แพ้เหงื่อ อาการผื่นแพ้ผิวหนังที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย เพราะนอกจากจะเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันแล้ว อาการแพ้เหงื่อยังส่งผลถึงผิวหนังที่อาจเกิดปัญหาตามมา เช่น ผด ผื่น อาการคันที่หยุดไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณแม่มือใหม่หรือคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดอาการแพ้เหงื่อ ก็ยิ่งสร้างความหงุดหงิดใจและความกังวลต่อสุขภาพต่อตัวคุณแม่เองอีกด้วย
แพ้เหงื่อ อาการสำหรับคนทั่วไป
ผื่นแพ้เหงื่อ หรือลมพิษชนิดหนึ่ง แต่บางรายอาจไม่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นลมพิษรุนแรงจนต้องไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่สาเหตุของลมพิษนั้นเกิดจากความร้อนที่เข้าไปกระตุ้นการทำงานของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อหลั่งออกมากร่วมกับมีอาการผื่นขึ้น ตรงนี้จะทำให้เรารู้สึกปวดแสบปวดร้อนมาก บางรายอาจแพ้เหงื่อจากการที่ร่างกายสร้างแอนติบอดี้หรือภูมิต้านทานต่อเหงื่อตัวเอง จึงทำให้เกิดโรคลมพิษ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานกลางแจ้ง การเดินทางที่ต้องไปพบปะผู้คน การออกกำลังกาย แม้จะในร่มก็ตาม ที่สำคัญ เวลาพวกเราอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน ยิ่งบ้านเราเป็นเมืองร้อน หากใครที่เหงื่อออกง่าย ค่อนข้างเป็นเรื่องน่ากังวลมากทีเดียว
บทความที่เกี่ยวข้อง :วิธีคลายร้อนของคนท้อง ทําไมคนท้องขี้ร้อน แม่ท้องเหงื่อออกเยอะ บรรเทาอาการขี้ร้อนของคนท้องอย่างไร
คนท้องแพ้เหงื่อมาก เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดผื่นคัน
ผื่นตั้งครรภ์ Pruritic Urticarial Papules and Plaques of Pregnancy (PUPPP) ซึ่งผื่นคนท้องส่วนใหญ่เกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 หรือเข้าสู่สัปดาห์ที่ 35 ช่วงนี้ท้องของคุณแม่จะแผ่ขยายมาก ทำให้ผิวหนังตึงเป็นพิเศษ ยิ่งผนังท้องขยายมาก ยิ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ลองนึกภาพลูกโป่งใส่น้ำที่ขยายขึ้น ๆ เกิดกระบวนการอักเสบ มีอาการผื่นมีหลายลักษณะเช่นผื่นนูนแดงคล้ายลมพิษ มีตุ่มน้ำใส ๆ กระจายหรือจับตัวเป็นกระจุกบริเวณหน้าท้อง สังเกตว่าท้องของคุณแม่จะค่อย ๆ แตกลาย แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะปัญหาผื่นคันของคุณแม่นั้นสำคัญกว่า ทั้งนี้ผื่นคันยังจะกระจายไปที่ ต้นขา ก้น หน้าอก และแขน ซึ่งจะทำให้คันมาก แนะนำว่าห้ามเกาเด็ดขาด ยิ่งเกาจะยิ่งแตกลาย และบาดเจ็บที่เส้นเลือดฝอย จำไว้ว่า ผื่นชนิดนี้ขึ้นนานประมาณ 6 สัปดาห์ และหายได้เองหลังคลอดภายใน 1-2 สัปดาห์ ไม่มีอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์แต่อย่างใด
แพ้เหงื่อแล้วผื่นขึ้นตามร่างกาย มีสาเหตุมาจากอะไร
1. ผู้ป่วยมักอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนสูง
จริงอยู่บ้านเราเป็นเมืองร้อน แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาการแพ้เหงื่อเหมือนกัน บางคนแพ้มาก แม้แต่ทำงานอยู่ในห้องปรับอากาศยังมีเหงื่อออก หรือแค่นั่งเฉย ๆ ในบริเวณพื้นที่เปิดหรือเอาท์ดอร์ เหงื่อก็ออกได้ สังเกตได้ว่าอาการนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีน้ำหนักมาก รูปร่างอวบเพราะชั้นไขมันทำให้ผิวหนังไม่สามารถระบายอากาศได้ดีนัก
2. สวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่นไม่ระบายอากาศ
สำหรับคนที่ชอบสวมเสื้อผ้ารัดรูป กางเกงฟิต ๆ หรือแม้แต่ชุดชั้นในที่รัดรึงจนเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังได้ เช่น เสื้อผ้าเสียดสีกับผิวหนังผสมกับเหงื่อที่ออกมา ทำให้เกิดการแพ้ ผื่นคัน ผื่นแดง ยิ่งเกายิ่งมัน ยิ่งคันก็ยิ่งเจ็บ หากเกาบ่อย ๆ จะเกิดเชื้อราในร่มผ้าได้
3. รับประทานอาหารรสเผ็ด
ไม่น่าเชื่อว่าการกินเผ็ดก็ทำให้เกิดการอาการแพ้เหงื่อได้ สาเหตุนี้คนที่เป็นได้บ่อยสุด คือคนที่ไม่เคยรับประทานอาหารเผ็ดหรือหยุดรับประทานรสเผ็ดแล้วกลับมาทานใหม่ จะพบว่า รสชาติเผ็ดร้อนที่เข้าสู่ร่างกาย จะไปสร้างความร้อนรุ่มจนต่อมเหงื่อระบายความร้อนไม่ทัน บางคนถึงขั้นเป็นไข้ นอนไม่หลับ และไม่คิดว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการแพ้เหงื่อที่มาจากการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด
4. แพ้เหงื่อจากความเครียด
เมื่อสมองเกิดความเครียดและกดดัน ร่างกายเราจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น สังเกตไหมว่า เวลาเราตื่นเต้นเหงื่อจะออกมาก เครียดมากเหงื่อก็จะออกมากเช่นกัน ซึ่งเป็นการเสียเหงื่อที่ผิดปกติของร่างกาย ไม่ใช่การออกกำลังกายหรือระบายความร้อนจากผิวหนังทั่วไป
5. โรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ต่าง ๆ
สำหรับคนทั่วไปอาจไม่น่ากังวลนัก แต่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะต้องระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษสำหรับคนท้องที่มีโรคประจำตัว พยายามตรวจเช็กร่างกายให้ดีก่อนตั้งครรภ์ ว่ามีอาการผิวหนังอักเสบไหม มีอาการหอบหืดมาก่อนหรือเปล่า เคยเป็นภูมิแพ้อากาศ แพ้อาหารหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไปช่วยกระตุ้นอาหารแพ้เหงื่อได้ง่ายขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผื่นคนท้อง แม่ขอแชร์! คันตามแขนขา ผดผื่นขณะตั้งครรภ์ หายในสองเดือน
ลักษณะของอาการผื่นแพ้เหงื่อ
ผื่นแพ้เหงื่อ จะมีลมพิษเกิดขึ้นหลังจากเริ่มมีเหงื่อออกมาไม่นาน ตัวผื่นมีลักษณะเป็นปื้นแดงคล้านปานก่อนจากนั้นจะค่อย ๆ นูนขึ้นหากเราไปเกามาก ๆ จะเกิดวงกลมหนานูนหรือเป็นตุ่มน้ำใส โดยปกติผื่นสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย แต่มักพบบริเวณหน้าอก ใบหน้า แผ่นหลังส่วนบน และแขน บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ หายใจตื้น ความดันโลหิตลดต่ำลง ซึ่งเป็นอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
แพ้เหงื่อไม่ใช่โรคร้าย รักษาได้แต่ต้องใช้เวลา
ในเบื้องต้นแพทย์จะให้ยาแก้แพ้มารับประทานและยาทาแก้คันเพื่อลดอาการแพ้ และควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ โดยสามารถดูแลตัวเองได้ดังนี้
1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ
วิธีง่าย ๆ สามารถทำได้ทุกคนอย่างปลอดภัย คือ ใช้ว่านหางจระเข้สดมาฝานเอาเนื้อในวุ้นใส ๆ ค่อย ๆ ทาบริเวณที่แพ้ ทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออก นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ยังสามารถหาซื้อเจลว่านหางจระเข้บริสุทธิ์ที่ไม่ผสมสี น้ำหอม และสารเคมี เพื่อป้องกันการระคายเคืองของผิว ค่อย ๆ ทาท้องบาง ๆ เพื่อป้องกันผนังรัดตึงจนคัน แถมช่วยบำรุงผิวอีกด้วย
2. อย่าเพิ่งออกกำลังกายอย่างหนัก
ปัจจุบันอากาศบ้านเราจะเต็มไปด้วยฝุ่นที่มองมาเห็น โดยเฉพาะ PM2.5 สำหรับคนที่ชอบออกกำลังกายเอาท์ดอร์ วิ่งตามสวนสาธารณะ ระวังฝุ่นที่มาผสมเหงื่อจนเกิดอาการแพ้ หากเป็นไปได้ ลองหาวิธีออกกำลังบริเวณบ้าน ในห้อง ที่อากาศไม่ร้อน และไม่มีมลภาวะ ที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการอบซาวน่าในช่วงนี้ด้วย เพื่อลดการขยายตัวของผิวหนัง
3. เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
ปัจจุบันอาหารรสจัด สารพัดยำรสแซ่บท้าให้แม่ ๆ ลองความแซ่บปากระเบิด แต่หากเราไม่เคยรับประทาน แนะนำว่าอย่าเพิ่งลอง ถ้าหากพบว่าตนเองมีภาวะแพ้เหงื่อจากความร้อน และควรงดเครื่องดื่มร้อน ๆ อีกทั้งควรควบคุมปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยลดความถี่ในการเกิดอาการได้
ยาแก้แพ้เหงื่อมีอะไรบ้าง
หากมีอาการแพ้เหงื่อปะทุขึ้นในร่างกาย แพทย์มักสั่งยา เช่น ยายับยั้งลิวโคทรีน หรือยากดภูมิคุ้มกัน และยาชนิดอื่น ๆ เช่น
- ยาแก้แพ้เช่น ยาเซทิริซีน เป็นยาที่ช่วยขัดขวางของสารฮีสตามีนซึ่งส่งผลให้เกิดอาการแพ้ ทำให้อาการแพ้ค่อย ๆ ลดลงอย่างได้ผล
- ยาคีโตไตเฟนยานี้ช่วยบรรเทาอาการแพ้เหงื่อได้ดี สามารถลดปริมาณผื่น ลดอาการคัน แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นยาที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ยาเบต้าบล็อกเกอร์เช่น ยาโพรพราโนลอล ถ้าผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะใช้สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งลดการกระตุ้นอาการแพ้เหงื่ออีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องร้อนกว่าคนปกติ คนท้อง เหงื่อออกมาก แม้จะอยู่ในห้องแอร์ อันตรายไหม
วิธีป้องกันและรักษาผื่นแพ้เหงื่อ สามารถทำอะไรได้บ้าง
ไม่มีผู้ป่วยหรือใครที่สามารถป้องกันอาการแพ้เหงื่อได้ 100% เนื่องจากการขับเหงื่อนั้นเป็นกลไกของร่างกายที่ดี ขับของเสีย ขับน้ำส่วนเกิน ทำให้ร่างกายสดชื่น แต่อาการแพ้ก็ส่งผลเสียต่อผิวหนังและการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น เรามาดูวิธีป้องกันเบื้องต้น และดูแลตัวเองกันดีกว่า
1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ
ใครว่าสกินแคร์ต่าง ๆ ไม่สำคัญ สกินแคร์ที่ดี คือสกินที่ถูกกับผิวพรรณของเราในช่วงระยะเวลานั้น เช่น เวลาปกติเราสามารถใช้สกินแคร์ที่ผสมสี น้ำหอมได้ แต่หากเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์การเลือกสกินแคร์ต้องระวังอย่างที่สุด เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ โลชั่น ครีมบำรุงผิวต่าง ๆ ต้องมาจากธรรมชาติ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ผสมวิตามินเอ หรือสารเคมีที่อันตรายสำหรับคนท้อง เพราะจะทำให้คุณแม่แพ้ซ้ำซ้อน เช่น แพ้สารเคมี และยังแพ้เหงื่อ แพ้ผลิตภัณฑ์ทำความเสื้อผ้า แนะนำให้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สินค้าที่มีสารเคมีพวกนี้จะได้ไม่ระคายเคืองต่อผิว
2. งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดที่พวกเราหรือคุณแม่จะได้พักร่าง พักผิว โดยงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ท่ามกลางอากาศร้อนจัด หรือการออกกำลังกาย หากเป็นคุณแม่สายเฮลธีก็ควรออกกำลังกายในบริเวณที่อากาศไม่ร้อนมากเกินไป อาจจะในห้องนอน และมีอากาศถ่ายเทสะดวก หากเริ่มเกิดผื่นแพ้เหงื่อตามผิวหนังควรหยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือหยุดออกกำลังกายทันที
3. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น
สมัยก่อนเคยได้ยินคนสูงอายุมักจะบ่นว่าคันผิวหนัง นั่นเป็นเพราะว่าท่านชอบอาบน้ำอุ่น จนผิวหนังมีการเปิดระบายไอน้ำออกจนผิวหนังแห้ง และเหี่ยว เกิดอาการคับยิบ ๆ นอกจากนี้ ควรงดการอบซาวน่า ก็จะช่วยลดอาการแพ้เหงื่อลงได้ สำหรับใครไม่มีอาการแพ้เหงื่อ แต่ชอบอบซาวน่า ควรอาบน้ำเย็นหลังอบซาวน่าแล้ว 5-10 นาทีเพื่อเป็นการปิดผิวหนัง อย่าอาบน้ำเย็นทันที เดี๋ยวจะเกิดภาวะช็อกจนไข้ขึ้นได้
4. สวมเสื้อผ้าระบายอากาศ
เราควรเลือกเสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี อย่างผ้าฝ้ายหรือผ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อคนเมืองร้อนเป็นพิเศษ จึงควรสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป เนื่องจากการสวมเสื้อผ้าหนา ๆ นอกจากจะเป็นการกักเก็บความร้อนภายในร่างกายแล้ว อาจทำให้เกิดผื่นแดง เป็นผื่นแพ้เหงื่อ แม้เราจะไม่เคยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนแพ้เหงื่อมาก่อนก็ตาม
อย่างไรก็ตาม อาการแพ้เหงื่อ สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย หากอาการกำเริบหรือมีอาการรุนแรงเรื่อย ๆ ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรับการรักษาอย่างเหมาะสมและตรงจุด โดยแพทย์อาจสั่งยาแก้แพ้ หรือให้เปลี่ยนกิจวัตรประจำวันบางอย่าง เพราะหากทราบถึงสาเหตุที่เกิดได้ง่ายจากพฤติกรรมที่เราใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว การป้องกันก็จะง่ายขึ้น ไม่เกิดความอาการอักเสบรุนแรงจนก่อความเสียหายต่อผิวหนัง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
8 วิธีรับมืออาการ เหงื่อออกตอนกลางคืน ของคุณแม่หลังคลอด
โรคผื่นกุหลาบ มีอาการอย่างไร โรคผื่นกุหลาบสามารถรักษาได้หรือไม่
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังคืออะไร โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง
ที่มา : Medicalnewstoday , Pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!