รู้ไหมคะ? “มะเร็งปากมดลูก” เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ของผู้หญิงทั่วโลก ในปี 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 604,000 คน เสียชีวิตราว 342,000 คน โดยข้อมูลจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 คน หรือ 5,422 คนต่อปี และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 6 คน หรือ 2,256 คนต่อปีเลยค่ะ การเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคน … คุณแม่ตั้งครรภ์ก็เช่นกัน ที่ต้องดูแลสุขภาพ รวมถึงการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งแม่และลูก หนึ่งในคำถามที่แม่ท้องคือ ตั้งครรภ์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ไหม ? จะมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์หรือเปล่า จำเป็นแค่ไหน บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจกันค่ะ

มะเร็งปากมดลูก คืออะไร?
มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อ “HPV” หรือ Human Papilloma Virus ซึ่งติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ และเชื้อ HPV สามารถเข้าไปอยู่ในร่างกายได้โดยไม่แสดงอาการใดๆ จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อมีอาการค่อนข้างรุนแรงแล้ว เชื้อ HPV นั้นมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 6 สัปดาห์ถึง 8 เดือน โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัส HPV มักอยู่ไม่นาน (Transient Infection) และส่วนใหญ่จะหายไปภายใน 12 เดือน ส่วนการติดเชื้อไวรัส HPV แบบคงอยู่นาน (Persistent Infection) จะทำให้เซลล์เยื่อบุปากมดลูกมีโอกาสกลายรูปผิดปกติได้ โดยระยะเวลาเฉลี่ยจากการติดเชื้อ HPV จนกลายเป็นมะเร็งจะใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี
|
แม่ท้องควรรู้ มะเร็งปากมดลูก มีกี่ระยะ อะไรบ้าง?
|
ระยะที่ 1 |
มะเร็งอยู่ที่ตัวปากมดลูกเป็นหลัก |
ระยะที่ 2 |
เซลล์มะเร็งลุกลามออกไปยังช่องคลอด และด้านข้างของปากมดลูก |
ระยะที่ 3 |
เริ่มมีการแพร่ขยายไปถึงช่องคลอดและปากช่องคลอด ชิดผนังอุ้งเชิงกรานและท่อไต |
ระยะที่ 4 |
เซลล์มะเร็งลุกลามไปในกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ และอวัยวะใกล้เคียงเช่น ตับ ปอด |
ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ซึ่งอาการที่อาจพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
- เลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวผิดปกติ ตกขาวปนเลือด
- หากมะเร็งลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขาบวม ต่อมน้ำเหลืองโต ไตวาย ปัสสาวะหรือ อุจจาระเป็นเลือด
- ในระยะลุกลามมักพบอาการมีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมานานกว่าปกติ ตกขาวมีกลิ่น ปวดท้องน้อย ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
และผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็คือ คนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ มีคู่นอนหลายคน หรือกับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส หนองใน เริม มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ รวมถึงผู้ที่ไม่เคยตรวจหรือฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเลย

ทำไม? ต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก ตั้งครรภ์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ไหม
เนื่องจากวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน มะเร็งปากมดลูก คือ การฉีดวันซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV วัคซีน) ซึ่งกรณีมีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดได้ แต่ประสิทธิภาพอาจน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ และ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำควรตรวจเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
ดังนั้น ผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะที่อยู่ในช่วงวัยระหว่าง 25 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งใช่ค่ะ… คำถามที่ว่า ตั้งครรภ์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ไหม คำตอบคือ ตรวจได้ค่ะ
โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้ในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณแม่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และไม่เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกมาก่อน หรือตรวจครั้งล่าสุดนานเกินกว่า 3 ปี ซึ่งปัจจุบันการตรวจเซลล์บริเวณปากมดลูกเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินแม่ท้องที่ฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจในระหว่างการฝากครรภ์ได้ค่ะ
ข้อดีของการตรวจมะเร็งปากมดลูก ขณะตั้งครรภ์
- ตรวจพบ รักษาได้เร็ว มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ การตรวจคัดกรองช่วยให้พบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด
- ปลอดภัย ไม่กระทบลูก การตรวจมะเร็งปากมดลูก เช่น แปปสเมียร์ (Pap Smears) เป็นการเก็บเซลล์จากปากมดลูก ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ลดความเสี่ยง มะเร็งปากมดลูกอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น คลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย การตรวจพบและรักษาให้หายก่อน สามารถช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้

ตั้งครรภ์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ไหม มีวิธีการอย่างไร?
การตรวจมะเร็งปากมดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น เหมือนกับการตรวจคัดกรองของผู้หญิงปกติทั่วไปเลยค่ะ เพียงแต่อาจมีความแตกต่างที่คุณแม่ท้องต้องใส่ใจ คือ
- ช่วงเวลา: แพทย์มักแนะนำให้ตรวจในช่วงไตรมาสแรก (3 เดือนแรก) ของการตั้งครรภ์
- วิธีการ: อาจใช้แปปสเมียร์ หรือวิธีอื่นๆ เช่น การตรวจหา HPV DNA ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- ผลตรวจ: หากพบความผิดปกติ แพทย์จะติดตาม และวางแผนการรักษาหลังคลอด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก
- ประวัติสุขภาพ: หากคุณแม่มีประวัติหรือปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก เช่น ติดเชื้อ HPV มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลการตั้งครรภ์ก่อน
แม่ท้องฉีด HPV vaccine ได้ไหม?
โดยปกติแล้ววัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV vaccine) ถือว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นะคะ อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ฉีดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้วค่ะ แต่หากได้รับการฉีดวัคซีน HPV 1-2 เข็มไปแล้ว จึงตั้งครรภ์ ก็แนะนำให้ฉีดเข็มที่เหลือจนครบ 3 เข็มในช่วงหลังคลอด หรือช่วงให้นมลูก ทั้งนี้ ยังไม่พบว่าวัคซีนมะเร็งปากมดลูกมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทารกค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการแท้ง ทารกพิการ และการคลอดก่อนกำหนด จึงไม่มีข้อบ่งชี้ให้ยุติการตั้งครรภ์ในช่วงระหว่างการฉีดวัคซีนค่ะ

มะเร็งปากมดลูก รักษายังไง?
ในกรณีที่คุณแม่ต้องรักษาโรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์นั้น วิธีการรักษาอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งชนิดของมะเร็ง ความรุนแรงและระยะของมะเร็ง อายุครรภ์ และความยินยอมในการรักษาของคุณแม่ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้ก่อนเลือกวิธีรักษา ตั้งแต่การใช้ยา การฉายแสง การทำเคมีบำบัด และการผ่าตัด
|
วิธีการรักษา มะเร็งปากมดลูก
|
การผ่าตัด(Surgical Treatment) |
ส่วนใหญ่ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 (บางราย) |
รังสีรักษา(Radiation Therapy) |
รักษาได้กับทุกระยะของมะเร็งปากมดลูก |
เคมีบำบัด(Chemotherapy) |
รักษามะเร็งในระยะลุกลามมาก หรือมีการกลับเป็นซ้ำ |
การรักษาร่วม(Combined Treatment) |
เช่น การให้ยาเคมีบำบัดพร้อมกับรังสีรักษา ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม รักษาด้วยเคมีบำบัดก่อนการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน การให้รังสีรักษาหลังการผ่าตัด และการให้ยาเคมีบำบัดก่อนหรือหลังรังสีรักษา เป็นต้น |
ทั้งนี้ การรักษามะเร็งในระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคุณแม่และเด็กมาเป็นอันดับแรก หากอาการไม่รุนแรงมาก หรืออายุครรภ์มากใกล้กำหนดคลอด แพทย์อาจรอให้คุณแม่คลอดก่อน หรือบางกรณีอาจจำเป็นต้องเร่งให้ทารกคลอดก่อนกำหนดเพื่อเริ่มการรักษาให้เร็วที่สุด
หากผลการรักษาจากการผ่าตัดและการรักษาในเบื้องต้นออกมาไม่ดี แพทย์อาจจำเป็นต้องเพิ่มระดับและความเข้มข้นในการรักษา เช่น การฉายแสงและการให้ยาเคมีบำบัด แต่ทั้งสองวิธีนี้อาจส่งผลต่อทารกได้ โดยเฉพาะการใช้ยาเคมีบำบัดที่อาจทำให้อวัยวะทารกไม่สมบูรณ์ เกิดภาวะสติปัญญาบกพร่อง พัฒนาการช้า และทำให้แท้งได้ ส่วนการผ่าตัดก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
ในกรณีของคุณแม่ที่กำลังให้นมลูกระหว่างเป็นมะเร็งยังสามารถให้นมลูกต่อไปได้อย่างปลอดภัย เพราะเซลล์มะเร็งมักไม่ส่งผ่านทางน้ำนม ทารกจึงสามารถกินนมแม่ได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าคุณแม่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยาคีโม ไม่ควรให้ทารกดื่มนมแม่ค่ะเพราะอาจเป็นอันตรายได้

มะเร็งปากมดลูกนั้นมีความร้ายกาจแต่ก็สามารถป้องกันก่อนได้ ด้วยการตรวจมะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้และปลอดภัย ทั้งยังช่วยให้คุณแม่ได้ดูแลสุขภาพ ลดความเสี่ยงต่อโรค เพื่อการตั้งครรภ์ที่ราบรื่น และสุขภาพที่ดีของทั้งแม่และลูก หวังว่าบทความนี้จะช่วยคลายความสงสัยว่า ตั้งครรภ์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ไหม และช่วยให้คุณแม่ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงและความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อความมั่นใจและปลอดภัยตลอดการตั้งครรภ์นะคะ
ที่มา : www.bangpakok3.com , www.vejthani.com , raknareeclinic.com , www.praram9.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง อันตรายไหม? มีสาเหตุจากอะไร?
ตกขาวสีเหลือง ในช่วง “ตั้งครรภ์” อันตรายไหม? แก้ไขยังไงดี
วิธีดูแลคนท้องอ่อน คู่มือสำหรับคุณพ่อดูแลคุณแม่ ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!