อย่าเอาลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
ก่อนจะอ่านต่อ เรามาทำความรู้จักกับโรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) หรือโรคความบกพร่องทางทักษะการเรียนรู้กันสักนิด ปัญหาเกิดจากเด็กมีพัฒนาการด้านการพูดช้า เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ได้ช้า มีปัญหาในการจดจำและเขียนตัวอักษร
หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ อาการอาจหนักขึ้น ถึงขั้นอ่านไม่ได้ เขียนไม่ถูก สะกดคำศัพท์ผิด อ่านและเขียนตก ๆ หล่น ๆ
นอกจากนี้เด็กจะไม่สามารถบอกเวลาและความหมายของคำได้ เมื่อเด็กวัยประถมมีปัญหาเรื่องการอ่านเขียน เขาก็จะไม่สามารถเข้าใจบทเรียนในวิชาต่าง ๆ ได้ และเมื่อเด็กเครียดและไม่มีใครเข้าใจ ก็มีแนวโน้มที่เขาจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา ดังนั้นคุณควรจะเอาใจใส่ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะสายเกินไป
แล้วเราควรจะทำอย่างไรเมื่อลูกอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้? เรามีข้อแนะนำมาฝากค่ะ
อย่าลงโทษจนกว่าจะรู้สาเหตุ
การลงโทษเด็กเพราะเขาอ่านเขียนไม่ได้โดยไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดไม่ช่วยแก้ปัญหา คุณควรสังเกตผลการเรียนของลูก และคุยกับคุณครูเป็นระยะ ๆ อย่ารอจนโรงเรียนส่งจดหมายเชิญคุณไปพบ คุยกับคุณครูเรื่องพัฒนาการของลูก และจัดการกับสถานการณ์เมื่อรู้ต้นตอของปัญหา อย่าดุลูกต่อหน้าคนอื่น เพราะการดุด่ารังแต่จะทำให้ลูกเสียความมั่นใจและไม่อยากเรียนรู้
รักและให้กำลังใจลูก
ยอมรับจุดอ่อนของลูก คุณไม่ควรโกรธ แสดงความผิดหวัง หรือบั่นทอนกำลังใจลูก อย่าคาดหวังในตัวลูกสูงเกินไป พยายามให้กำลังใจลูกเมื่อเขาทำไม่ได้ บอกเขาว่าคราวหน้าเขาจะทำได้ดีขึ้น อย่าเปรียบเทียบลูกกับลูกคนอื่น ๆ
สอนลูกอย่างอดทน
สอนลูกให้รู้พื้นฐานของตัวอักษรก่อน เช่น หน้าตาตัวอักษรแต่ละตัวเป็นอย่างไร และเขียนอย่างไร ใช้อุปกรณ์การสอนมาช่วยเพื่อให้ลูกจำและทำให้ลูกรู้สึกสนุกกับการเรียน อาจใช้วิธีเรียนโดยการเล่นเกม ถ้าเจอวิธีที่ได้ผล ก็ใช้วิธีนั้นจนกว่าลูกจะอ่านและเขียนตัวอักษรได้ทั้งหมด จากนั้นจึงเริ่มผสมคำเป็นคำง่าย ๆ สั้น ๆ เมื่อเขาเริ่มอ่านคำได้บ้าง ลองหานิทานง่าย ๆ มาให้เขาลองอ่าน ให้เขาเลือกเรื่องที่เขาอยากอ่าน
เคล็ดลับในการสอน คือคุณต้องอดทน อย่าโมโหหรือเร่งลูกให้อ่านเร็ว ๆ คุณสามารถทำให้ลูกรักการอ่านได้ โดยการอ่านหนังสือให้เขาฟังทุกคือก่อนนอน และเมื่อลูกเริ่มอ่านได้ ก็ให้เขาอ่านให้คุณฟัง
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถ้าคุณสอนเองไม่ได้สำเร็จ
ถ้าคุณสอนแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่มีเวลา ลองขอให้คุณครูหรือคนที่เชี่ยวชาญในการสอนเด็กอ่านช่วย นี่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่มีปัญหาเรื่องการอ่านเขียนจะต้องเข้าโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ เขายังคงเรียนในโรงเรียนปกติได้ แต่พยายามเลือกโรงเรียนที่คุณครูสามารถเอาใจใส่นักเรียนแต่ละคนได้เต็มที่
ปัญหายังไม่สายเกินแก้ แค่คุณต้องพยายามแก้มันไปพร้อม ๆ กับลูก จำไว้ว่าเด็กทุกคนล้วนมีความสามารถอยู่ในตัว
บทความใกล้เคียง: 7 วิธีเรียนรู้ของเด็ก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!