น้ำเข้าหูลูก ตอนอาบน้ำสระผม อาจนำสู่ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ บางครั้งเราคาดไม่ถึงด้วยซ้ำว่าน้ำจะไหลเข้าไปในหูของเรา และทำให้หูอื้อได้ แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว อาการนี้อาจกวนใจ และทำให้พวกเขางอแงได้ทั้งวัน มาดูวิธีจัดการกับน้ำเข้าหูลูกกันค่ะ
น้ำเข้าหูลูก ได้อย่างไร
ในบางครั้ง ขณะที่เรากำลังพาลูกน้อยของเราอาบน้ำ อาจเป็นเหตุทำให้เกิดน้ำเข้าหูลูกของเราได้ หรือแม้แต่การที่เด็ก ๆ ไปว่ายน้ำที่สระน้ำ หรือเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติก็สามารถทำให้น้ำเข้าหูพวกเขาได้เช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วหากมีน้ำเข้าหู เราจะรู้สึกว่าหูของเราได้ยินเสียงลดลง หูอื้อ หรือได้ยินเสียงน้ำในหูของเราตลอดเวลา และทำให้เกิดการระคายเคืองขึ้นได้หากน้ำนั้นอยู่ในหูของเรานานเกินไป
บทคความที่น่าสนใจ : เด็กเล่นน้ำฝน มีประโยชน์ อันตราย หรือแค่ทำให้เป็นหวัด
วิธีเอาน้ำออกจากหูที่นิยมปฏิบัติกัน
- ขยับติ่งหูให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดช่องทาง หรือรูหูให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับเอียงคอไปยังด้านข้าง หรือทางไหล่ เพื่ออาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกทำให้น้ำนั้นไหนออกมา
- ทำให้หูเป็นสุญญากาศ โดยการนำฝ่ามือปิดยังบริเวณใบหูให้สนิท และค่อย ๆ กด หรือดันมือเข้าไปที่หู เพื่อไล่อากาศที่อยู่ภายในออกให้หมด และดึงมือออกมาอย่างรวดเร็ว เหมือนเป็นปั๊มเพื่อให้น้ำในหูนั้นไหลตามออกมาพร้อมอากาศที่เข้าไปแทนที่
- ใช้ไดร์เป่าผม วิธีที่จะทำให้หูของเราแห้งสนิท โดยการตั้งค่าให้ไดร์เป่าลมเย็น ในระดับพัดลมที่ต่ำ ก่อนจะนำมาจ่อที่บริเวณใบหู เว้นระยะห่างประมาณ 1 ฟุต และขยับติ่งหูไปมาเพื่อให้ลมได้พัดผ่านเข้าไปในหูได้ดีมากขึ้น
- หยอดน้ำเข้าไปเพิ่ม เพื่อให้น้ำใหม่ดึงน้ำเก่าออกมา เป็นวิธีที่ดูบ้าบอมากที่สุด แต่ในบางครั้งอาจได้ผลดีกว่าวิธีอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่มักนอนตะแคง หรือเอียงคอ ก่อนที่จะหยอดน้ำลงไปยังหูที่อื้อ เพิ่มจนเต็มรูหู รอเวลาประมาณ 5-10 วินาที และปล่อยให้น้ำไหลออกมา
- หาว หรือเคี้ยวอาหาร ทำให้บริเวณท่อยูสเตเชียนซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่าง หูชั้นกลาง และโพรงหลังจมูก ทำหน้าที่ช่วยปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก หรือบริเวณที่น้ำเข้าไปติดอยู่นั้นคลายความตึงออก และทำให้น้ำไหลออกมา
- การแคะ หรือปั่นหูด้วยไม้ปั่นหู หรือนิ้วมือ วิธีที่นิยมมากที่สุด และเป็นวิธีแรกที่ทุกคนนึกถึง โดยการแหย่นิ้ว หรือไม้ปั่นหูเข้าไปเพื่อซับน้ำ หรือการเปิดช่องหูให้น้ำไหลออก
น้ำเข้าหูลูก สู่ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ
การที่น้ำติดอยู่ในหูของลูกน้อยเรานั้นนอกจากสร้างความน่ารำคาญให้กับเด็ก ๆ แล้ว การที่น้ำติดอยู่ในหูนานเกินไป หรือการพยายามเอาน้ำออกจากหู ไม่ว่าจะเป็นแคะ ตะแคง ปั่น การนำน้ำหยอดลงไปในหูเพิ่ม หรือวิธีต่าง ๆ ที่เขียนอยู่ข้างต้น นั้นอาจทำให้เกิดบาดแผล หรือมีการถลอกของหูชั้นนอก ซึ่งส่งผลทำให้เกิด ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ หรือ Otitis externa หรือ Swimmer’s ear เกิดจากบริเวณหูชั้นนอกของเด็ก ๆ นั้นบอบบางมาก ถึงแม้ว่าปกติแล้วจะมีขี้หูที่เป็นตัวกรองและดักจับสิ่งแปลกปลอมเพื่อไม่ให้เข้ามาทำร้ายหูของเด็ก ๆ อยู่ก็ตาม แต่การนำน้ำออก หรือการมีน้ำขังอยู่ภายใน ส่งผลทำให้แบคทีเรียที่มาจากน้ำมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จนเกิดอาการบวมแดง หรืออาจอันตรายถึงขั้นติดเชื้อในหูเลยก็เป็นได้ โดยภาวะหูชั้นนอกอักเสบนั้นในบางครั้งอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากการที่น้ำเข้าหูเพียงอย่างเดียว แต่มาจากสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- การทำความสะอาดหูไม่สะอาด ในบางครั้งที่คุณแม่อาบน้ำให้ลูก การทำความสะอาดบริเวณหูถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะอาจหลงเหลือร่องรอยของผลิตภัณฑ์อาบน้ำ หรือเชื้อโรคที่ติดอยู่บริเวณนั้นจนทำให้เกิดการอักเสบได้
- การบาดเจ็บ และมีสิ่งแปลกปลอมในหู อาการที่พบบ่อยในเด็กเล็กที่พวกไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อาจส่งผลทำให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหูของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว และเขาอาจทำการแคะ หรือพยายามนำมันออกด้วยตนเองจนเกิดความบาดเจ็บ
- สภาพผิวในช่องหู และมีขี้หูมากเกินไป ถึงแม้ว่าการมีขี้หูจะช่วยในเรื่องของการดักจับสิ่งแปลกปลอมแล้ว อาจส่งผลทำให้เกิดการอุดตัน หรือทำให้ได้ยินไม่ชัด หรือแม้แต่การส่งผลต่อสภาพผิวในบริเวณช่องหูที่อาจมีการระคายเคืองจากสิ่งแปลกปลอมที่ถูกจับด้วยขี้หู จนทำให้เกิดกลาก หรือสภาพผิวแห้งจนเกินไปได้
บทความที่น่าสนใจ : วิธีป้องกันเด็กติดเชื้อ วิธีป้องกันเชื้อโรค หากจำเป็นต้องเดินทางช่วงที่มีโรคระบาด
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหากมีภาวะหูชั้นนอกอักเสบ
การเป็นภาวะหูชั้นนอกอักเสบ นั้นถือเป็นการติดเชื้อชนิดหนึ่งที่บริเวณหูของเรา ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สร้างความเสียหาย หรืออันตรายต่อร่างกายของเด็ก ๆ ได้ดังนี้
- การสูญเสียการได้ยินชั่วคราวจากการบวม และอักเสบที่หู
- การติดเชื้อที่สามารถเป็นได้อีกเรื่อย ๆ หากเคยเป็นแล้ว 1 ครั้ง
- การถูกทำให้เกิดความเสียหายของกระดูกอ่อนที่หู
- การติดเชื้อของเนื้อเยื่อบริเวณรอบหู
- การติดเชื้อที่อาจแพร่กระจายจากหูไปยังศีรษะ หรือสมอง
ทราบได้อย่างไรว่าลูกของเรามีน้ำอยู่ในหู
สำหรับเด็กที่เริ่มพูด หรือสามารถพูดกับคุณได้แล้ว พวกเขาอาจบอกคุณเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่สำหรับเด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยทารก ที่ไม่สามารถพูดออกมาได้ น้อยครั้งที่คุณจะทราบว่าพวกเขามีน้ำในหูจนกว่าจะพบว่ามีอาการบวมแดงที่บริเวณหูแล้ว แต่คุณแม่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของพวกเขาได้จากกิริยาท่าทาง โดยเด็ก ๆ อาจเริ่มเกา เนื่องจากมีอาการคันที่หู หรือพยายามที่จะแหย่นิ้วเข้าไปในหู เพื่อเอาน้ำออกด้วยตนเอง หลังจากอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ ทางที่ดีที่สุดคือคุณแม่ควรระวังอย่าให้น้ำเข้าหูของเด็ก ๆ ขณะที่อาบน้ำ หรือเช็คบริเวณหูให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำเสร็จนั่นเอง
บทความที่น่าสนใจ : แผลบาดทะยัก เป็นแบบไหน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเป็นโรคบาดทะยัก
วิธีการรักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบ
หากสุดท้ายแล้วจากการที่น้ำเข้าหูลูกธรรมดา กลายเป็นภาวะหูชั้นนอกอักเสบ คุณต้องรีบพาเด็ก ๆ ไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านหูในทันที โดยการรักษาของแพทย์จะขึ้นอยู่กับอาการ อายุ และสุขภาพโดยทั่วไปของเด็ก ๆ ส่วนใหญ่จะต้องใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 7-10 วัน เบื้องต้นคุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะ และคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) มาให้หยอดหู เพื่อต้านการอักเสบของหู และลดอาการบวมแดงที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และนอกจากนี้หากเด็ก ๆ มีอาการปวดที่บริเวณหูเพิ่มเติม แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดให้กับเด็ก ๆ อีกด้วย
การที่น้ำเข้าหูลูกนั้นไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลยอีกต่อไป เพราะถ้าหากเกิดการติดเชื้อ หรือการอักเสบขึ้นมาก็อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเด็ก ๆ ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันสูงมากนัก คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของพวกเขา หรือดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด รวมถึงการระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าหูขณะที่อาบน้ำให้เด็ก ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะหูชั้นนอกอักเสบด้วยนะคะ
บทความที่น่าสนใจ :
คนท้องหูอื้อ เกิดจากอะไร มีวิธีแก้อาการหูอื้อในคนท้องอย่างไรบ้าง
อันตรายในบ้าน ที่มักเกิดขึ้นกับลูกของคุณ ทำอย่างไรให้ปลอดภัย
ที่มา : kidshealth, webmd, cedars-sinai, healthline, zeekdoc
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!