“การฝากครรภ์” เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์นะคะ แต่แม่ท้องคนหลายอาจมีคำถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่สามารถใช้สิทธิต่างๆ ของรัฐได้อย่าง “สิทธิประกันสังคม” เพราะแม้จะเบิกค่าฝากครรภ์ได้ แต่ก็ต้องอยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้ ทำให้คุณแม่บางคนยังคงมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างอยู่เอง วันนี้ theAsianparent จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ ประกันสังคม 2568 มาอัพเดทค่ะ

ทำไม? แม่ท้องต้องฝากครรภ์
ความสำคัญของ “การฝากครรภ์” (Antenatal care) คือ การที่คุณแม่ได้ดูแลสุขภาพตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด ซึ่งการฝากครรภ์ควรเริ่มทำทันทีเมื่อรู้ตัวว่า “ท้อง” โดยการนัดตรวจสุขภาพกับสูตินรีแพทย์เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์และเริ่มฝากครรภ์เพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ติดตามการเจริญเติบโตของลูกน้อย ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจในการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย มีคุณภาพ คุณแม่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ทารกมีพัฒนาการร่างกายที่สมบูรณ์ ปลอดจากภาวะแทรกซ้อนตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ
1 ท้อง ต้องฝากครรภ์กี่ครั้ง?
โดยปกติแล้ว จำนวนครั้งของการนัดหมายฝากครรภ์จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เริ่มต้นฝากครรภ์ สุขภาพของคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์ รวมถึงระดับความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ด้วยค่ะ ซึ่งแนวทางการฝากครรภ์ในการตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทั้งหมด 5 ครั้ง หรือที่เรียกกันว่า “การฝากครรภ์คุณภาพ” เป็นการฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์ และฝากครรภ์ครบ 5 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ ดังนี้
- ครั้งที่ 1 ฝากครรภ์ครั้งแรก อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (นัดตรวจครั้งต่อไปอีก 8 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 2 อายุครรภ์ 13 น้อยกว่า 20 สัปดาห์ (นัดตรวจครั้งต่อไปอีก 6 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 3 อายุครรภ์ 20 น้อยกว่า 26 สัปดาห์ (นัดตรวจครั้งถัดไปอีก 6 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 4 อายุครรภ์ 26 น้อยกว่า 32 สัปดาห์ (นัดตรวจครรภ์ครั้งต่อไปอีก 6 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 5 อายุครรภ์ 32-40 สัปดาห์ (ในกรณีที่ยังไม่คลอด นัดตรวจครั้งต่อไปทุก 1 สัปดาห์)

ฝากครรภ์ครั้งแรก ตรวจอะไรบ้าง?
ในการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติคุณแม่ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ และตรวจร่างกายโดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
- ซักประวัติ สูตินรีแพทย์ทำการซักประวัติสุขภาพอย่างละเอียด คือ วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โรคประจำตัว การแพ้ยา ประวัติการตั้งครรภ์ การผ่าตัด ประวัติคนในครอบครัวที่มีโรคทางกรรมพันธุ์ เช่น เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ประวัติการสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติดของคุณแม่ตั้งครรภ์และคนในครอบครัว
- ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ค่าความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ความสูงของยอดมดลูก ตรวจเต้านมและหัวนม เป็นต้น
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะ (UPT) ตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urine analysis: UA) ตรวจเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อเอชไอวี (HIV) เชื้อซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจความเข้มข้นของเลือดเพื่อคัดกรองธาลัสซีเมีย และตรวจหาหมู่เลือด Rh
- ประเมินความเสี่ยงการตั้งครรภ์ ตามแบบประเมินความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์ (Classifying form)
- ฉีดวัคซีนบาดทะยัก (Td vaccine) ในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบ
- ให้ยาบำรุงครรภ์ และประเมินความเครียด พร้อมทั้งให้คำแนะนำต่างๆ
- รับสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อให้แม่จดบันทึกอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น และนัดฝากครรภ์ครั้งต่อไป
ทั้งนี้ โรงพยาบาลบางแห่งอาจมีการตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องด้วยเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจครรภ์แฝด ตรวจดูถุงตั้งครรภ์ ตำแหน่งของรก เพศของทารก ความสมบูรณ์ของทารก โครงสร้างอวัยวะ หัวใจ จำนวนนิ้วมือนิ้วเท้า ตรวจโครงสร้างกะโหลกศีรษะ สมอง ใบหน้า ตรวจท่าทางของทารก ตรวจหาโครงสร้างที่ผิดปกติ ตรวจวัดปริมาณน้ำคร่ำ เป็นต้น

สิทธิประโยชน์ ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ ประกันสังคม
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นผู้ประกันตน (หรือคุณพ่อเป็นผู้ประกันตน) สำนักงานประกันสังคม กำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์ โดยสามารถเบิกค่าฝากครรภ์ได้ตามเงื่อนไข ดังนี้
- วงเงินรวมที่เบิกได้: 1,500 บาท
- จำนวนครั้ง: 5 ครั้ง ตามช่วงอายุครรภ์ดังต่อไปนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200 บาท
ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ ประกันสังคม รพ.รัฐ
ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ ประกันสังคม ของโรงพยาบาลรัฐจะแตกต่างกันไปตามระบบการจัดการ บางแห่งอาจรวมทุกค่าใช้จ่ายเป็นราคาเดียว บางโรงพยาบาลจะแยกค่ายา ค่าหัตถการ ค่าแพทย์ ออกจากกัน ซึ่งคุณแม่สามารถสอบถามกับทางโรงพยาบาลได้โดยตรง เพื่อคำนวณส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่มจากที่เบิกจากสิทธิประกันสังคมได้ ทั้งนี้ ตัวอย่าง** ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ ประกันสังคม รพ.รัฐ แบบคร่าวๆ มีดังนี้ค่ะ
- ค่าฝากครรภ์ รวมตลอดการฝากครรภ์ราคาประมาณ 5,000 บาท (ไม่รวมการตรวจพิเศษอื่นๆ)
- ค่าตรวจครรภ์ ครั้งละ 100 บาท โดยตรวจประมาณ 8-10 ครั้ง
- ค่ายาและวัคซีน โดยเป็นค่ายาบำรุงตลอดการตั้งครรภ์ และวัคซีนที่จำเป็น ประมาณ 1,800 บาท
- ค่าอัลตราซาวนด์ ครั้งละ 500 บาท ทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 19-22 สัปดาห์ หรือตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- ค่าตรวจเลือด:
- ครั้งที่ 1 เมื่อลงทะเบียนฝากครรภ์ ประมาณ 1,500 บาท
- ครั้งที่ 2 เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 28-30 สัปดาห์ ประมาณ 1,000 บาท
**หมายเหตุ: ข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี

ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ ประกันสังคม รพ.เอกชน
หากคุณแม่เป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิรักษาพยาบาลและฝากครรภ์ในโรงพยาบาลเอกชนตามสิทธิประกันสังคม ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด ซึ่ง แพ็กเกจฝากครรภ์โรงพยาบาลเอกชนยอดนิยม 2568 นั้นมีตั้งแต่ราคา 9,900 – 68,000 บาทขึ้นไป อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถสอบถามค่าใช้จ่ายฝากครรภ์กับทางโรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคมได้เลยค่ะ
เงื่อนไขการรับสิทธิฝากครรภ์ ประกันสังคม
ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนวันคลอด และมีขั้นตอนการเบิกค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ ประกันสังคม ดังนี้
1. เตรียมเอกสาร
- แบบคำขอประโยชน์ทดแทน (สปส. 2-01)
- สมุดฝากครรภ์ หรือใบรับรองแพทย์ ตลอดอายุครรภ์ 5 ช่วง
- ใบเสร็จรับเงินค่าฝากครรภ์
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร
2. ยื่นเอกสาร
ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือยื่นเรื่องขอเบิกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม
ที่มา : hdmall.co.th , www.medparkhospital.com , www.rama.mahidol.ac.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แม่ตั้งครรภ์ยุคใหม่ เลือกโรงพยาบาลฝากครรภ์ ยังไงให้ถูกใจ : ผลสำรวจจาก theAsianparent Insights
อาการคนท้อง ฉี่สีอะไร บ่งบอกสุขภาพแม่ท้องได้ไหม
คำถามที่แม่ท้องควรรู้! ตั้งครรภ์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ไหม ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!