การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอด อาการหนึ่งที่พบได้บ่อยและสร้างความกังวลใจให้คุณแม่หลายคนคือ “อาการปวดจิมิ เสียวจิมิ เจ็บจิมิ” คนท้องปวดจิมิ เสียวจิมิ จะใกล้คลอดจริงไหม บทความนี้จะไขข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการนี้ว่าเกิดจากอะไร และเป็นเรื่องปกติหรือไม่ เพื่อให้คุณแม่เข้าใจและเตรียมตัวรับมือได้อย่างเหมาะสม
ทำไมคนท้องถึงรู้สึกเสียวจิมิ ?
ความรู้สึกเสียวแปล๊บบริเวณอวัยวะเพศในช่วงตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่คุณแม่หลายคนกังวลใจ โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้ช่วงคลอด คนท้องปวดจิมิ เสียวจิมิ อาการนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดได้บ่อยและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการไหลเวียนของเลือด ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดในร่างกายของแม่ท้องก็เพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะเพศมากขึ้น ทำให้รู้สึกไวต่อการสัมผัสมากขึ้น
- การขยายตัวของมดลูก มดลูกที่โตขึ้นจะไปกดทับอวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง รวมถึงกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยและไม่สบายตัว การกดทับของมดลูกยังไปถึงเส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดอาการเสียวได้
- การเตรียมตัวของร่างกายเพื่อการคลอด ร่างกายจะหลั่งสารโปรสตาแกลนดิน ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำให้ปากมดลูกอ่อนตัวและเปิดออก ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดเกร็งและเสียวแปล๊บได้ อีกทั้งก่อนถึงการคลอดจริง ร่างกายอาจมีการหดตัวของมดลูก ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของมดลูกสำหรับการคลอดจริง การหดตัวเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกปวดเกร็งและเสียวได้เช่นกัน
- ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผล
- การมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้รู้สึกเสียวมากขึ้น เนื่องจากอวัยวะเพศมีความไวต่อการสัมผัสมากขึ้น
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ และอาจมีอาการเสียวแปล๊บบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย
- ริดสีดวงทวาร อาจทำให้รู้สึกปวดและไม่สบายตัวบริเวณทวารหนัก และอาจมีอาการเสียวบริเวณอวัยวะเพศได้
เมื่อแม่ท้องมีอาการปวดจิมิบ่อยๆ ควรทำอย่างไร ?
จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น คนท้องปวดจิมิ เสียวจิมิ ซึ่งเป็นสาเหตุที่มักเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ก็นำมาซึ่งความไม่สบายตัวให้กับคุณแม่ได้ไม่น้อย สิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้เมื่อมีอาการปวดจิมิบ่อยๆ คือ
- พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย และอาการปวดอาจบรรเทาลงได้
- หยุดทำกิจกรรม เมื่อมีอาการปวดบริเวณอวัยวะเพศขณะออกกำลังกายหรือเดิน แนะนำให้หยุดพักและนั่งลง เพื่อลดการหดตัวของกล้ามเนื้อและแรงกดทับบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- ปรับท่าทางในการนอน นั่ง การนอนหรือนั่ง ในท่าที่สบาย จะช่วยลดแรงกดทับบริเวณอวัยวะเพศ แต่ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนช้าๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับตรงที่ปวดมาก
- ประคบเย็น การประคบเย็นบริเวณที่ปวด อาจช่วยลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการปวดได้
- สวมใส่ชุดชั้นในที่นุ่มสบาย เลือกสวมใส่ชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย และไม่รัดแน่น เพื่อลดการระคายเคือง
- อาบน้ำอุ่น การอาบน้ำอุ่นอาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดอาการปวดได้
- ปรึกษาแพทย์ หากอาการปวดไม่ทุเลา หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ มีตกขาวผิดปกติ หรือปวดท้องรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม
อาการปวดจิมิ เสียวจิมิ แบบไหนที่ต้องพบแพทย์
คนท้องปวดจิมิ เสียวจิมิ ตอนใกล้คลอดเป็นเรื่องปกติ ที่เกิดจากการที่ศีรษะของทารกดันลงมาที่กระดูกเชิงกราน แต่หากมีอาการปวดจิมิที่รุนแรงผิดปกติ หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที อาการเหล่านี้ ได้แก่
- อาการปวดจิมิเกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่อง อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของการหดตัวของมดลูก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้ หากอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำเดิน หรือปวดท้องแบบเป็นช่วงๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีอาการปวดจิมิบ่อยๆ ร่วมกับอาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีเลือดปน หรือมีกลิ่นเหม็น อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ที่ร้ายแรง เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด หรือภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
คนท้องปวดจิมิ เสียวจิมิ เป็นสัญญาณใกล้คลอดหรือเปล่า ?
สัญญาณอาการใกล้คลอดของคุณแม่ อาจเริ่มปรากฏขึ้นในช่วง 2-4 สัปดาห์ก่อนถึงกำหนดคลอด หรือประมาณสัปดาห์ที่ 36 เป็นต้นไป โดยสัญญาณที่สามารถสังเกตได้โดยทั่วไป มีดังนี้
ยิ่งใกล้คลอด คุณแม่หลายคนจะรู้สึกปวดหลังมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณช่วงล่าง อาจเกิดจากการที่มดลูกขยายตัวและส่งผลต่อกระดูกสันหลัง จากร่างกายกำลังปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด จะเป็นอาการปวดแบบเมื่อยๆ หรือปวดจี๊ดๆ ลามไปถึงขาได้
ในช่วงใกล้คลอด ฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ทำให้กล้ามเนื้อส่วนล่างคลายตัว รวมถึงกระตุ้นให้ลำไส้ ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานมากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่อาจมีอาการท้องเสียได้บ่อยขึ้น
-
ทารกเคลื่อนตัวมาอยู่ต่ำลง
ในช่วงประมาณ 2-4 สัปดาห์ก่อนคลอด ทารกจะเคลื่อนตัวลงมาอยู่ในตำแหน่งเตรียมคลอด ทำให้ท้องของแม่ดูต่ำลง และแม่หายใจได้สะดวกขึ้น เนื่องจากทารกเคลื่อนออกจากบริเวณปอด
-
รู้สึกปวด เสียว บริเวณอวัยวะเพศ
เนื่องจากในช่วงใกล้คลอด ทารกมีการกลับหัวเพื่อให้อยู่ในท่าเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด กล้ามเนื้อบริเวณมดลูกจะมีความบางลง และมีการขยายตัวเพิ่มมาก ซึ่งนำมาของอาการปวดจิมิได้
ช่วงใกล้คลอด ปากมดลูกจะค่อยๆ เปิดออกเพื่อเตรียมตัวคลอดลูก บางคนอาจมีเลือดออกเล็กน้อยปนกับมูกใสๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีเลือดออกเยอะหรือปวดท้องบ่อย ควรไปพบหมอทันที
มดลูกบีบตัวเป็นอีกอาการใกล้คลอดที่รู้สึกได้ มดลูกจะเริ่มมีการหดตัวเป็นช่วงๆ ท้องของแม่จะแข็งเป็นช่วงๆ ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดเกร็งท้องและช่องคลอด ซึ่งเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด
คุณแม่หลายคนจะสังเกตเห็นตกขาวสีขาวขุ่น หรือมีเมือกเหนียวๆ ออกมาทางช่องคลอดเล็กน้อย ซึ่งเป็นเยื่อบุที่ปิดปากมดลูกมีการหลุดออกมา และอาจมีเลือดปนเล็กน้อย ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า พร้อมคลอดเต็มที่แล้ว
-
มีอาการเจ็บท้องเตือน เจ็บท้องหลอก
ช่วงเวลาใกล้คลอด แต่ยังไม่ถึงกำหนดคลอดจริง คุณแม่อาจมีอาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอก คือ เจ็บท้องคล้ายจะคลอดลูก ท้องจะแข็งเป็นระยะๆ บ่อยขึ้น แต่บางทีอาจเจ็บท้องแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนคลอดจริงหลายวัน ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นเจ็บท้องจริงหรือหลอก ให้ไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาก่อนได้ หากเป็นการเจ็บท้องจริงคุณหมอจะได้เตรียมทำคลอดทันที แต่หากเจ็บท้องหลอก และไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด คุณหมอมักให้กลับบ้านก่อน
น้ำคร่ำเป็นของเหลวที่ห่อหุ้มทารกในครรภ์ เมื่อใกล้คลอด ถุงน้ำคร่ำจะแตก มีน้ำใสๆ ไหลออกมา ซึ่งเป็นสัญญาณสุดท้าย และน้ำคร่ำจะไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งเรียกว่า น้ำเดิน น้ำคร่ำแตก เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าถึงเวลาคลอดแล้วจริงๆ
เตรียมตัวก่อนคลอด ต้องทำอะไรและเตรียมอะไรบ้าง ?
ยิ่งใกล้วันคลอดเข้ามาทุกที สิ่งที่คุณแม่ต้องรู้และเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สะดวกมากขึ้นและไม่ผิดพลาด มีอะไรบ้าง มาดูค่ะ
การเตรียมตัวสำหรับการคลอดตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากจะช่วยให้คุณแม่เข้าใจกระบวนการคลอดแล้ว ยังช่วยลดความวิตกกังวล และเพิ่มความมั่นใจในการคลอดลูกได้อีกด้วย คุณแม่สามารถเรียนรู้เทคนิคการหายใจ การผ่อนคลาย และวิธีรับมือกับความเจ็บปวดต่างๆ เพื่อให้การคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น
การเรียนรู้และศึกษาวิธีให้นมลูกอย่างถูกต้องก่อนที่จะคลอด จะช่วยให้คุณแม่มีความพร้อมในการดูแลลูกน้อย และลดความกังวลใจเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอด เช่น น้ำนมไม่ไหล น้ำนมไหลน้อย วิธีการเพิ่มน้ำนม เป็นต้น
ควรวางแผนว่าจะเดินทางไปโรงพยาบาลอย่างไรให้สะดวกและปลอดภัยทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน สภาพรถต้องพร้อมอยู่ตลอดเวลา การสำรวจเส้นทางไปโรงพยาบาล เช่น เส้นทางกำลังซ่อมแซมหรือไม่ มีเส้นทางสำรองอื่นๆ ไหม สภาพการจราจรเป็นอย่างไร รวมถึงหาที่จอดรถที่สะดวกและใกล้ทางเข้าโรงพยาบาลที่สุด นอกจากนี้ ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ ของโรงพยาบาลและห้องคลอด เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม
เพื่อความอุ่นใจและพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ควรจดเบอร์โทรศัพท์สำคัญๆ เช่น โรงพยาบาล สามี หรือญาติสนิท ไว้ในที่ที่หาเจอง่าย เช่น กระเป๋าถือ หรือบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือ
ช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอดเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการจัดเตรียมของใช้ส่วนตัว เสื้อผ้า และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่จะต้องใช้ในโรงพยาบาล แบ่งได้ดังนี้
-
- เอกสารและของสำคัญ เตรียมไว้สำหรับการแจ้งเกิดลูกน้อย ประกอบด้วย สมุดฝากครรภ์ , สำเนาบัตรประชาชนคุณพ่อและคุณแม่, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาทะเบียนสมรส, ยาประจำตัว
- ของใช้คุณแม่ เป็นเครื่องใช้ส่วนตัวที่จำเป็นอื่นๆ ที่โรงพยาบาลอาจไม่ได้เตรียมไว้ให้ เช่น ชุดชั้นในให้นม, กางเกงในคนท้อง, แปรงสีฟัน-ยาสีฟัน, โฟมล้างหน้า, ผ้าอนามัยหลังคลอด, แผ่นซับน้ำนม, ชุดใส่วันกลับ
- ของใช้ลูก เช่น ผ้าอ้อม, ผ้าห่อตัว, ถุงมือ-ถุงเท้า, หมวก, ผ้าห่ม, ชุดใส่กลับบ้าน
- ของใช้คนเฝ้า สามีหรือญาติ ส่วนใหญ่คือเสื้อผ้าสำหรับใส่ และอุปกรณ์ส่วนตัวในการเฝ้าคุณแม่ และช่วยดูแลทารก
- อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นในการเก็บความทรงจำ รวมถึงอุปกรณ์ปั๊มนม เช่น มือถือ-ที่ชาร์จแบต, กล้องถ่ายรูป-ถ่ายวีดีโอ, เครื่องปั๊มนม-ถุงเก็บน้ำนม, อาหารว่าง, พร๊อพถ่ายรูป เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง โหลดฟรี! Checklist เตรียมของไปคลอด จัดกระเป๋าเตรียมคลอด ต้องมีอะไรบ้าง
การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่พิเศษและน่าตื่นเต้น แต่ก็มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง รวมถึงอาการปวดเสียวบริเวณอุ้งเชิงกราน รวมถึงลักษณะอาการต่างๆ ของแม่ช่วงใกล้คลอด ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่หลายคนต้องพบเจอ อีกทั้งการเตรียมตัวสำหรับการคลอดเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน เพื่อเตรียมตัวไม่ให้เกิดความฉุกละหุก หากถึงเวลาที่ต้องคลอดจริงๆ จะได้ทันเวลาท่วงที การดูแลสุขภาพตนเองและลูกน้อยในท้องอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลาสำคัญนี้ไปได้อย่างราบรื่น
ที่มา : Helloคุณหมอ , Pobpad , drnoithefamily
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องแพ้ท้อง อ้วกเป็นเลือด อ้วกเป็นฟอง อ้วกแบบไหนอันตรายต้องพบแพทย์ ?!?
ท่านอนคนท้อง แบบสบายๆ แต่ละไตรมาส
น้ำหนักคนท้องขึ้นกี่กิโล เปลี่ยนแปลงอย่างไร และควรดูแลยังไงบ้าง ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!