รายการ TAP Ambassador ถามตอบปัญหากับผู้เชี่ยวชาญ ขอยกประเด็นเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการของลูกมาพูดถึงกันบ้าง เพราะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ผู้ปกครองกำลังกังวลอยู่ หรือกำลังเผชิญ ปัญหาลูกกินข้าวยาก ทำยังไงให้ลูกกินข้าว
ซึ่ง theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาไขข้อข้องใจไปพร้อม ๆ กันกับ คุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ไปดูกันเลย
ปัญหาลูกกินข้าวยาก แค่ไหนถึงเรียกว่ากินข้าวยาก
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจสงสัยว่า แบบนี้เรียกว่ากินยากแล้วหรือยัง ปัญหานี้ก็คล้าย ๆ กับปัญหาความดื้อ โดยปัญหาจะมาจาก 2 ส่วนคือ จากตัวเด็กเอง และความคาดหวังจากพ่อแม่ เพราะบางครั้ง การที่พ่อแม่คาดหวังลูกมากไป ยิ่งทำให้พ่อแม่รู้สึกไปเองว่าลูกกินยาก
เพราะฉะนั้น จะต้องดูจากพฤติกรรมการกินของลูก และความคาดหวังของพ่อแม่ร่วมกัน รวมถึงพฤติกรรมอื่น ๆ ด้วย เด็กกินยากจะขึ้นอยู่กับตัวเด็กเองว่ามีปัญหาในการกินมากน้อยแค่ไหน และพฤติกรรมของพ่อแม่ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือ การที่เด็กถูกกดดันตอนกินข้าว เช่น ต้องกินข้าวให้หมดจาน ห้ามหก ห้ามเลอะ ห้ามอมข้าว ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แทนที่จะฝึกลูกให้กินข้าว กลับจะยิ่งรู้สึกว่าลูกกินข้าวยาก
ลูกกินข้าวยาก แบ่งเป็นกี่ประเภท และควรแก้ไขอย่างไร
โดยปกติเราจะแบ่งประเภทของ เด็กกินข้าวยาก ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ
1. เด็กเลือกไม่กินเป็นบางอย่าง
กินแต่ผัก ไม่กินเนื้อ เด็กที่เลือกกินแต่ผัก กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเด็กบางคนจะเป็นแนว วีแกน (Vegan) เลือกกินแต่ผัก ไม่กินเนื้อ สาเหตุก็มาจาก เนื้อสัมผัส และรสสัมผัสในปาก เด็กจะรู้สึกว่าผักจะมีความอ่อนนุ่ม แต่หากเป็นเนื้อสัตว์ เด็กจะชอบคายทิ้งเพราะความหยาบ และจะมีเรื่องของกลิ่นคาวร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ ไข่ขาว ไข่แดง เด็กบางคนไม่สามารถกินไข่ได้เพราะไม่ชอบกลิ่นคาว ทั้ง ๆ ที่ไข่แดงเป็นแหล่งอุดมธาตุเหล็กเป็นอย่างดี โดยจะพบว่ากลุ่มเด็กที่ไม่กินเนื้อหมู ไม่กินไข่แดง นั้นมักจะขาดธาตุเหล็ก
เพราะฉะนั้น การแก้ไขอันดับแรกให้ลองเปลี่ยนประเภทของเนื้อสัตว์ในเมนูอาหาร ใช้เป็นเนื้อไก่ผสมเนื้อหมูเข้าไปเล็กน้อย แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มเนื้อหมูมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกกินเนื้อสัตว์ หรือจะเป็นการฝึกประสาทสัมผัสเด็กด้านอื่น ๆ เช่น ให้เด็กลองเคี้ยวผัก 2 ชนิดที่ต่างกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสให้กับเด็ก
ภาพจาก pixabay.com
ไม่กินผักเลย กรณีที่เด็กไม่กินผักเลย แนะนำให้ลองบดผัก หรือป่นละเอียดเข้าไปพร้อมเนื้อสัตว์ เพื่อช่วยกลบกลิ่น และรสสัมผัสของผัก หรือจะเป็นให้เด็กลองเคี้ยวผักก่อน แล้วค่อยคายทิ้ง เพื่อให้ลูกค่อย ๆ เริ่มชิน จนเมื่อลูกเริ่มชินแล้วเขาจึงยอมกลืนเอง
โดยมีงานวิจัยรองรับว่า เมื่อมีเมนูอาหารใด ๆ ที่ลูกไม่ยอมกิน แล้วแม่ไม่เสิร์ฟอาหารชนิดนั้นไปเลย กับในทางกลับกัน ถ้าคุณแม่เลือกที่จะเสิร์ฟอาหารนั้นต่อไป เสิร์ฟถี่ ๆ จะทำให้เด็กเปิดใจให้กับอาหารชนิดนั้นมากขึ้น โดยจะต้องใช้เวลาประมาณ 8 – 10 วันขึ้นไป
ไม่กินผลไม้ หากเด็กไม่กินผลไม้ เด็กกลุ่มนี้มักจะขาดสารอาหารที่สำคัญอย่าง วิตามินซี เพราะวิตามินซีจะไม่ค่อยอยู่ในอาหารปรุงสุก เพราะเมื่ออาหารผ่านความร้อน จะทำให้วิตามินซีหายไป เพราะฉะนั้น โดยส่วนใหญ่วิตามินซีมักจะอยู่ในผัก ผลไม้สดต่าง ๆ และค่อนข้างหาสิ่งทดแทนได้ยากในเด็กที่ไม่กินผลไม้เลย
ตรงส่วนนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะเสริมอาหารเสริมจำพวกวิตามินซี หรืออาหารเด็กที่เสริมวิตามินซี เพราะสมัยนี้มีตัวช่วย และอาหารเสริมที่ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหาอาหารเสริมทดแทนให้ถูกจุด รวมถึงปรับในด้านวินัยการกินไปควบคู่กัน
บทความที่น่าสนใจ : ลูกกินยาก ไม่เจริญอาหาร ปัญหาสำคัญที่คุณแม่ควรแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ
2. เด็กกินแต่ขนม กินแต่นม
ในบางรายที่กินแต่ขนม หรือนม วิธีแก้ไม่ใช่การแก้ที่ตัวเด็ก แต่เป็นที่ตัวคุณแม่เอง โดยเป็นการลดปริมาณนมลง ลูกถึงจะมีกระเพาะว่างสำหรับทานข้าวได้ ซึ่งปริมาณนมในแต่ละวันที่ควรกิน จะอยู่ที่โดยเฉลี่ยประมาณวันละ 6 ขวด โดยถ้าหากกินข้าว 1 มื้อก็ให้ลดปริมาณนมลงไป 1 ขวดต่อข้าว 1 มื้อ
3. เด็กกินข้าวช้า กินข้าวน้อย
หากเป็นเด็กที่กินข้าวน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่กระเพาะอาหารมีขนาดเล็ก เพราะคุณแม่ไม่ได้ทำการปรับการกินนมเพื่อขยายกระเพาะ แต่คุณแม่สามารถแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย 5 มื้อได้ เช่น เช้า เที่ยง เย็น และมีมื้อสายกับมื้อบ่าย เพิ่มเข้ามา โดยเว้นมื้อหลักกับมื้อว่าง ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และค่อย ๆ ลดปริมาณมื้อว่างลงแล้วเพิ่มปริมาณมื้อหลักมากขึ้น หากเป็นเด็กที่เอาแต่เล่น ไม่ยอมกินข้าว ในส่วนนี้ก็ต้องมาปรับพฤติกรรมการทานข้าวกันใหม่ โดยควรจะเป็นการนั่งทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว โดยเป็นการเซ็ทเวลาไว้สำหรับกินข้าวกับครอบครัว และจะต้องเป็นเวลาเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน มีกำหนดระยะเวลา เช่น 30 นาทีแล้วเก็บ เพื่อเป็นการปรับพฤติกรรมของเด็กกินข้าวช้า หรือเด็กอมข้าว อีกทั้งยังเป็นการทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า หากไม่กินให้ทัน แล้วรู้สึกหิว ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และรู้จักอาการหิวนั่นเอง
หากลูกกินข้าวได้น้อย แต่ลูกกินนมได้เยอะ ทดแทนกันได้ไหม
หากเป็นสารอาหารอย่างโปรตีน สามารถทดแทนกันได้ หากเป็นสารอาหารจำพวก วิตามิน แร่ธาตุ กากใย จะไม่พบในนม และอีกสิ่งหนึ่งที่ทดแทนกันไม่ได้คือเรื่องของวินัยในการดูแลตัวเอง วินัยในการกินข้าว ทำในสิ่งที่ควรทำ โดยถือเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้าง EF
ภาพจาก freepik.com
ดูแลลูกรักให้มีพัฒนาการดี เติบโตสมวัย สูงสมส่วน มีน้ำหนักตามเกณฑ์
รับฟรี พีเดียชัวร์ ขนาดทดลอง คลิกที่นี่
ทำไมช่วงลูกยืดตัว ถึงไม่ยอมกินข้าว
จริง ๆ แล้ว การที่ลูกไม่กินข้าวนั้นไม่เกี่ยวกับการที่ลูกยืดตัว แต่เป็นเพราะในวัยนี้เป็นวัยที่ลูกเริ่มเกาะคลาน เริ่มยืนได้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเขา ทำให้ไม่ได้สนใจกินข้าว เป็นเหมือนการติดเล่นเฉย ๆ โดยสามารถปรับได้ ด้วยการนั่งกินข้าวด้วยกัน 30 นาทีแล้วเก็บ งดอาหารว่าง 2 ชั่วโมง ก่อนและหลังมื้ออาหารหลัก ทำให้ลูกรู้สึกหิวแล้วมากินข้าวกับเรา
วิตามินเสริมที่ช่วยทำให้ลูกอยากอาหาร ช่วยได้จริงไหม
อาหารเสริมจำพวกนี้มีหลากหลายมาก ๆ เช่น วิตามินที่ช่วยเสริมไลซีน หรือวิตามินบี ช่วยทำให้เด็กเจริญอาหารในเด็กที่ขาดวิตามินเท่านั้น หากเป็นเด็กจำพวกอิ่มนม ทำให้ไม่กินข้าว ต้องแก้ด้วยการลดนม เพราะต่อให้กินไลซีนมากแค่ไหนก็ไม่ช่วยให้อยากอาหารได้
บทความที่น่าสนใจ : คุณแม่ควรให้ลูกน้อยทาน วิตามิน หรือ ยาเสริมธาตุเหล็กทารก หรือไม่ ?
สรุป ปัญหาลูกกินข้าวยาก ปัญหาหนักอกของพ่อแม่ ทำอย่างไรให้ลูกทานข้าว เรียกได้ว่ามีหลายนิยาม ต้องดูก่อนว่าลูกของเราเป็นแบบไหน และเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
- ถ้าเกิดจากการเลือกกิน ให้ลองฝึกปรับพาลูกเข้าครัว ช่วยคุณแม่ทำอาหาร หรือให้ช่วยหยิบจับวัตถุดิบ อุปกรณ์ครัว ในระหว่างการทำอาหาร ก็จะช่วยเพิ่มประสาทสัมผัสให้แก่ลูกได้
- ส่วนประเภทถัดมาที่กินข้าวยาก เพราะกินแต่นม กินแต่ขนม คุณพ่อคุณแม่จะต้องลดนม ลดขนมลงก่อน เพื่อให้กระเพาะว่างเพื่อกินข้าว อีกทั้งยังเป็นการช่วยฝึกระเบียบวินัยในการทานข้าวให้ลูกด้วย
- ส่วนสุดท้ายคือ เด็กที่กินข้าวช้า และห่วงเล่น ตรงนี้ต้องปรับวินัยและพฤติกรรมในการกินร่วมด้วย
คุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก
บทความที่น่าสนใจ :
การกระตุ้นสมองลูกน้อย เทคนิคสร้างความฉลาดให้ลูก ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
ความแตกต่างของการเลี้ยงลูกชายและลูกสาว
อาการชัก และ โรคลมชักในเด็ก ส่งผลอย่างไรกับสมองของลูก
ที่มา : คุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ เจ้าของเพจ เรื่องเด็ก ๆ by หมอแอม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!