ล้อเลียน เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ การพูดจาหยอกล้อลูก ๆ เพื่อสร้างเสียงหัวเราะหรือความสนุกสนาน เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หากล้อเลียนลูก ๆ แรงจนเกินไป หรือนำลูก ๆ มาล้อในทางที่ไม่เหมาะสม ก็อาจสร้างบาดแผลในใจเด็กได้ จะมีเรื่องไหนบ้างนะ ที่ไม่ควรนำมาล้อเล่นกับเด็ก ๆ ติดตามอ่านได้จากบทความนี้เลย !
ล้อเลียน แบบไหน ไม่ควรทำ
พ่อแม่หลาย ๆ คนชอบหยอกล้อลูก ๆ เป็นประจำเพื่อความสนุกสนาน หรือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ภายในบ้าน แต่บางครั้งการหยอกล้ออาจนำมาสู่ความร้าวฉาน ทำให้เด็กเครียด โกรธ เป็นซึมเศร้า หรือมี self-esteem ต่ำได้ ซึ่งเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำมาล้อเด็ก ๆ นั้น มีดังนี้
1. รูปร่าง น้ำหนัก
การล้อเลียนเรื่องรูปร่าง น้ำหนัก หรือหุ่นของเด็ก ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ และเผลอ ๆ เด็กอาจจะไม่กล้าออกไปพบใครเพราะอายในรูปร่างของตัวเอง แทนที่จะล้อเด็กเพื่อความสนุก หรือเพื่อสร้างเสียงหัวเราะ คุณแม่ควรสอนให้น้อง ๆ มีความมั่นใจ กล้าแต่งตัวในแบบที่ชอบไม่ว่ารูปร่างของเขาจะแบบไหน อย่างไรก็ตาม หากเด็ก ๆ มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ อาจทำให้เป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานได้ คุณแม่จึงควรช่วยเด็ก ๆ ควบคุมการรับประทานอาหาร หรือชวนให้เด็กออกกำลังกายกับคุณแม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เด็กมีสุขภาพดีแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ๆ ได้อีกด้วย
2. ทักษะการเล่นกีฬา
เด็ก ๆ หลายคนชอบเล่นกีฬา หรือไม่ก็เป็นนักกีฬาประจำโรงเรียน หากวันไหนคุณแม่บังเอิญได้ไปดูเด็ก ๆ ซ้อมหรือลงแข่ง ก็ไม่ควรเอาทักษะด้านกีฬาของเด็กมาล้อ หรือไม่ควรพูดตำหนิการเล่นกีฬาของเด็กในทางขบขัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวว่าเด็ก ๆ ที่โดนพ่อแม่ล้อเลียนเรื่องทักษะด้านกีฬา มักจะรู้สึกว่าตัวเองโดนดูถูก หากคุณพ่อคุณแม่มองว่าน้อง ๆ ยังขาดทักษะบางอย่างที่จำเป็น ก็ควรขอให้โค้ชช่วยฝึกเด็กเพิ่ม ไม่ควรไปล้อเลียนเด็ก เพราะอาจทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจ จนไม่อยากเล่นกีฬาอีกต่อไปก็เป็นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกไม่กล้าแสดงออก ทำอย่างไรดีลูกขี้อาย มาเสริมสร้าง Self-Esteem ให้ลูกกัน
ไม่ควรล้อเลียนหรือเอาลูกไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะเด็กแต่ละคน เก่งแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป (ภาพจาก shutterstock.com)
3. เรื่องเรียน หรือเรื่องวิชาการ
การพูดกระตุ้น ชักชวน หรือสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กทำการบ้าน หรืออ่านหนังสือ เป็นสิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้ แต่ไม่ควรเอาเรื่องเกรด หรือผลการเรียนเด็ก ๆ มาพูดล้อ หรือนำเด็กไปเปรียบเทียบกับลูกคนข้างบ้านหรือญาติ ๆ หากผลการเรียนเด็กออกมาไม่เป็นตามที่เราคาดหวัง ก็ไม่ควรโมโหหรือตีลูก ๆ สิ่งที่คุณแม่ควรทำ คือหันมาช่วยเด็กแก้ไขปัญหา หากเด็กยังขาดทักษะ ก็ควรให้ความช่วยเหลือเด็ก โดยอาจจะส่งเด็กไปเรียนพิเศษ หรือติวให้เด็ก ๆ เพิ่ม
4. บุคลิก และนิสัย
หากลูก ๆ เป็นเด็กเงียบ ๆ ขี้อาย หรือเก็บตัว ก็ไม่ควรนำเรื่องนี้มาล้อเด็ก ๆ พูดจาถากถาง หรือเอาคนอื่นมาเปรียบเทียบ คุณแม่ควรสอนให้เด็กยอมรับในลักษณะนิสัยของตนเอง และค่อย ๆ ช่วยให้เด็กปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ โดยอาจจะให้เพื่อน ๆ หรือญาติ ๆ มาเล่นที่บ้าน เพื่อให้เด็กรู้สึกไม่อึดอัดจนเกินไป การมีนิสัยขึ้อายหรือชอบอยู่คนเดียวไม่ใช่สิ่งที่แปลก เพียงแต่คุณแม่ต้องสอนให้เด็กปรับตัว เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้ไม่ลำบาก เมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านร่วมกับคนอื่น ๆ
5. เรื่องความฉลาด
เรื่องความฉลาดหรือความถนัด เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรนำมาพูดหยอกล้อเด็ก ๆ และไม่ควรนำลูก ๆ ไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะเด็กแต่ละคน ล้วนมีความถนัด หรือเก่งในเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป การที่ลูกของเราไม่เก่งในสิ่ง ๆ หนึ่ง เขาก็อาจจะเก่งในสิ่งที่คนอื่นไม่ถนัด แทนที่คุณแม่จะมัวมานั่งเสียใจที่ลูกไม่ได้เก่งเหมือนคนอื่น ควรหันมาสนับสนุนในสิ่งที่เด็กชอบหรือถนัด เพื่อที่เขาจะได้พัฒนาทักษะจนเก่งและโดดเด่นในด้านนั้น ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีทำให้ลูกเลิกงอแง เคล็ดลับทำให้ลูกเงียบได้ราวกับร่ายมนต์
ไม่ควรล้อเรื่องรูปร่างหรือหุ่นของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ (ภาพจาก freepik.com)
6. สิ่งที่เด็ก ๆ กลัว
สิ่งที่เด็กกลัว อาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ใหญ่ แต่ด้วยวัยของเด็กที่ยังไม่รู้จักอะไรมากนัก จึงทำให้เด็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนจริงและไม่จริง หากเด็กรู้สึกกลัวอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ และร้องไห้งอแง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรล้อน้อง ๆ หรือขำสะใจ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เด็กหายกลัว ยังอาจทำให้เด็กรู้สึกกลัวมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่เราควรทำคือปลอบเด็ก ๆ ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย และช่วยให้เขาเอาชนะความกลัวให้ได้ เพื่อที่ความกลัวจะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตเมื่อเขาโตขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : หยอกล้อเด็ก แหย่เด็ก พฤติกรรมสนุกของผู้ใหญ่ แต่ทำร้ายเด็กไม่รู้ตัว!!
ทำไมจึงไม่ควรล้อเด็ก ๆ
การหยอกล้อเด็ก ๆ ด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถช่วยให้กระชับสัมพันธ์กับเด็ก ๆ และสร้างเสียงหัวเราะภายให้ในครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตเห็นว่าเด็กน้ำตาซึม หน้าบึ้ง มีท่าทีที่เปลี่ยนไป ก็แสดงว่าลูก ๆ ไม่ได้สะดวกใจให้เราหยอกล้อในเรื่องนั้น ๆ และแม้ว่าบางครั้ง การหยอกล้อด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จะเป็นเรื่องที่ทำกันได้ แต่ลึก ๆ แล้ว เราไม่มีทางรู้ได้ว่า เด็กสะดวกใจที่จะโดนหยอกล้อแบบนั้นหรือเปล่า เพราะเด็กที่โตแล้วบางคน ก็ไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น ฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดคือการไม่หยอกล้อเด็ก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองทำร้ายจิตใจของลูก ๆ โดยที่ไม่รู้ตัวนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ลูกขี้โมโห ! เลี้ยงยังไงดี จะรับมือกับลูกขี้โมโหได้ยังไงบ้าง
ลูกเป็น Introvert เลี้ยงยังไงดี ให้ได้ใกล้ชิดและเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น
5 พฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกติดเกม ป้องกันก่อนที่จะสาย
ที่มา : rd.com , qz.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!