ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่อาจเห็นได้ว่า หลาย ๆ บ้านมักปล่อยให้ลูกเล่นโทรศัพท์ แท็บเล็ต และตามใจจนลูกจนลูกเล่นมือถือทั้งวัน ทราบไหมคะ การที่ลูกติดจอนั้นส่งผลต่อพัฒนาการเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของร่างกาย และจิตใจ หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกเล่นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตบ่อย ๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อตัวลูกได้ วันนี้ theAsianparent จะพามาดูกันว่าลูกติดมือถือ แท็บเล็ตควรแก้ไขอย่างไร ลูกอายุเท่าไหร่ให้เล่นมือถือได้ ใครสงสัยอยู่ มาติดตามกันค่ะ
ลูกอายุเท่าไหร่ให้เล่นมือถือได้
พ่อแม่คงสงสัยใช่ไหมว่าถ้าอยากให้ลูกได้เรียนรู้นิทาน ทำนองเพลงสนุก ๆ หรือการฝึกทักษะต่าง ๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือทางแท็บเล็ต ควรจะให้ลองได้ลองใช้เมื่ออายุเท่าไหร่ดี ซึ่งงานวิจัยของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กของสหรัฐอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นว่า ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มเล่นสมาร์ตโฟนคือ เด็กต้องมีอายุ 2 ปี ขึ้นไป หากให้ลูกที่อายุต่ำกว่า 2 ปีเล่นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตนั้น ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กให้ล่าช้า ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรรอจนลูกอายุ 2 ขวบ แล้วค่อยให้เขาเล่นมือถือ คุณพ่อคุณแม่อาจพาลูกทำกิจกรรมในครอบครัวมากขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของลูกได้
ลูกติดจอส่งผลเสียอย่างไร
เมื่อลูกเล่นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตนั้น ก็จะทำให้เขาจดจ่ออยู่กับหน้าจอตลอดเวลา หากปล่อยให้เขาเล่น ๆ ก็อาจส่งผลให้ลูกสมาธิสั้น หรือสายตาเสียได้ เรามาดูผลกระทบของการปล่อยลูกติดหน้าจอกันค่ะ
1. บั่นทอนศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก
ช่วงทารกจนถึง 2 ขวบ สมองของเด็กกำลังเติบโตเป็น 3 เท่า โดยมีสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกระตุ้น หากลูกน้อยอยู่กับเทคโนโลยีอย่างแท็บเล็ต สมาร์ตโฟน โน้ตบุ๊ก หรือแม้แต่หน้าจอโทรทัศน์มากเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง แถมยังมีทำให้เป็นโรคสมาธิสั้น เอาแต่ใจตัวเองมากขึ้น เพราะควบคุมตัวเองได้น้อยลงนั่นเองค่ะ
2. เด็กเคลื่อนที่น้อยลง
เมื่อเด็กอยู่กับหน้าจอมาก ๆ ก็จะทำให้เด็กเคลื่อนที่น้อยลง เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่กับการใช้เทคโนโลยี ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเด็ก ผลวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ถึงวัยเข้าเรียนมีพัฒนาการทางร่างกายล่าช้ากว่า มีผลต่อการเรียนรู้ การอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากสมาร์ตโฟนมีส่วนปิดกั้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก
3. ทำให้ตาเด็กเกิดอาการเมื่อยล้า
เมื่อเด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป ส่งผลให้เด็กใช้สายตาเพ่งดูจอสมาร์ตโฟนต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดอาการตาล้าหรืออักเสบภายในหลังได้ค่ะ นอกจากนี้ อาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าวัย หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกเพ่งหน้าจอตั้งแต่เด็ก ก็จะส่งผลให้เขาเกิดภาวะ “ตาเพ่งค้าง” ได้ ซึ่งก็จะทำให้เด็กเกิดอาการปวดหัว และตาพร่าตามมาอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกติดเกม ติดมือถือ อันตราย! วิธีเลี้ยงดูลูกอย่างไร ไม่ให้ลูกเสพติดจอ อย่าทำร้ายสุขภาพลูก
4. นอนน้อย หรือนอนดึก
เด็กที่ใช้สมาร์ตโฟนในห้องนอนของตัวเองได้ จะนอนน้อยลง เนื่องจากสามารถเล่นอุปกรณ์นั้นได้ตามใจชอบ เพราะไม่อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ส่งผลให้เด็กอดนอน และมีอาการอ่อนเพลียตามมาภายหลัง ส่งผลกระทบต่อการเรียน ทำให้ลูกหลับในห้องเรียน จนไม่มีสมาธิ และไม่มีความสุขในการไปโรงเรียนค่ะ
5. พัฒนาการด้านอื่น ๆ ช้าลง
เด็กที่ติดสมาร์ตโฟนไม่ได้ใช้เวลาที่มีพัฒนาทักษะอื่น ๆ เท่าที่ควร เช่น ไม่ได้ฝึกการใช้นิ้วหยิบจับสิ่งของ และการก้มคอมองจอสมาร์ตโฟนถือเป็นท่าผิดหลักธรรมชาติ หากปล่อยให้ลูกเล่นมือถือบ่อย ๆ ก็จะส่งผลให้พัฒนาการลูกช้าลงกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน โดยเฉพาะเด็ก 2-3 ขวบ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรกำหนดเวลาไม่ให้ลูกเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป
6. เกิดปัญหาด้านอารมณ์
การติดสมาร์ตโฟนจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก โดยเด็กอาจมีอาการหดหู่หรือกระวนกระวาย เป็นโรคสมาธิสั้น มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ หรือเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทำให้ลูกเกิดอารมณ์ร้อน หงุดหงิด จนแยกตัวออกจากสังคม บางรายอาจมีโลกส่วนตัว หรือมีเพื่อนเฉพาะในโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
7. เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรง
เด็กบางคนอาจเห็นภาพการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อบนสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตจากการ เกม หรือภาพยนตร์ที่ดาวน์โหลดใส่เครื่อง คลิปวิดีโอผ่านยูทูบ ก็อาจส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากยิ่งขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังส่งผลให้ลูกเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ เพราะสมาร์ตโฟนในปัจจุบันมีความรวดเร็ว และทันสมัย หากคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจลูก ก็จะทำให้เขาเกิดอาการหงุดหงิด จนเป็นเด็กก้าวร้าวได้
8. อาจเป็นโรคสมองเสื่อมดิจิทัล (Digital dementia)
โดยเด็กที่เป็นโรคนี้ไม่สามารถเรียนรู้หรือให้ความสนใจกับสิ่งใดได้ สาเหตุนั้นมาจากความรวดเร็วของเนื้อหาบนสื่ออย่างสมาร์ตโฟน ทำให้เด็กจดจ่อกับสิ่งรอบตัวน้อยลง รวมไปถึงลดการใช้สมองในส่วนของความจำ และอาจเป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้น
9. เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตั้งแต่เด็ก
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) จัดให้มือถือรวมถึงอุปกรณ์ไร้สายอื่น ๆ อยู่ในหมวดหมู่ของความเสี่ยงระดับ 2B (2B risk) คือ มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดมะเร็ง เนื่องจากมีการปล่อยรังสีออกจากตัวเครื่อง ดังนั้น เด็กที่ติดสมาร์ตโฟนมีความเสี่ยงที่จะได้รับรังสีที่ก่อให้เกิดมะเร็งตามไปด้วย
10. เป็นโรคอ้วน
คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทราบว่า การปล่อยให้ลูกอยู่บนหน้าจอนาน ๆ ยังส่งผลให้ลูกเป็นโรคอ้วนได้ เพราะการที่เด็กเล่นมือถือทั้งวันนั้น ก็จะทำให้ลูกอยู่กับที่ ไม่ออกไปไหน กินขนมหรือข้าวอยู่ในห้อง จนทำให้เกิดโรคอ้วน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรให้เขาเปลี่ยนท่านั่งบ่อย ๆ เพื่อผ่อนคลายร่างกาย โดนอาจให้ลูกลุกเดินบ้าง หรือหาสถานที่เล่นอย่างเหมาะสม ไม่ควรให้ลูกก้มหน้า หรือเงยหน้านอนเล่น เพราะอาจทำให้เขาเพลินจนไม่รู้ตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 วิธีแก้เด็กติดจอ ดูแลลูกอย่างไรไม่ให้ติดโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์
วิธีแก้ปัญหาลูกติดสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต
- พยายามหากิจกรรมอื่นให้เด็กทำ เพื่อลดการเล่นสมาร์ตโฟน เช่น การวาดภาพ ออกกำลังกาย กิจกรรมกลางแจ้ง โดยเน้นกิจกรรมที่ได้ขยับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- กำหนดระยะเวลาที่เด็กสามารถเล่นสมาร์ตโฟนได้ในแต่ละวันไว้ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เด็กเล่นมือถือจนเกินพอดี
- ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเพิ่มขึ้น และอาจตั้งกฎให้ใน 1 วันต่อสัปดาห์ เป็นวันงดใช้โทรศัพท์ครึ่งวัน
- งดการเล่นสมาร์ตโฟนในระหว่างการรับประทานอาหาร โดยพ่อแม่ควรทำเป็นแบบอย่างด้วย
- ไม่ควรอนุญาตให้เด็กเล่นสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตช่วงก่อนเข้านอน และไม่ควรเก็บไว้ในห้องนอนของเด็กเป็นอันเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กแอบเล่นโทรศัพท์ทั้งก่อนนอนหรือหลังตื่นนอนในทันที
คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่า การให้ลูกเล่นมือถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้ลูกอยู่บนหน้าจอโดยไม่จำกัดเวลา หรือดูแลเด็ก ก็อาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาในระยะได้ ทางที่ดีควรกำจัดเวลาในการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ และใช้เวลาทำกิจกรรมในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันพฤติกรรมการติดจอของลูกที่อาจเกิดขึ้นได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เด็กติดเกม ก้าวร้าว-ควบคุมตัวเองไม่ได้ ป้องกันและแก้ไขอย่างไรดี?
วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาด และมีพรสวรรค์ พัฒนาความสามารถของลูกให้ดียิ่งขึ้น
วิธีแก้ปัญหาลูกติดมือถือ พ่อขอแชร์ประสบการณ์ ที่เคยใช้กับลูกได้ผลมาแล้ว!!
ที่มา : taamkru, princsuvarnabhumi
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!