ท้องเราถือเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย เพราะนอกจากเด็ก ๆ จะได้รับสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ทางสายรกแล้ว ก็ยังไม่โดนยุงหรือแมลงกัดต่อย แถมอุณหภูมิในท้องเรา ก็ถือเป็นอุณหภูมิที่เหมาะกับร่างกายของเด็ก ๆ แต่เมื่อเด็กออกมาจากท้องของเรา เขาจะต้องเจอกับอากาศโดยรอบ หรืออุณหภูมิที่อาจจะร้อนไปหรือเย็นไปสำหรับเขา ซึ่งก็อาจทำให้เด็ก ๆ ไม่สบายหรือป่วยได้ เราจะรู้ได้ยังไง อุณหภูมิ แบบไหน ที่เหมาะกับเด็ก แบบไหนเรียกว่าร้อนไป หรือหนาวไป เดี๋ยวเราจะมาเล่าให้ฟัง
อุณหภูมิรอบบ้านในแต่ละฤดูสำหรับลูกน้อย
ในแต่ละช่วงฤดู คุณแม่ควรรักษาและปรับอุณหภูมิบ้านให้เหมาะกับเด็ก ๆ ดังนี้
1. ฤดูร้อน
แม้ว่าอากาศช่วงนี้จะร้อนเป็นพิเศษ แต่คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องปรับอุณหภูมิรอบ ๆ บ้านให้หนาวจนเกินไป เพราะเด็กอาจจะป่วยได้ ทั้งนี้ หากอากาศในบ้านเย็นจัด และเด็กต้องออกไปเผชิญกับอากาศร้อนข้างนอกแบบกะทันหัน ก็อาจทำให้ร่างกายเด็กปรับตัวกับอากาศไม่ทัน ซึ่งโดยปกติแล้ว ในหน้าร้อน คุณแม่ควรรักษาอุณหภูมิในบ้านให้อยู่ที่ 22 องศาเซลเซียลจะดีที่สุดค่ะ หรืออาจจะปรับให้สูงกว่านั้นเล็กน้อยก็ได้ แต่ไม่ควรจะต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียลนะคะ
อุณหภูมิ ห้อง สำหรับเด็กแรกเกิด ไม่ควรต่ำกว่า 19 องศา เพราะอาจทำให้เด็กป่วยได้ (ภาพจาก shutterstock.com)
2. ฤดูหนาว
เมื่อเข้าสู่หน้าหนาว คุณแม่หลายคนชอบใจกัน เพราะไม่ต้องเปิดแอร์บ่อยให้เปลืองค่าไฟ แถมหากอากาศหนาวเกินไป ก็สามารถใส่เสื้อกันหนาวหรือสเวตเตอร์ให้เด็ก ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรรักษาอุณหภูมิในบ้านให้อยู่ที่ 23-24 องศา เซลเซียส เพื่อให้เด็ก ๆ ไม่รู้สึกหนาวหรือร้อนเกินไป และในช่วงกลางคืน ก็สามารถลดอุณหภูมิลงได้เล็กน้อย แต่ก็อย่าลืมห่มผ้าให้เด็ก ๆ ด้วยนะคะ
3. ฤดูฝน
ในช่วงที่ฝนตก อากาศอาจจะเย็นสบาย แต่ว่าช่วงหน้าฝน ก็ถือว่าเป็นช่วงที่อากาศแปรปรวนบ่อย บางทีช่วงกลางวัน อากาศอาจจะร้อนมาก แต่ในตอนกลางคืน อากาศกลับเย็นสบาย และในตอนที่ฝนตก รอบ ๆ บ้านก็อาจมีความชื้นเพิ่มขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรรักษาอุณหภูมิห้องหรือรอบ ๆ บ้านให้อยู่ที่ 19-22 องศาเซลเซียสจึงจะเหมาะที่สุดค่ะ หากช่วงไหนที่อากาศหนาวเกินไป ก็อย่าลืมปิดหน้าต่างนะคะ
จะรู้ได้ยังไงว่าลูกร้อน หรือ หนาว
วิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้เรารู้ได้ว่าลูกร้อนไป หรือหนาวไป คือการตรวจดูร่างกายของลูก โดยอาจจะเป็นดูว่าหู หรือหน้าอก ของเด็ก มีเหงื่อออกหรือเปล่า ถ้าเด็กมีเหงื่อออก ก็แสดงว่าเด็กร้อนเกินไป คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้เด็กเหงื่อออกนาน เพราะอาจทำให้ร่างกายเด็กขาดน้ำ หากเห็นว่าเด็กเริ่มรู้สึกร้อน ก็ควรปรับลดอุณหภูมิห้องลง เพื่อให้ความเย็นแก่เด็ก
ทั้งนี้ คุณแม่ควรสังเกตดูด้วยว่ามือของเด็กเย็นเกินไปหรือเปล่า ถ้าเด็กมือเย็น อาจเป็นไปได้ว่าเด็กหนาว อย่างไรก็ตาม บางครั้ง การที่เด็กมือหนาว ก็อาจเป็นเพราะระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายเด็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจจะไม่ได้แปลว่าเด็กหนาว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่รู้สึกว่าอุณหภูมิในห้องหนาวเกินไป ก็ให้หาผ้าห่มมาห่มให้เด็ก ๆ ได้ เพราะถ้าเราหนาว ก็เป็นไปได้ว่าเด็ก ๆ จะรู้สึกหนาวเหมือนกับเรา
บทความทีเกี่ยวข้อง : ทารกนอนบิดตัว เกิดจากอะไร ส่งผลเสียต่อสุขภาพลูกน้อยหรือไม่?
อุณหภูมิ ห้อง สำหรับเด็กแรกเกิด (ภาพจาก shutterstock.com)
ทำอย่างไรให้ลูกน้อยหลับสบายและปลอดภัย
บางทีอากาศแต่ละวันก็ผกผันแตกต่างกันออกไป ช่วงกลางวันอากาศอาจจะร้อนมาก ส่วนตอนกลางคืน อากาศก็อาจจะหนาวมาก เรามาดูข้อแนะนำในการดูแลเด็ก ๆ ในระหว่างวันกันค่ะ
- ช่วงกลางคืน เป็นช่วงที่เด็กควรได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งอากาศเย็น ๆ จะช่วยทำให้เด็กหลับได้นานและไว โดยอุณหภูมิที่เหมาะกับเด็ก ๆ ในช่วงเวลานี้ คือ อุณหภูมิ 19-21 องศาเซลเซียส
- ในช่วงเวลากลางวัน คุณแม่ไม่ควรปรับอุณหภูมิห้องบ่อยจนเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายเด็กปรับตัวไม่ทัน จนเด็กไม่สบาย
- หากสังเกตว่าเด็ก ๆ เหงื่อออก ก็ลองดูว่าเสื้อผ้าของเด็กหนาเกินไปไหม แต่หากมือของเด็กเย็นมาก ก็อาจเป็นไปได้ว่าเด็กหนาว ให้หาผ้ามาห่มให้เด็กได้ค่ะ
- หากเด็กไม่สบายหรือเป็นไข้ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าให้เด็กหลายชั้น เพราะช่วงที่ป่วยอุณหภูมิในร่างกายเด็กจะสูงขึ้น
- หากเห็นว่าเด็ก ๆ เริ่มกระสับกระส่าย แก้มแดง ให้เพิ่มความเย็นห้อง เพราะเด็กอาจกำลังรู้สึกร้อน
- ไม่วางของเล่น หรือหมอนไว้ในเปลเด็กเยอะจนเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กร้อนและอึดอัด
- หากสังเกตว่าเด็กชอบนอนแบบไม่มีผ้าห่ม ก็ไม่ควรห่มผ้าให้เด็ก
- ไม่ควรห่อตัวทารกหนาเกินไป เพราะจะทำให้เด็กอึดอัดและร้อนได้
- หากอยากประหยัดไฟ ให้เปิดพัดลมแทน เพราะพัดลมก็ช่วยให้ห้องเย็นขึ้นได้เช่นเดียวกัน แถมยังไม่ทำให้ห้องเย็นเกินไปอีกด้วย
- ให้คุณแม่นอนห้องเดียวกับน้อง ๆ เพราะจะได้คอยดูแลและสอดส่องหากเกิดอันตรายขึ้นกับลูก ๆ
- ให้เด็กนอนหงายจะดีที่สุด เพราะเป็นท่านอนที่สบายสำหรับเด็กแรกเกิด
การนอนหลับ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็ก เพราะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กเจริญเติบโต ไม่น้อยไปกว่าการรับประทานอาหารหรือการดื่มนมแม่เลย หากคุณแม่รักษาอุณหภูมิโดยรอบของเด็ก ๆ ให้เหมาะสม ไม่หนาวไป หรือร้อนไป ก็จะช่วยให้เด็กหลับสบาย แถมคุณแม่ก็ไม่ต้องตื่นมาดูแลเด็ก ๆ ตอนกลางคืนอีกด้วย
ที่มา : paremting.firstcry
บทความทีเกี่ยวข้อง :
ภาวะนอนไม่หลับในเด็ก ลูกไม่ยอมนอน ทำอย่างไรดี
6 วีธีปราบเด็กไม่ยอมนอน เด็กดื้อไม่ยอมนอนต้องลองมาเจอแบบนี้ดูบ้าง
ทำไมลูกนอนกรน เด็กนอนกรน เกิดจากสาเหตุอะไร?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!