อาการเมนจะมา สัญญาณของประจำเดือน ที่คุณผู้หญิงมักเผชิญ แต่ผู้ชายอาจไม่ค่อยเข้าใจ เป็นอาการของ PMS ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาการที่พบได้บ่อย เช่น ปวดท้อง, หงุดหงิดง่าย, อยากอาหาร หรือร้องไห้ง่าย เป็นต้น อาการเหล่านี้อาจรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้มาก การเรียนรู้วิธีการรับมือจึงสำคัญ
อาการเมนจะมา หรือ PMS คืออะไร
“PMS (Premenstrual Syndrome)” หรือ “อาการผิดปกติก่อนประจำเดือนมา” เป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลต่ออารมณ์, จิตใจ และร่างกาย เช่น มีความเครียด, ร้องไห้ง่าย, เจ็บเต้านม และหงุดหงิดง่าย เป็นต้น อาการเหล่านี้จะพบได้ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนของเพศหญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และอาการมักจะค่อย ๆ บรรเทาลงเมื่อประจำเดือนมา เป็นกลุ่มอาการที่พบได้เป็นปกติ แต่สามารถส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้หญิงได้พอสมควร
สาเหตุของอาการก่อนประจำเดือนมา
กลุ่มอาการ PMS มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงไปของระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ “เอสโตรเจน (Estrogen)” และ “โปรเจสเตอโรน (Progesterone)” ซึ่งถือเป็นสาเหตุหลัก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสื่อประสาทในสมองเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ส่งผลต่อระดับอารมณ์ได้, และปัญหาความเครียด หรืออาการซึมเศร้า เป็นต้น ปัจจัยบางอย่างสามารถส่งผลให้อาการ PMS รุนแรงขึ้นได้ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ, การใช้สารเสพติด หรือมีความเครียดมากจนเกินไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีนับประจำเดือน นับวันแรกและวันสุดท้ายตอนไหนเรามีคำตอบ
วิดีโอจาก : Olarik Musigavong
อาการก่อนมีประจำเดือน มีอะไรบ้าง
เมื่อคุณผู้หญิงกำลังจะเป็นประจำเดือน มักจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ทั้งทางร่างกาย และสภาวะอารมณ์ จิตใจ ซึ่งหลายอาการสามารถสังเกตได้ชัดเจน ดังนี้
- ด้านอารมณ์ และจิตใจ : อารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย หงุดหงิดง่าย, มีความเครียดมากขึ้น, ร้องไห้ง่าย รู้สึกเศร้ากับเรื่องต่าง ๆ ง่ายขึ้น, มีความกังวล ไม่สบายใจ, ไม่มีสมาธิ, ไม่อยากพบเจอใคร, รู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับ และรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น เป็นต้น
- ด้านร่างกาย : มีความอ่อนล้า เหนื่อยง่าย, อาจเกิดอาการบวมน้ำ, ทานอาหารเยอะจนน้ำหนักเพิ่มขึ้น, เจ็บตึงบริเวณเต้านม, สิวขึ้นง่าย, ปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ และข้อต่อ, ปวดท้อง, ปวดศีรษะ และท้องเสีย เป็นต้น
อาการก่อนประจำเดือนแบบไหนที่ควรพบแพทย์
อาการช่วงก่อนมีประจำเดือน สามารถส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ หากพบว่ารบกวนมากเกินไป จนไม่สามารถควบคุมได้ หรือกลุ่มอาการรุนแรงขึ้น ไม่หายไปตามเวลาที่เหมาะสม สามารถเข้าพบแพทย์ได้ นอกจากนี้ยังมีอาการที่รุนแรง คือ “กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน หรือ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder)” ได้แก่
- รู้สึกเศร้าง่าย จนสิ้นหวัง มีความท้อแท้
- มีความเครียดมากเกินไป หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย
- อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ควบคุมไม่ได้
- ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง มีอาการเมินเฉย
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถทำกิจกรรมใด ๆ ได้
อาการที่รุนแรงเหล่านี้พบได้ในช่วง 6 วันก่อนประจำเดือนมา และจะหายไปได้เอง แต่หากไม่หาย หรือส่งผลต่อชีวิตประจำวันมากจนไม่สามารถรับมือได้ ก็สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรับคำแนะนำได้เช่นกัน
อาการคนท้อง VS ก่อนมีประจำเดือน ต่างกันอย่างไร
คุณผู้หญิงอาจมีความกังวล และความสับสนว่าตนเองแค่กำลังจะมีประจำเดือน หรือมีความเสี่ยงตั้งครรภ์ เนื่องจากสัญญาณหลายอย่างมีความคล้ายคลึงกัน ยากที่จะแยกแยะออกจากกันได้อย่างชัดเจน หากมีความกังวลให้สังเกตอาการ ดังต่อไปนี้
- มีอาการคัดเต้านม : หากเป็นอาการของประจำเดือนจะหายไปในวันที่ประจำเดือนมาวันแรก หากเป็นท้องจะมีอาการยาวนานกว่าประมาณ 3 เดือน
- อาการปวดท้อง : ประจำเดือนจะมีอาการปวดหน้าท้อง และหลังส่วนล่าง อาจปวดรุนแรง ส่วนอาการคนท้องระยะแรกจะปวดท้องน้อย แต่จะไม่รุนแรง
- อารมณ์แปรปรวน : อาจมีอารมณ์ไม่คงที่สำหรับอาการก่อนประจำเดือนมา เป็นนานที่สุดถึงช่วงประจำเดือนหาย อาการของคนท้องจะเป็นยาวนานกว่า บางคนเป็นไปจนถึงช่วงคลอด
- อยากอาหาร : หากจะมีประจำเดือนจะต้องการทานอาหารทั่วไป ส่งผลให้มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น แต่คนท้องจะมีความต้องการอาหารจำเพาะชนิด หรือชอบอาหารที่มีกลิ่น เป็นต้น
- มีความเหนื่อยล้า : มีอาการง่วงซึม นอนไม่ค่อยหลับ แต่เมื่อประจำเดือนมาจะหายไป ในด้านของคนท้องอาจเป็นยาวนานกว่า จนกระทั่งคุณแม่คลอด
- เลือดออกบริเวณช่องคลอด : หากเป็นประจำเดือนอาจออกมาน้อย และค่อยเพิ่มขึ้นแล้วแต่บุคคล สำหรับคนท้องจะมีเลือกเล็กน้อยเพียง 1 – 3 วัน ที่เรามักรู้จักกัน คือ “เลือดล้างหน้าเด็ก” นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของประจำเดือนกำลังจะมา กับคนท้อง คือ ระยะเวลา อาการส่วนมากของสัญญาณประจำเดือนจะหายไปเมื่อประจำเดือนมา ต่างจากอาการของคนท้อง ที่จะมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่า และยาวนานที่สุดไปจนถึงตอนคลอด อย่างไรก็ตามหากมีความสงสัยควรตรวจครรภ์ หรือเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจจะช่วยไขข้อข้องใจได้ดีกว่า
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลือดล้างหน้ากับประจำเดือน ต่างกันอย่างไร เลือดล้างหน้ามาช่วงไหน หมายความว่าอะไร
รับมือกับอาการช่วงก่อนประจำเดือนมาอย่างไร
- เลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ไม่สูบบุหรี่, ไม่ดื่มสุรา, งดอาหาร และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และงดทานอาหารรสจัด เป็นต้น
- เน้นการทานอาหารประเภทแคลเซียม, ใยอาหาร, คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน พบได้ในนม, ธัญพืช, ผัก และผลไม้ รวมไปถึงเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
- พยายามออกกำลังกายให้ได้อย่างต่ำ 3 ครั้ง / สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป เพื่อช่วยให้ใช้เวลาได้มีประโยชน์ สามารถช่วยลดความเครียด หรือความกังวลได้
- พักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อย่างน้อย 8 ชั่วโมง / วัน และทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เมื่อมีความเครียด
- เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของตนเอง อาจจดบันทึกอาการในแต่ละเดือน เพื่อให้รู้ระยะเวลา และอาการโดยเฉลี่ยของตนเอง
หากทำตามที่เราแนะนำแล้ว ยังรู้สึกว่าอาการไม่ดีขึ้น อาการรุนแรงมากขึ้น หรืออาการไม่หายไป แม้จะมีประจำเดือน หรือประจำเดือนหมดไปแล้ว ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ และรับคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
มีประจำเดือนควรกินอะไรดี แล้วอาหารแบบไหน ที่เหมาะสม
สัญญาณเตือนโรคอันตราย บอกได้จากประจำเดือน แม่ต้องสังเกต
ประจําเดือนสีดํา ผิดปกติไหม ร่างกายป่วยอยู่หรือเปล่า สีประจําเดือน บอกสุขภาพ
ที่มา : mahidol, pobpad, vichaivej-omnoi, beyondivf
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!