การตื่นมากินนมมื้อดึกอาจดูเหมือนเรื่องเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วส่งผลกระทบต่อการนอนหลับทั้งของคุณแม่และคุณลูกไม่น้อยเลยทีเดียว การไม่ เลิกนมมื้อดึก ทำให้เด็กๆ ตื่นกลางดึกบ่อยๆ และอาจนอนไม่เต็มอิ่ม ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ในขณะที่คุณแม่เองก็อาจรู้สึกเหนื่อยล้าจากการต้องตื่นมาปลอบหรือให้นมตลอดคืน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ได้
แม้จะมีคำแนะนำว่าคุณแม่ลูกอ่อนควรนอนหลับพร้อมลูก ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ ก็ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนจะนอนหลับพร้อมลูกอ่อนทุกครั้งได้ เพราะมีภาระมากมายให้สะสางนอกไปจากการดูแลเจ้าตัวน้อย
ทำไมต้องเลิกนมมื้อดึก?
เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น การที่เด็กๆ เลิกนมมื้อดึก จึงอาจเป็นผลดีต่อแม่และลูกเอง เพราะการหย่านมมื้อดึกเป็นอีกก้าวสำคัญในพัฒนาการของลูก ที่ช่วยให้เขาเรียนรู้การนอนหลับยาวและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสให้คุณแม่ได้พักผ่อนมากขึ้นด้วย แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาและความอดทน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่า ทั้งในด้านสุขภาพ การนอน และความสุขของทั้งแม่และลูกในระยะยาว
เลิกนมมื้อดึก ควรฝึกเมื่อไหร่?
การเลิกนมมื้อดึกสามารถเริ่มได้เมื่อลูกอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป เพราะในช่วงนี้เด็กเริ่มมีพัฒนาการด้านร่างกายและการย่อยอาหารที่เพียงพอที่จะนอนหลับยาวโดยไม่ต้องตื่นมากินนมตอนกลางคืน อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาความพร้อมของลูกเป็นหลัก เช่น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นดีและไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ
เลิกนมมื้อดึก กี่โมงถึงกี่โมง?
คำว่าเลิกนมมื้อดึกนั้น หมายถึงว่า ลูกต้องไม่กินทั้งนมแม่หรือนมผงในช่วงกลางดึก ส่วนใหญ่คือเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ถึง ตี 4 หรืออาจคิดง่ายๆ ว่าเป็นช่วงระหว่าง 4-6 ชั่วโมงหลังจากลูกหลับ เช่น หากลูกเข้านอน 2 ทุ่ม หากต้องการงดมื้อดึก ก็ควรงดนมระหว่าง 3 ทุ่ม ถึงประมาณตี 2 เป็นต้น ซึ่งการเลิกนมมื้อดึก หรือให้ลูกเลิกเต้าตอนกลางคืน ไม่ได้หมายความว่าให้เด็กๆ หย่านมแม่ แต่เป็นการงดมื้อกลางดึก เพื่อให้ลูกฝึกวินัยการกิน-นอนเป็นเวลา
เลิกนมมื้อดึก จำเป็นไหม?
การเลิกนมมื้อดึกนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละครอบครัว หากถามว่าจำเป็นต้องบังคับให้ลูกเลิกนมมื้อดึกทันที เมื่อลูกครบ 6 เดือนหรือไม่ ก็อาจไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่า การเลิกนมมื้อดึกจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งของลูกและคุณพ่อคุณแม่ เพราะเด็กๆ ก็จะได้นอนหลับสนิทในระยะเวลาที่นานขึ้น ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมอง ในขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ก็จะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ซึ่งช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้าในระยะยาว
ผลเสียของการไม่เลิกมื้อดึก
ผลเสียของการไม่เลิกนมมื้อดึกที่เห็นชัดๆ มี 2 ประการ ได้แก่
1. ปัญหาเรื่องฟันผุ
เพราะการดูดนม ไม่ว่าจะนมแม่หรือนมผง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในช่องปากของลูก เมื่อลูกกินนมมื้อดึกแล้วหลับต่อ เท่ากับว่าไม่ได้ทำความสะอาดช่องปาก คราบนมที่ตกค้างในปากจะถูกแบคทีเรียในช่องปากย่อยทำให้เกิดสารที่ทำให้ฟันผุได้ ซึ่งวัย 6 เดือนลูกจะเริ่มมีฟันซี่แรก ดังนั้น การกินนมมื้อดึกอาจเพิ่มความเสี่ยงฟันผุ
2. ปัญหาการเจริญเติบโตของร่างกาย
Growth Hormone ที่ช่วยให้เด็กๆ เจริญเติบโต จะหลั่งออกมาได้ดี เมื่อเด็กๆ หลับลึก และนอนหลับต่อเนื่อง การงดนมมื้อดึก สำหรับเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป ที่เริ่มกินอาหารอื่นๆ บ้างแล้ว จึงมีประโยชน์ในแง่การเจริญเติบโตของร่างกายมากกว่าที่ลูกต้องตื่นมากินนมกลางดึก ขัดจังหวะการนอนหลับและการหลั่ง Growth Hormone
วิธีให้ลูกเลิกเต้าตอนกลางคืน
สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากต้องการให้ลูกวัย 6 เดือน เลิกเข้าเต้า สามารถทำได้ในเด็กที่มีพัฒนาการตามวัย อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าคุณแม่ยังจำเป็นต้องตื่นมาปั๊มนมตามเวลา เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำนมลดลง ในกรณีที่ลูกอายุครบขวบปีแรกแล้ว สามารถให้ลูกเลิกนมมื้อดึกได้ ดังนี้
- หากลูกดูดนม ครั้งละไม่ถึง 5 นาที: สามารถลองหยุดให้นมทันทีและใช้วิธีกล่อมลูกให้หลับต่อด้วยเทคนิคการกล่อมที่เหมาะกับลูก ลูกอาจใช้เวลาปรับตัวหลายคืน อาจร้องไห้เยอะในคืนแรกๆ แต่จะค่อยๆ ลดลง ขอให้คุณแม่ฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- หากลูกดูดนมนาน มากกว่า 5 นาที: ค่อยๆ ลดเวลาการให้นมลงเหลือ 2-5 นาที ทุกๆ 2 คืน เช่น ถ้าลูกดูดนม 10 นาที ให้ลดเหลือ 8 นาทีใน 2 คืนแรก แล้วลดลงอีกเรื่อยๆ พร้อมใช้วิธีกล่อมลูกหลังหยุดให้นม
เมื่อตัดสินใจเลิกนมมื้อดึก ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะไม่ได้รับประโยชน์จากน้ำนมแม่ เพราะสารอาหารจากการให้นมในช่วงกลางวันยังคงเพียงพอสำหรับลูก ทั้งนี้ ในช่วงที่ลูกมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น ลูกเริ่มเข้าเนอสเซอรี่ หรือเมื่อแม่ต้องกลับไปทำงาน ลูกอาจอยากดูดนมเพื่อความสบายใจ ทำให้การเลิกเต้าอาจทำได้ยาก แต่หากลูกมีอาการเครียดหรือร้องไห้มาก อาจหยุดพักการเลิกเต้าไว้ก่อน และค่อยเริ่มใหม่เมื่อพร้อม หัวใจสำคัญคือดูสัญญาณจากลูกเป็นหลัก ไม่ฝืนใจลูกมากเกินไป
วิธีให้ลูกเลิกขวดนมตอนกลางคืน
หากลูกของคุณกินนมผง และมีอายุมากกว่า 6 เดือน การตื่นกลางดึกอาจไม่ได้เกิดจากความหิว เพราะนมผงอิ่มท้องนานกว่าน้ำนมแม่
กรณีเจ้าตัวน้อยกินนมมื้อดึกน้อยกว่า 60 มล. คุณแม่สามารถเลิกนมมื้อนั้นได้เลย แล้วใช้วิธีกล่อมให้นอนหลับต่อด้วยวิธีที่เหมาะสมกับลูก
กรณีที่ลูกกินนมมื้อดึกมากกว่า 60 มล. ควรค่อยๆ ลดปริมาณนมลงในช่วง 5-7 คืน ดังนี้
- ลดปริมาณนมทีละ 20-30 มล. ทุก 2 คืน เช่น หากลูกดื่ม 180 มล. ให้ลดเหลือ 150 มล. เป็นเวลา 2 คืน แล้วลดเหลือ 120 มล. อีก 2 คืน และลดลงเรื่อยๆ
- เมื่อลดปริมาณนมจนเหลือ 60 มล. หรือน้อยกว่า ให้หยุดนมมื้อนั้นโดยสมบูรณ์
- ใช้เทคนิคการกล่อมนอน ให้ลูกหลับต่อหลังจากเลิกนมแต่ละครั้งเพื่อให้เจ้าตัวน้อยค่อยๆ ปรับตัว
สิ่งที่พ่อแม่ควรทราบไม่ว่าลูกกินนมแม่หรือนมผง คือ บางครั้งการที่ลูกน้อยตื่นกลางดึก อาจเพียงต้องการการปลอบโยนโดยไม่จำเป็นต้องกินนม ลองค่อยๆ กล่อมลูกด้วยเทคนิคต่างๆ การที่ลูกร้องงอแง ตื่นบ่อย เป็นเรื่องปกติ บางคนอาจร้องทุกคืนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ บางคนร้องแค่ 2-3 คืนก็หลับปุ๋ยยาว ขอแค่แม่ยังอยู่ข้างๆ กอด ร้องเพลงกล่อม หรืออุ้มปลอบในไฟสลัวๆ บอกลูกเบาๆ ว่า “รอตื่นมากินนมตอนเช้านะคนเก่ง” ถ้าคุณแม่ไม่ไหว ก็ส่งไม้ต่อให้คุณพ่อช่วยได้เลย พ่อแม่เป็นทีมเดียวกัน และเข้าใจว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งลูก แต่กำลังฝึกให้ลูกเลิกมื้อดึก ในที่สุดเจ้าตัวน้อยจะเรียนรู้ว่าพวกเขาก็หลับยาวได้ถึงเช้า โดยไม่หิวสักนิด
ที่มา: RaisingChildren, WhattoExpect
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูดจุกหลอก ท้องอืดไหม ลูกดูดนิ้ว ต่างกับดูดจุกยังไง แบบไหนดีกว่ากัน
ประจำเดือนมาหลังคลอด น้ำนมหด จริงไหม ?
เด็กพลังเยอะ อยู่ไม่นิ่ง เลี้ยงยังไง ผิดปกติไหม หรือเป็นพฤติกรรมตามวัย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!