การตั้งครรภ์สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของผู้หญิงได้หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็น่าเป็นห่วงมากกว่าอย่างอื่น อาการอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์คือ คนท้องเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือเรียกว่า “Petechiae“ แม้ว่าจุดเหล่านี้โดยทั่วไปจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็สร้างความไม่สบายใจให้กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้ บทความนี้จะมาบอกถึงสาเหตุของอาการนี้ และวิธีการรักษา
คนท้องเลือดออกใต้ผิวหนัง คืออะไร มาจากไหน
จุดเลือดใต้ผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์เป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกจุดเหล่านี้ว่า “Petechiae” ซึ่งหมายถึงอาการตกเลือดขนาดเล็ก ซึ่งเกิดขึ้นใต้ผิวหนัง อาการ Petechiae ในการตั้งครรภ์อาจเป็นผลมาจากความดันที่เพิ่มขึ้นในหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด การขาดวิตามินซี มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ การติดเชื้อไวรัส เช่น cytomegalovirus (CMV) ไวรัสฮันตา (Hantavirus) และ Epstein-Barr virus (EBV) เป็นต้น
ในบางกรณี โรคนี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากภาวะร้ายแรงที่เรียกว่ากลุ่มอาการ HELLP (HELLP Syndrome) เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับตับ เลือด และความดันโลหิตในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด แม้ว่าจุดเลือดใต้ผิวหนังเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และมักจะหายไปทันทีหลังการคลอดบุตร สิ่งสำคัญคือต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากพบว่ามีจุดเลือดแดงปรากฏขึ้นบนผิวหนัง
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องเป็นฝี อาการติดเชื้ออันตราย สังเกตและรักษาอย่างไร ?
วิดีโอจาก : Thonburi Hospital channel
ลักษณะอาการของจุดเลือดใต้ผิวหนัง
จุดเลือดใต้ผิวหนังเป็นจุดสีแดง สีม่วง หรือสีน้ำตาล ไม่คันและไม่เจ็บปวด มีขนาดเล็กซึ่งเกิดจากเลือดออกใต้ผิวหนัง จุดเหล่านี้อาจปรากฏตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ขา และข้อเท้า แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ฟกช้ำ มีไข้ หนาวสั่น หายใจถี่ อ่อนเพลีย ปัสสาวะ หรืออุจจาระมีเลือดปน และปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น
จุดเลือดใต้ผิวหนัง Petechiae เกิดจากหลอดเลือดที่แตกออก ทำให้เกิดจุดสีแดง หรือสีม่วงเล็ก ๆ แม้ว่าจะไม่ใช่อาการที่ดูรุนแรง สามารถหายไปได้เองหลังคลอด แต่แม่ท้องก็ไม่ควรมองข้ามการไปพบแพทย์ เพราะในบางกรณี โรคนี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะทางการแพทย์ที่ร้ายแรง เช่น กลุ่มอาการ HELLP ตามที่กล่าวไปนั่นเอง
ทำไมกลุ่มอาการ HELLP จึงอันตรายมากเป็นพิเศษ ?
HELLP syndrome เป็นภาวะทางการแพทย์ที่หายาก แต่ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะนี้อาจทำให้เกิด จุดเลือดใต้ผิวหนัง หรือ Petechiae รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง และตับถูกทำลาย กลุ่มอาการ HELLP เป็นลักษณะอาการของเอนไซม์ตับสูง และเกล็ดเลือดต่ำ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อทั้งแม่ และลูกได้ ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของกลุ่มอาการ HELLP แต่มีการสันนิษฐานกันว่าอาจมาจากความเกี่ยวข้องของปัญหาเกี่ยวกับรก
ระวังจุดเลือดใต้ผิวหนังอาจกลายเป็นผื่นรุนแรงมากกว่าที่คิดได้
ผื่น Petechiae ที่มีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีแดง หรือสีม่วง บางครั้งอาจกลายเป็นสัญญาณของภาวะที่ร้ายแรงกว่าที่เรียกว่า “Purpura Rash” ผื่นในลักษณะนี้จะเป็นรูปแบบที่รุนแรงกว่า และปรากฏเป็นหย่อมขนาดใหญ่สีม่วงแดงบนผิวหนัง หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่ปัญหาทางการแพทย์ที่ร้ายแรงได้ แม่ตั้งครรภ์ที่มีผื่นจ้ำแดงควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการนี้ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจนเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่ และทารกในครรภ์
จะรับมือกับอาการจุดเลือดใต้ผิวหนังอย่างไร ?
หากคุณสังเกตเห็นอาการผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในระหว่างตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที แม้ว่าอาการจุดเลือดใต้ผิวหนัง หรือ Petechiae อาจหายไปหลังจากตั้งครรภ์ แต่ก็ยังจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากแพทย์อยู่ดี เพราะอาการนี้สามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคเลือดหรือภาวะอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อภาวะ HELLP ซึ่งเป็นรูปแบบอาการที่รุนแรง ทั้งนี้รูปแบบในการจัดการรักษา หรือคำแนะนำที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ตัวอย่างเช่น
- การใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา หากอาการมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การให้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อลดอาการทำลายหลอดเลือด และช่วยแก้อาการอักเสบ
- แพทย์อาจให้ทำเคมีบำบัด ด้วยการฉายรังสีภูมิคุ้มกันบำบัด ไปจนถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อรักษากลุ่มอาการที่มาจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ให้ยาที่ช่วยกดระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อใช้รักษาโรคที่มาจากความบกพร่องของภูมิคุ้มกัน จนทำให้เกิดอาการเลือดออกได้ง่าย
- ให้อาหารเสริมวิตามิน C เพื่อป้องกันการขาดวิตามิน C สาเหตุหนึ่งของอาการจุดเลือดใต้ผิวหนัง หรือ Petechiae
แม้ว่าจุดเลือดใต้ผิวหนัง หรือจุดแดงเล็ก ๆ ในการตั้งครรภ์อาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเสมอไป แต่สิ่งสำคัญสำหรับสตรีมีครรภ์คือต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของลักษณะเสมอ ขอแนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีข้อกังวลใด ๆ เกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง เนื่องจากอาจเสี่ยงภาวะรุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยของแม่ท้อง และทารกในครรภ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องเป็นวัณโรค เสี่ยงเชื้อส่งต่อทารกแรกเกิด มีความเสี่ยงรีบตรวจ
คนท้องเป็นตะคริวที่ขา เป็นตะคริวบ่อยตอนท้องปกติไหม อันตรายหรือเปล่า ?
คนท้องเป็นโรคบิด อันตรายมากแค่ไหน เสี่ยงต่อการแท้งลูกจริงหรือไม่ ?
ที่มา : hellokhunmor, verywellhealth
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!