5 พฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกติดเกม ป้องกันก่อนที่จะสาย การติดเกม หรือติดโซเชียลมีเดียในปัจจุบันสามารถพบได้มากตั้งแต่เด็กอายุ 5-18 ปี หรือเรียกได้ว่าตั้งแต่วัยเข้าโรงเรียนไปจนถึงวัยก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งอาการติดเกมของลูกนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงก่อนที่จะเกิดขึ้นได้ ไปดูกันค่ะว่ามีวิธีไหนบ้าง กับ 5 พฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกติดเกม ป้องกันก่อนที่จะสาย
ทำไมลูกถึงติดเกม
เกม เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์บางอย่างของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เพื่อความบันเทิง เพิ่มพูนทักษะ เรียนรู้วิธีการ ทดลอง หรือจำลองสถานการณ์ เป็นต้น โดยผู้สร้างเกมนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดผู้เล่นเข้าสู่อัลกอริทึม (Algorithm) ที่เขาสร้างขึ้น พร้อมกับสร้างภารกิจ หรือแรงบันดาลใจในการดึงดูดให้ผู้คนมาหลงใหล ดังนั้นเกมจึงกลายเป็น “สิ่งเสพติด” ที่กระตุ้นสมอง และพฤติกรรมของเด็ก ๆ เพื่อให้ได้รับรางวัล หรือคำชื่นชมหลังจบภารกิจบางอย่าง นอกจากนี้ การที่เกมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นการจำลองสถานการณ์ และการออนไลน์ หรือการเล่นที่สามารถตอบโต้กันได้แบบเรียลไทม์ ส่งผลทำให้ผู้เล่นติดอยู่กับเกมได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด
อาการ และผลเสียของลูกที่มีพฤติกรรมติดเกม
ถึงแม้ว่าการติดเกมของเด็ก ๆ นั้นจะยังไม่มีผลการวิจัย หรือการระบุจากวงการแพทย์อย่างเป็นทางการว่าเป็นโรค แต่การที่เด็ก ๆ มีพฤติกรรมติดเกมมากเกินไปนั้นก็ส่งผลเสียร้ายแรงต่อเด็กเป็นจำนวนมาก โดน อาการ และผลเสียของลูกที่มีพฤติกรรมติดเกม มีดังต่อไปนี้
- หงุดหงิดง่าย : เมื่อเด็กมีอาการติดเกม เมื่อเขาถูกห้าม หรือไม่ได้เล่นนั้น พวกเขาจะแสดงอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย และอาจก้าวร้าวใส่ผู้ปกครอง หากพวกเขาไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ
- อดหลับ อดนอน : เด็กในวัยกำลังเจริญเติบโต ต้องการการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน แต่การที่เด็กมีพฤติกรรมที่ติดเกม พวกเขาอาจขาดการนอนหลับได้ ซึ่งส่งผลทำให้พวกเขามีพัฒนาการที่ล่าช้า หรืออาการป่วยอย่างอื่น
- ขาดการออกกำลังกาย : เด็กในวัยกำลังเจริญเติบโต นอกจากอาหาร การนอนหลับแล้ว การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยให้พวกเขาโตตามเกณฑ์
- ไม่มีสังคม : เด็กที่มีพฤติกรรมติดเกมส่วนใหญ่มักเป็นคนชอบเก็บตัว ชอบอยู่ห่างจากคนอื่น ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และเพื่อน ๆ ถึงแม้ว่าการเล่นเกมของพวกเขาจะให้ได้พบปะผู้คนแปลกหน้ามากมาย แต่สำหรับการใช้ชีวิตจริงนั้นพวกเขาไม่สามารถเข้ากับคนอื่น หรือสังคมความเป็นจริงได้
- เสียการเรียน : ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อทางร่างกาย และจิตใจของเด็ก พวกเขาจะนำเวลาที่ต้องเรียน หรือทำการบ้านไปใช้ในการเล่นเกมผ่านภารกิจต่าง ๆ จนทำให้ผลการเรียนของพวกเขาตกลงได้
- พูดโกหก : การพูดโกหก หรือหลอกลวงผู้ปกครองในช่วงหลังมักพบบ่อยตามข่าวรายวัน ที่พบว่าเด็ก ๆ ได้นำบัตรเครดิต หรือขโมยเงินเพื่อไปเติมเงินในเกม หรือในบางครั้งอาจนำไปสู่การหลอกลวงผู้อื่น เพื่อนำเงินไปใช้ในเกมอีกด้วย
บทความที่น่าสนใจ : วิธีทำให้ ลูกโตตามเกณฑ์ เคล็ด (ไม่) ลับที่บ้านไหนก็สามารถทำตามได้
5 พฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกติดเกม
หากการที่เรานั้นสามารถปกป้องลูกของเราจากสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อพวกเขาได้ เราจำเป็นที่จะต้องทำ การตัดไฟตั้งแต่ต้นลมนั้นยังดีกว่าวัวหายแล้วล้อมคอก เรามาลองดูกันดีกว่าค่ะว่ามีวิธีไหนบ้างสำหรับ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกติดเกม
1. สอนพวกเขาตั้งแต่ยังเด็ก
ในยุคของเทคโนโลยีอย่างในปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะไม่ให้เด็ก ๆ เข้าถึงเทคโนโลยี เพราะในบางครั้งการที่ลูกของเราได้ออกสู่สังคมในโลกกว้าง พวกเขาจะได้เห็น และได้สัมผัส สิ่งเดียวที่คุณจะทำได้คือ สอนให้พวกเขารู้จักคุณและโทษของมัน นอกจากนี้คุณยังสามารถให้พวกเขาเล่นเกมได้ แต่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หรือสอดแทรกกิจกรรมออฟไลน์ให้พวกเขาด้วย เพราะพวกเขาจะได้ไม่ติดเกมในมือถือมากจนเกินไป สอนให้พวกเขามีความสุขกับกิจกรรมที่คุณสร้างขึ้น มากกว่าการที่เขาสนุก และเพลิดเพลินไปกับเทคโนโลยีสุดล้ำจนกลายเป็นเสพติดในที่สุด
2. ใช้เกมเป็นรางวัล
บางครั้งหากคุณจะไม่ให้เด็ก ๆ เล่นเกมเลยนั้นก็อาจเป็นการทำร้ายเขาทางอ้อม คุณควรใช้เกมที่มีอยู่ในทางที่ถูกต้องอย่างการเป็นรางวัล เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เขาทำการบ้าน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับวัยของเขาจริง ๆ แต่วิธีนี้อาจเป็นประโยชน์เพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น คุณควรเปลี่ยนรางวัลเป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์กับครอบครัว อาทิ การออกไปทานข้าวนอกบ้าน การไปท่องเที่ยว หรือแม้แต่การทำข้อแลกเปลี่ยนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเล่นเกม เพื่อผลที่จะเกิดในระยะยาว วิธีนี้เป็นพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกติดเกมที่เรียกได้ว่า ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามนั่นเอง
บทความที่น่าสนใจ : พาลูกเที่ยว กับ 10 สถานที่แบบออนไลน์ผ่าน Virtual Tour
เปลี่ยนการให้รางวัลเป็นการออกไปทานข้าวนอกบ้าน การไปท่องเที่ยว หรือแม้แต่การทำข้อแลกเปลี่ยนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเล่นเกม
3. เพิ่มเวลาเล่น แบบที่พวกเขาไม่รู้ตัว
วิธีนี้เป็นพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกติดเกมแบบที่คุณสามารถควบคุมเวลาเล่นของพวกเขาได้ อาจฟังดูแปลกไปหน่อยสำหรับวิธีนี้ แต่สำหรับผู้ใหญ่อย่างเราวิธีนี้เรามักพบได้บ่อย ๆ โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน นั่นก็คือ การที่คุณตั้งเวลาในการเล่นเกมของพวกเขา โดยเผื่อเวลาจริงไว้แล้ว เช่น หากคุณกำหนดว่าให้พวกเขาเล่นได้เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่คุณบอกพวกเขาไปตามตรง คุณจะโดนขอเวลาเพิ่มเป็นแน่ แต่ถ้าคุณลองบอกพวกเขาว่า 45-50 นาที แล้วหละก็ การที่คุณให้พวกเขานั่งต่ออีกสัก 10-15 นาที แค่นี้พวกเขาก็ดีใจมากแล้ว
4. อย่าซื้อ หรือให้เขาเป็นเจ้าของเครื่องเล่นเกม ก่อนถึงวัย
ผลการศึกษาหนึ่งพบว่า เด็กในวัย 8 ปี จำนวน 4 ใน 5 คนที่ได้เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือที่อัดแน่นไปด้วยเกม หรือเครื่องเล่นเกมเป็นของตัวเองนั้นมีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมการติดเกมมากกว่าเด็กที่ไม่มีเครื่องเล่นเกมเป็นของตัวเอง โดยการที่พวกเขาได้มานั้นทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถควบคุมเวลาในการเล่นของพวกเขาได้ แต่สำหรับในยุคปัจจุบันที่เกมสามารถเข้าสู่ตัวของเด็ก ๆ ได้จากทุกที่และทุกทาง คุณควรที่จะให้เกม หรือเครื่องเล่นเกมในเวลาที่เหมาะสม เพื่อทำให้พวกเขาไม่ติดเกมมากจนเกินไป
5. อย่ากดดันพวกเขามากเกินไป
หลายบ้านที่ไม่ให้เด็ก ๆ เล่นเกมเลย พวกเขาไม่ได้สัมผัสความรู้สึกว่าการเล่นเกมแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร แต่ทำได้เพียงทราบจากปากของผู้ปกครองว่ามันไม่ดี การที่คุณเข้มงวดกับพวกเขาจนเกินไป อาจทำให้เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัวที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ในบางครั้งคุณอาจจะต้องปล่อยให้พวกเขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง
สำหรับการที่เด็ก ๆ มีพฤติกรรมเสี่ยงติดเกมนั้นในปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจมากนัก ด้วยที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เราที่เป็นผู้ปกครองก็ไม่สามารถหยุดได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการที่เราจะต้องดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด บอกคุณและโทษของเกมให้พวกเขาได้รู้ และสอดแทรกกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อให้พวกเขาไม่ติดเกมมากจนเกินไป อีกทั้งคุณก็ไม่ควรกดดัน หรือเข้มงวดมากเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคุณและลูกได้ ลองนำวิธีของเราไปปรับใช้ดูนะคะ เราเชื่อว่าเด็ก ๆ จะเข้าใจว่าสิ่งที่คุณทำในวันนี้ดีต่อพวกเขาอย่างไร เมื่อพวกเขาโตขึ้น
บทความที่น่าสนใจ :
อาหารที่ควรเลี่ยง กับเด็กที่เป็นเบาหวานประเภท 1 และ 2
สอนลูกพับกระดาษ ทักษะโอริกามิสอนลูกให้มีสมาธิ
ที่มา : focusonthefamily, raisesmartkid
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!