วัยเด็ก คือ วัยแห่งความร่าเริง สดใส สนุกสนานและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แต่ถ้าลูกของคุณพ่อคุณแม่เกิดมีปัญหาทางด้านการบกพร่องทางการเรียนรู้ขึ้นมาหรือที่เรียกว่า โรคแอลดี (LD) คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำอย่างไร วันนี้เราจะพามาดูกันว่าโรค LD คือ อะไร เด็กแอลดีมีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง ติดตามอ่านได้ที่นี่
LD คือ โรคอะไร ?
โรคแอลดี หรือ LD ย่อ มา จาก คำว่า Learning Disorder หรือในภาษาไทยเรียกว่า โรคการเรียนรู้บกพร่อง เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง แม้ว่าเด็กจะมีระดับสติปัญญา และความสามารถด้านอื่น ๆ เป็นปกติดีก็ตาม โรคแอลดี หรือ LD มักจะนำมาซึ่งปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งพบร่วมกันได้ถึงร้อยละ 40 – 50 เช่น โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องด้านภาษา และการสื่อสาร ปัญหาการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือ และสายตา เป็นต้น
เด็กแอลดี LD มีกี่ชนิด ?
LD มีทั้งหมด 3 ชนิดได้แก่
- ความบกพร่องทางด้านการอ่าน เด็กมีความบกพร่องในการจดจำพยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ จึงอ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านช้า อ่าน ออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้
- ความบกพร่องทางด้านการเขียน สะกดคำ เด็กมีความบกพร่องในด้านการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง บางครั้งเรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือ และสะกดคำผิด ทำให้ไม่สามารถแสดงออกผ่านการเขียนได้ตามระดับชั้นเรียน
- ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์ เด็กขาดทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ คือ ไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้
ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเด็ก LD ? สงสัยว่าลูกเป็น LD
คุณอุไรวรรณ เจริญถาวรพานิช คอลัมนิสต์และคุณแม่จากครอบครัวเด็ก LD ได้ให้คำแนะนำและการเยียวยาสำหรับครอบครัวที่มีลูกเป็น LD ดังนี้
- ควรให้ลูกเรียนร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียนปกติ เพื่อฝึกให้ลูกมีทักษะทางสังคมด้วย แต่ต้องหาโรงเรียนที่เข้าใจลูก และคุณพ่อคุณแม่ต้องทำโฮมสคูลหรือสอนทวนทั้งบทเรียนและเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันให้ลูกทุกวันหลังเลิกเรียน ยกเว้นแต่ว่าลูกมีอาการหนักมากอาจให้เรียนแบบโฮมสคูลที่บ้านไปเลย
- เยียวยาผ่านการปฏิบัติธรรม ปิดเทอมให้พาลูกเข้าค่ายธรรมะ ฝึกนั่งสมาธิ เดินจงกรม เด็กที่อายุน้อยเพียง 6-7 ขวบก็สามารถทำได้แล้ว
- ใช้ศิลปะหรือกิจกรรมยามว่างอื่น ๆ ในการเยียวยา เด็ก LD หลายคนแม้จะไม่ได้โดดเด่นในด้านการเรียนทางวิชาการเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ แต่ก็มีความสามารถพิเศษของตนเองโดยคุณพ่อคุณแม่ต้องหาให้เจอด้วย
- พ่อแม่ แพทย์ ครูที่โรงเรียน ต้องคุยกัน ต้องให้ความร่วมมือกันทั้งสามฝ่ายด้วย ลองพาลูกไปเข้ากลุ่มรวมตัวของครอบครัวที่มีบุตร LD เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันด้วย
- ที่สำคัญที่สุด คือพ่อแม่ต้องเข้าใจลูกอย่าคิดว่าลูกผิดปกติ อย่าคิดแค่ว่าลูกอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะในหลายบริบทลูกคือเด็กทั่ว ๆ ไป เขาสามารถเป็นหัวหน้าชั้น ปฏิบัติธรรมได้ ทำงานศิลปะที่สวยงามได้
ความรู้สึกและพฤติกรรมของเด็ก LD หรือเด็กแอลดี
ข้อมูลจากโรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวถึงความรู้สึกที่เด็กแอลดี มีตัวเองไว้ว่า เด็กมักรู้สึกว่าตนเองเรียนไม่ฉลาด และไม่เก่ง เมื่อถูกบังคับให้ทำงานซ้ำ ๆ หรือเรียนพิเศษ ก็จะต่อต้านการเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน เด็กแอลดีมักฉลาดพูด และสามารถโต้ตอบได้ดี แต่พอให้อ่าน เขียน คำนวณ กลับทำไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เข้าใจ จะดุลูกว่าเป็นเด็กขี้เกียจ ดื้อ เกเร เด็กบางคนรู้สึกอายที่ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แต่ไม่อยากให้ใครรู้ จึงปฏิเสธที่จะทำ อีกทั้งความรู้สึกที่ว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อน ก็เป็นปมในใจ และส่งผลให้แสดงออกทางพฤติกรรมเหล่านี้
- หลีกเลี่ยงการอ่านการเขียน
- ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จ ทำงานสะเพร่า
- ความจำไม่ดี เรียนแล้ว ลืมง่าย
- รู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้
- ไม่มั่นใจในตนเอง มักตอบว่า “ทำไม่ได้” “ไม่รู้”
- อารมณ์ ขึ้น ๆ ลง ๆ หงุดหงิดง่าย ไม่อดทน
- ก้าวร้าวกับเพื่อน พี่น้อง ครู หรือพ่อแม่
- ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง
รู้เร็ว รักษาได้
การช่วยเหลือ เด็กแอลดี หรือ เด็กที่เป็นโรคแอลดี ทำได้ด้วยการตรวจหาให้เจอเร็วที่สุด หรือตั้งแต่ยังมีอาการไม่มาก หากลูกมีอาการสมาธิสั้น จดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ไม่ต่อเนื่อง ซุกซนเกินกว่าเด็กในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด และหุนหันพลันแล่น ใจร้อนคอยไม่เป็น พ่อแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา ซึ่งจะต้องใช้ยา หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือ ทั้งสองวิธีควบคู่กัน หากไม่ทำการรักษาจะส่งผลให้มีพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเป็นสมาธิสั้นทำยังไง? กิจกรรมแก้โรคสมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่ง ซุกซน
แนวทางการช่วยเหลือทางการแพทย์
- พาลูกไปพบคุณหมอ คุณหมอจะทำการซักประวัติอย่างละเอียดจากคุณพ่อคุณแม่ มีแบบสอบถามให้คุณครูของเด็กตอบ มีการวัดระดับเชาวน์ปัญญา วัดความสามารถทางการเรียนด้านต่าง ๆ
- ตรวจร่างกายและทดสอบทางจิตวิทยา และผลสัมฤทธิ์ในการเรียน
- ให้ความรู้ความเข้าใจ ช่วยเหลือเด็ก และครอบครัวทางด้านจิตใจ
- ถ้าเด็กมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น สมาธิสั้น ซึมเศร้า คงต้องให้ยาเพื่อรักษาโรคเฉพาะ
- การบำบัดทางเลือกอื่น ๆ เช่น ศิลปะบำบัด การกระตุ้นระบบประสาทและความรู้สึก
แนวทางการช่วยเหลือทางด้านการศึกษา
- โรงเรียนควรจัดทำแผนการเรียนรายบุคคลให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็ก แต่ละด้านโดยทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหาและความบกพร่องของเด็ก
- เน้นการสอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง เช่น การสะกดคำ อ่าน เขียนสอนเป็นกลุ่มย่อยหรือตัวต่อครั้งละ 30 – 45 นาที สัปดาห์ละ 4 – 5 วัน
- การช่วยอ่านบทเรียนให้ฟัง เพื่อให้เด็กได้เนื้อหา ความรู้ ได้เร็วขึ้น
- การให้เวลาในการทำข้อสอบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมีเวลาเพียงพอในการอ่านโจทย์ และเขียนตอบ จะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น
- ส่งเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ที่เด็กสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
แนวทางการช่วยเหลือของครอบครัว
- อธิบายให้เด็กและครอบครัวทราบถึงปัญหาและความบกพร่องเฉพาะด้านของเด็ก รวมทั้งความรู้สึกของเด็กที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
- เปลี่ยนพฤติกรรมจากการตำหนิ ลงโทษ เป็นความเข้าใจ และสนับสนุนในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก
- ชื่นชมเมื่อเด็กทำสำเร็จแม้ในเรื่องเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
- หากเด็กได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ และรักษาตามแนวทางที่ถูกวิธี ลูกของคุณพ่อคุณแม่จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและสามารถหายได้นะคะ เพียงแต่ต้องอาศัยความรักและความเข้าใจ รวมถึงการให้กำลังใจลูกในทุก ๆ ทาง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไม่อยากให้ลูกสมาธิสั้น ต้องอ่านเรื่องนี้ พ่อแม่คลิกสิถ้าไม่อยากเสียใจ
รายชื่อสถาบันที่สามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก
- โรงพยาบาลมนารมย์ โทรศัพท์ 02-725-9595, 02-399-2822
- สถาบันราชานุกูล โทรศัพท์ 0-2248-8900 สายด่วน โทร. 0-2245-4696
- โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ โทรศัพท์ 02-3843381-3
- คลินิกโรคการเรียนรู้บกพร่อง โรงพยาบาลรามาธิบดี โทรศัพท์ 02-201-1235, 02-201-1245
- โรงพยาบาลศิริราช หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2419-7000 ต่อ 7422-3
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2256-5183
- โรงพยาบาลภูมิพล หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2534-7306
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ภาควิชาการศึกษาพิเศษ โทรศัพท์ 02-6641000 ต่อ 5631
การดูแลเด็กที่เป็นโรคแอลดี LD ควรได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่อย่างใกล้ชิด เพราะหากพ่อแม่หรือครูไม่เข้าใจตัวเด็ก ก็อาจทำให้การช่วยเหลือได้ล่าช้า ดังนั้น หากลูกของคุณมีภาวะความบกพร่องทางการเรียน ก็ควรพาเขาไปรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และอย่าลืมให้ความรักและกำลังใจให้แก่ลูกด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทำอย่างไรเมื่อเด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ ?
โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง มีโรคอะไรบ้าง มาเช็คอาการกัน !
พ่อแม่รู้ไหม…ส่งลูกเข้าโรงเรียนเร็วเกินไปอาจทำให้ ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น !
ที่มา : thaipsychiatry, manarom, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!