เมื่อการคลอดผ่านไป ช่วงเวลาของการให้นมลูกน้อยก็เริ่มขึ้นค่ะ ซึ่งช่วงนี้คุณแม่ต้องใส่ใจเรื่องของสุขภาพและพัฒนาการของลูกมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินที่อาจส่งต่อไปทางน้ำนมและมีผลกับลูกได้ อาหารที่มีประโยชน์อย่างมากต่อแม่ท้อง หลายชนิดอาจสร้างความลังเลกับแม่ให้นมว่ายังสามารถกินได้หรือไม่ “โยเกิร์ต” ก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ วันนี้เราจะชวนมาไขข้อข้องในกันว่า แม่ลูกอ่อนกินโยเกิร์ตได้ไหม ? แล้วมีอาหารอะไรที่ดีต่อแม่ให้นม แม่หลังคลอด รวมถึงเมนูอะไรที่ควรหลีกเลี่ยงบ้าง

แม่ลูกอ่อนกินโยเกิร์ตได้ไหม ? ดียังไงกับแม่ให้นม
ในความเป็นจริงนั้น “โยเกิร์ต” ถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงช่วงหลังคลอดและให้นมลูกค่ะ ดังนั้น หากถามว่า แม่ลูกอ่อนกินโยเกิร์ตได้ไหม คำตอบคือ หากลูกน้อยไม่ได้รับการวินิจฉัย “โดยแพทย์” ว่ามี “ภาวะแพ้นมวัว” แม่ลูกอ่อนก็สามารถกินโยเกิร์ตได้ปกติค่ะ เนื่องจากโยเกิร์ตอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นและดีต่อร่างกายคุณแม่หลังคลอด เช่น
โยเกิร์ตเป็นผลิตภัณฑ์จากนมค่ะ จึงอุดมด้วยโปรตีน ซึ่งช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตน้ำนม และช่วยให้อิ่มท้องนาน
การที่แม่ลูกอ่อนกินโยเกิร์ตจะช่วยให้ได้รับสารอาหารอย่างแคลเซียม ซึ่งสำคัญต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟันทั้งของคุณแม่และลูกน้อยให้แข็งแรง ทั้งยังช่วยทดแทนแคลเซียมที่คุณแม่สูญเสียไปในช่วงตั้งครรภ์การให้นมด้วยค่ะ
-
โพรไบโอติกส์ (Probiotics)
โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี ลดปัญหาท้องอืด ช่วยย่อย ทำให้คุณแม่ขับถ่ายได้ง่าย ลดอาการท้องผูก ท้องเฟ้อ เสริมสร้างสุขภาพระบบทางเดินอาหาร ปรับสมดุลของลำไส้ รวมถึงอาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้
โยเกิร์ตตามบางชนิดอาจมีการเสริมวิตามินต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของคุณแม่และลูกน้อย
แม่ลูกอ่อนกินโยเกิร์ตได้ไหม กินแบบไหนดี?
โยเกิร์ตสำหรับคุณแม่ท้องและคุณแม่หลังคลอด ควรเลือกชนิดที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งของคุณแม่และลูกน้อย โดยอาจพิจารณาเลือกโยเกิร์ตสำหรับแม่ลูกอ่อน ดังนี้
- ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ ปลอดภัยจากเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดอันตราย
- เป็นโยเกิร์ตรสธรรมชาติ หรือมีน้ำตาลต่ำ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่าโยเกิร์ตรสผลไม้ โดยคุณแม่สามารถเติมผลไม้สดอย่างกล้วย เบอร์รี่ หรือธัญพืชต่างๆ ลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติและคุณค่าทางอาหารได้ค่ะ
- เลือกโยเกิร์ตไขมันต่ำ หรือไขมัน 0% จะช่วยควบคุมน้ำหนักคุณแม่หลังคลอดได้ดี
- หลีกเลี่ยงโยเกิร์ตที่มีสารปรุงแต่งมากเกินไป เช่น แต่งกลิ่น สี หรือผสมสารกันบูด

10 ลิสต์อาหารที่เหมาะกับแม่ลูกอ่อน แม่ให้นม หลังคลอด
อาหารสำหรับแม่ลูกอ่อน หลังคลอด ควรเน้นกินให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อฟื้นฟูร่างกายหลังคลอด รวมถึงช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้ลูกน้อยด้วย ซึ่ง 10 ลิสต์อาหารที่เหมาะกับแม่ลูกอ่อน แม่ให้นม หลังคลอด ที่แนะนำ ได้แก่
- นมพร่องมันเนย การดื่มนมสดหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมพร่องมันเนย เช่น โยเกิร์ต หรือชีส ช่วยให้พลังงาน รวมทั้งได้คุณค่าจากโปรตีน วิตามินบี และแคลเซียม ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนากระดูกและฟันของทารกค่ะ
- ไข่ มีโปรตีนและพลังงานสูง มีวิตามินที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต รวมทั้งช่วยพัฒนากระดูกและกล้ามเนื้อของทารกด้วย
- เนื้อสัตว์ไขมันน้อย เนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย จะอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โปรตีน และวิตามินบี 12 ที่จะช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง
- ปลาแซลมอน อุดมด้วย DHA จำเป็นต่อการสร้างสมองและระบบประสาทของลูกน้อย ทั้งยังช่วยปกป้องแม่ลูกอ่อนจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกินเกิน 12 ออนซ์ต่อสัปดาห์ เนื่องจากอาจมีการสะสมของสารปรอทในตัวปลา
- ขนมปังโฮลวีต โฮลเกรน หรือธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย อุดมด้วยเส้นใยอาหาร โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ จึงเป็นอาหารที่เหมาะกับคุณแม่ลูกอ่อนอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังมีข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง ซึ่งเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตชั้นเยี่ยม ให้พลังงานสูงแต่มีแคลอรีน้อยกว่าข้าวขาว
- กระเทียม หนึ่งในอาหารที่ช่วยในการผลิตน้ำนม ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้คุณแม่หลังคลอด ทั้งยังช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อในร่างกาย แต่คุณไม่ควรกินกระเทียมมากเกินไป เพราะอาจทำให้นมมีกลิ่นจนลูกน้อยไม่ยอมกินนมแม่ได้ค่ะ
- ผักและผลไม้ โดยเฉพาะผักใบเขียว ซึ่งมีวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม และธาตุเหล็ก และผลไม้อย่างส้ม มะเขือเทศ แอปเปิ้ล บลูเบอร์รี่ ช่วยเพิ่มระดับพลังงานของร่างกาย รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกัน
- หัวปลี เป็นผักที่มีเส้นใยอาหารมาก และมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ซึ่งช่วยบำรุงร่างกาย กระตุ้นการไหลเวียนของน้ำนม
- ขิง ช่วยขับเหงื่อ ขับลม แก้ท้องอืด และบรรเทาอาการหวัด
- ฟักทอง ในฟักทองอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินเอ ฟอสฟอรัส เบต้าแคโรทีน และใยอาหาร ซึ่งดีต่อระบบย่อยอาหารของคุณแม่หลังคลอด

อาหารอะไร? ที่แม่ลูกอ่อน ควรหลีกเลี่ยง
ถึงแม้ว่าอาหารส่วนใหญ่คุณแม่หลังคลอดจะกินได้ตามปกติ แต่ก็มีอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทที่คุณแม่ให้นมควรหลีกเลี่ยง หรือจำกัดปริมาณ เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อร่างกายและการฟื้นฟูของคุณแม่และลูกน้อยค่ะ
-
แอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มสามารถซึมผ่านน้ำนมไปยังลูกน้อยได้ อาจส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง การนอนหลับ และพฤติกรรมของทารก ซึ่งคุณแม่ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาดในช่วงให้นม หากจำเป็นจริงๆ ควรเว้นระยะให้นมอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงหลังดื่ม
-
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง
เช่น กาแฟ ชาเข้มข้น น้ำอัดลมบางชนิด เครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากคาเฟอีนสามารถกระตุ้นให้ลูกน้อยตื่นตัว นอนหลับยาก หงุดหงิด และอาจส่งผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็กของคุณแม่ ดังนั้น ควรจำกัดปริมาณคาเฟอีน ไม่เกิน 1-2 แก้วต่อวัน และสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด
-
อาหารรสจัด เผ็ดจัด
สาร Capsaicin ในพริก ซึ่งมีรสเผ็ด อาจทำให้ลูกน้อยมีอาการท้องเสียหรือไม่สบายท้องได้ คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดในช่วงแรกของการให้นมบุตร และค่อยๆ ลองทีละน้อยเพื่อสังเกตอาการของลูกน้อย
-
ของหมักดอง
เช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง อาจมีโซเดียมสูง และบางชนิดอาจมีสารกันบูดหรือเชื้อราที่ไม่ปลอดภัย ควรกินในปริมาณน้อย และเลือกแหล่งที่สะอาดและน่าเชื่อถือ
-
อาหารทะเลบางชนิดที่มีปรอทสูง
เช่น ปลาฉลาม ปลากระโทงดาบ ปลาอินทรีขนาดใหญ่ ซึ่งปรอทสามารถส่งผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทของทารก คุณแม่ควรเลือกกินปลาทะเลขนาดเล็กแทน เช่น ปลาทู ปลาซาร์ดีน
-
อาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สได้ง่าย
ถั่วบางชนิด กะหล่ำปลี บรอกโคลี อาจทำให้คุณแม่ท้องอืด และอาจส่งผลให้ลูกน้อยมีอาการโคลิคได้ในบางราย ดังนั้น ควรสังเกตอาการของลูกน้อย หากพบว่ามีอาการไม่สบายท้องหลังคุณแม่กินอาหารเหล่านี้ ควรลดปริมาณลง หรือหากอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ค่ะ
-
ผลไม้รสเปรี้ยว
จริงๆ เป็นอาหารที่มีประโยชน์เพราะอุดมด้วยวิตามินที่สำคัญค่ะ แต่ไม่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ยังให้นมลูกอยู่ เนื่องจากผลไม้รสเปรี้ยวอาจทำให้น้ำนมของคุณแม่เป็นกรด ลูกน้อยอาจมีอาการแน่นท้องหรือผื่นคันได้ จึงควรระมัดระวังเรื่องนี้เพื่อความสบายและความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย
-
อาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป
มักมีโซเดียม น้ำตาล ไขมัน และสารปรุงแต่งสูง ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพของคุณแม่และอาจส่งผลต่อคุณภาพน้ำนม ควรเน้นการรับประทานอาหารสดใหม่และปรุงเอง
-
สารให้ความหวานสังเคราะห์
แม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อทารก แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงสารเหล่านี้ไว้ก่อนนะคะ

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณแม่ให้นมน่าจะสบายใจแล้วนะคะว่า แม่ลูกอ่อนกินโยเกิร์ตได้ไหม ซึ่งแน่นอนว่ากินได้อย่างสบายใจ เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งของคุณแม่และลูกน้อย สิ่งสำคัญคือควรเลือกโยเกิร์ตรสธรรมชาติ และสังเกตอาการของลูกน้อยหลังจากที่กินด้วย หากมีอาการผิดปกติหรือมีสัญญาณของการแพ้อาหาร ควรปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ
ที่มา : คู่มือเลี้ยงลูกอย่างมีความสุข , www.abcthebaby.com , www.rattinan.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
10 ข้อสงสัย ร่างกายแม่หลังคลอด จะฟื้นตัวตอนไหน ภาวะใดไม่ปกติ
ลูกกินนมแม่ท้องอืด ได้ไหม? วิธีป้องกันและดูแลเมื่อเด็กนมแม่ท้องอืด
15 เคล็ดลับปรับตัวสำหรับคุณแม่มือใหม่ ในสัปดาห์แรกหลังคลอด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!