป ในขณะที่เขาอยู่ในสถานที่ หรือเหตุการณ์ที่เขานั้นไม่สบายใจ ซึ่งการที่เราปล่อยให้เขาตัดสินใจปฏิเสธด้วยตนเองนั้น จะทำให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้น
-
รับฟังความคิดเห็น
การเปิดรับความคิดเห็นของเด็ก ๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจพวกเขาได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเราสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างของเราด้วยวิธีที่เข้าใจง่าย และดูเป็นการสอนให้พวกเขาคิดในเชิงบวก โดยคุณอาจไม่ใช้แค่ภาษาในการสื่อสารเท่านั้น คุณอาจใช้การสบตา หรือภาษากายที่เหมาะสม เพื่อเป็นการอธิบายให้เขาเข้าใจว่าการที่เขา หรือคุณที่ได้ทำการปฏิเสธนั้นมีเหตุผลมาจากอะไร หรือพวกเขานั้นต้องการอะไรจากการปฏิเสธในครั้งนี้ เพื่อปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน และช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
บทความที่น่าสนใจ : อันตรายในบ้าน ที่มักเกิดขึ้นกับลูกของคุณ ทำอย่างไรให้ปลอดภัย
หากลูกปฏิเสธโดยไม่มีเหตุผลควรทำอย่างไร
การที่สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธนั้นเหมือนเป็นดาบ 2 คมที่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าวันไหนพวกเขาจะใช้คำสอนนี้มาย้อนพวกคุณ เรามาลองดูวิธีรับมือ หากเกิดสถานการณ์นั้นกันดีกว่า
-
สงบสติ ก่อนที่จะตอบกลับไปด้วยเหตุผล
หลายครั้งที่ทำให้เกิดปัญหาของการทะเลาะกันภายในครอบครัว โดยส่วนหนึ่งมักมีสาเหตุมาจากการประพฤติปฏิบัติตัวของเด็ก ๆ ที่อาจไม่ถูกใจผู้ปกครองเท่าไหร่ และคำที่พวกเขามักใช้มากที่สุดคือคำว่า “ไม่” สิ่งแรกที่คุณควรทำหลังได้ยินคุณควรสงบจิตใจของคุณก่อน อย่าเพิ่งตอบออกไปในทันที เพราะหากคุณใช้อารมณ์ในการพูดแล้วหละก็ ทั้งน้ำเสียง ท่าทาง และสีหน้าของคุณอาจทำให้พวกเขากลัว คุณควรถามพวกเขากลับว่าเหตุผลที่พวกเขาปฏิเสธนั้นเป็นเพราะอะไร ก่อนที่จะหาทางออกให้กับเรื่องนั้น ๆ
บทความที่น่าสนใจ : พัฒนาการทางภาษา เด็กวัย 7 เดือน ลูกพูดได้เยอะหรือยังนะ
-
ทำให้พวกเขาเห็นว่า อย่าปฏิเสธอะไรพร่ำเพรื่อ
เด็ก ๆ ที่ใช้คำปฏิเสธจนเคยชินจนติดเป็นนิสัย อาจส่งผลทำให้พวกเขานั้นกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจในที่สุด เพราะว่าการที่พวกเขาใช้คำปฏิเสธนั้นแสดงถึงอำนาจที่เขาสามารถสั่งการได้ หรือสามารถควบคุมทุกอย่างได้ ดังนั้นเราจึงควรสอนให้พวกเขารู้ว่าการปฏิเสธในทุกครั้งที่เขาไม่อยากทำ หรือแม้แต่หน้าที่ที่ต้องทำของเขานั้นไม่ประสบความสำเร็จ เขาควรใช้คำพูดนี้แต่พอดี และในเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น
-
ฝืนให้พวกเขาทำตาม ถึงแม้ว่าเขาจะปฏิเสธ
หากสุดท้ายแล้ว การที่พวกเขาสามารถปฏิเสธได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเขา คุณควรที่จะต้องฝืนใจพวกเขาบ้างในบางครั้ง อาทิ การทานผัก หรือผลไม้เพื่อเสริมสร้างวิตามิน และภูมิต้านทานของร่างกาย หรือแม้แต่การไปโรงเรียนที่หากลองพวกเขาสามารถปฏิเสธได้ 1 ครั้งแล้ว เขาก็จะกลับมาทำอีกครั้ง คุณควรตัดสินใจแบบเด็ดขาด และบังคับให้พวกเขาทำ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ชอบ แต่สิ่งเหล่านั้นก็เพื่อประโยชน์ของตัวพวกเขาเอง
อย่าใช้คำว่า “ไม่” บ่อยเกินจนพวกเขาสับสน
การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโตนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก การที่คุณสอนให้เด็ก ๆ รู้จักวิธีปฏิเสธ หรือคำว่าไม่ นั้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ด้วยความที่พวกเขายังไม่มีประสบการณ์ หรือทักษะการคิด วิเคราะห์มากนัก อาจทำให้เขาเข้าใจบริบทของคำพูดที่คุณพูดผิดเพี้ยนไป ซึ่งคุณสามารถเปลี่ยนคำเหล่านั้นให้เป็นคำอื่นที่มีความหมายโดยไม่มีคำว่าไม่ได้ ดังต่อไปนี้
-
ไม่ อย่าไปคุยกับคนแปลกหน้านะ
การที่พวกเขาได้ยินคำว่าไม่จากปากของคุณอาจทำให้เขาไม่กล้าเข้าใกล้เพื่อน หรือสังคมที่มีความปลอดภัยสำหรับเขา ซึ่งจะส่งผลให้เขาไม่กล้าที่จะเข้าสังคมด้วยความเชื่อฟังคุณ คุณอาจต้องเปลี่ยนเป็นคำที่ทำให้เขารู้สึกว่า เขาจะตกอยู่ในอันตรายหากเจอบุคคลแบบนี้แทน โดยใช้คำว่า “ถ้าใครทำให้หนูรู้สึกกลัว หรือสับสน บอกแม่ หรือคุณครูนะ”
-
ไม่ต้องร้องไห้
ถ้ามองให้มุมของเด็กแล้วคำนี้อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของพวกเขาได้ ซึ่งพวกเขาอาจตีความไปในทิศทางที่ดูโหดร้ายอย่างเช่น แม่ไม่อยากให้เขาร้องไห้ เพราะแม่ไม่ชอบ หรือหมายถึงการที่คุณห้ามให้พวกเขาไม่ต้องรู้สึกเศร้า เป็นต้น คุณควรเปลี่ยนคำพูดปลอบแบบเดิม ๆ เป็น “แม่รู้ว่าลูกเจ็บ แต่เดี๋ยวก็หายแล้ว” เพราะการที่คุณพูดคาดการในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจได้มากขึ้น
-
ซื้อไม่ได้นะ
สิ่งที่คู่กับเด็ก และสิ่งที่พวกเขาต้องการคือของเล่น ในบางครั้งที่คุณอาจเดินผ่านร้านขายของเล่น และพวกเขางอแงที่จะซื้อของเล่นให้ได้ การที่คุณไม่ให้เหตุล หรือพูดออกไปว่าไม่ได้นั้นอาจทำให้พวกเขารู้สึกน้อยใจว่าทำไมเขาถึงไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ คุณอาจต้องเปลี่ยนคำใหม่ พร้อมกับเหตุผลที่คุณต้องพูดออกไปแบบนั้น “เราต้องประหยัดนะลูก ตอนนี้เรามีสิ่งสำคัญที่ต้องซื้อมากกว่า ไว้ถ้าเรามีเงิน เรามาซื้อกันเนอะ”
-
ไม่ ไม่ ไม่
การปฏิเสธแบบไม่ยอมรับฟังเหตุผลในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะพูด หรือจะบอกกับคุณอาจทำให้พวกเขาไม่เห็นคุณเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย หรือขอความคิดเห็นอีกต่อไป รวมถึงการขออนุญาตที่คุณยังไม่ทันได้ฟังเหตุผล หรือความต้องการของพวกเขาก็ชิงปฏิเสธไปเสียก่อน ดังนั้นคุณควรตอบกลับลูกเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อให้เขาแสดงความรู้สึก หรือความคิดเห็นก่อนที่จะตอบปฏิเสธพวกเขา อาทิ หากลูกของคุณอยากจะขออนุญาตออกไปเล่นข้างนอก และฝนกำลังจะตก คุณไม่ควรตอบว่าไม่ในทันที แต่ต้องตอบกลับไปว่า “ฝนกำลังจะตกแล้วลูก ออกไปเดี๋ยวจะป่วยเอานะ”
อย่างไรก็ตามการสอนลูกให้รู้จักปฏิเสธนั้นก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเขาควรเรียนรู้ เป็นอันดับแรก ๆ เพื่อที่พวกเขานั้นจะสามารถปกป้องตัวเองได้ไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่าในบางครั้งที่เขาอาจนำคำสอนของคุณมาใช้กับพวกคุณเอง ก็ขอให้ใช้สติ และอย่าใช้อารมณ์มในการตอบ หรือสนทนากับพวกเขา ให้คุณคิดไว้ว่าการสอนของคุณนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
บทความที่น่าสนใจ :
ทำไมจึงควรสอนลูกเรื่องเพศศึกษา เพศศึกษาสำคัญฉไน เป็นเรื่องที่ควรพูดหรือไม่
สอนลูกยังไงให้ไม่เหยียด กรณีศึกษาจากดราม่า #Ummก็สวยอยู่
เปิดแนวทางการเรียนการสอน เน้นทักษะชีวิตและวิชาการ ของโรงเรียนประสานมิตร
ที่มา : raace, askdrsears, cottonbaby
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!