โลกของเรามีบรรยากาศที่คอยปกคลุมผิวโลก และเป็นเกราะป้องกันรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ และวัตถุต่าง ๆ นอกโลก เด็ก ๆ อาจยังไม่รู้ว่าบรรยากาศในโลกของเรานั้น แบ่งออกเป็นหลายชั้นด้วยกัน วันนี้ theAsianparent จะพาน้อง ๆ มารู้จัก ชั้นบรรยากาศ ว่าแต่ละชั้นเรียกว่าอะไร และมีหน้าที่อะไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปเรียนรู้กันเลย
ชั้นบรรยากาศ คืออะไร
ชั้นบรรยากาศ (Layers of The Atmosphere) คือ ส่วนที่ปกคลุมผิวโลก โดยมีขอบเขตจากระดับน้ำทะเลขึ้นไปประมาณ 1,000 กิโลเมตร โดยบริเวณที่ใกล้ระดับน้ำทะเลนั้น จะมีอากาศที่มีความหนาแน่นมาก ซึ่งความหนาแน่นของอากาศจะค่อย ๆ ลดลง เมื่อสูงขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล ชั้นบรรยากาศทำหน้าที่เหมือนเกราะป้องกันรังสีที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ และวัตถุต่าง ๆ นอกโลก เช่น อุกกาบาต เป็นต้น ซึ่งภายในชั้นบรรยากาศนั้น จะประกอบไปด้วยอากาศ ไอน้ำ และความร้อน
ส่วนประกอบของชั้นบรรยากาศ
บรรยากาศมีส่วนประกอบสำคัญ คือ แก๊สชนิดต่าง ๆ ฝุ่นละออง ไอน้ำ และอื่น ๆ โดยบรรยากาศของโลกนั้น มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ส่วน ดังต่อไปนี้
1. แก๊สไนโตรเจน 78.08% แก๊สออกซิเจน 20.94% แก๊สอาร์กอน 0.93% แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 0.03% และอื่น ๆ อีก 0.2% ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่มีอากาศแห้งจริง ๆ เพราะอากาศโดยทั่วไปจะมีไอน้ำปะปนอยู่ประมาณ 0-4%
2. ไอน้ำ เป็นการระเหยของน้ำจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งการระเหยจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ปริมาณไอน้ำในอากาศ และพื้นที่ผิวหน้า ไอน้ำมีส่วนทำให้เกิดฝน พายุ ลม ฟ้าแลบ และฟ้าร้อง
3. อนุภาคที่เป็นของแข็งขนาดเล็ก ได้แก่ ฝุ่นละออง และควันไฟ โดยอาจเป็นอนุภาคที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ หรือเกิดขึ้นจากธรรมชาติ สามารถแพร่กระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้โดยตรง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ระบบสุริยะ คืออะไร? เรียนรู้เรื่องราวของดาวเคราะห์ เสริมพัฒนาการเด็ก
บรรยากาศต่างจากอากาศอย่างไร
โดยทั่วไปแล้วบรรยากาศ (Atmosphere) จะหมายถึง อากาศในที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ห่อหุ้มโลก โดยจะอยู่สูงจากผิวโลกขึ้นไปประมาณ 800 – 1,000 กิโลเมตร บรรยากาศนั้นจะมีความหนาแน่นในระดับต่ำ และมีความเจือจางในระดับสูง ส่วนอากาศ (Air) จะหมายถึง อากาศที่อยู่ในบริเวณจำกัด หรืออากาศที่ปกคลุมบริเวณที่กำหนดขอบเขตได้ เป็นส่วนที่อยู่เหนือตำแหน่งผิวโลก เช่น อากาศในบ้าน อากาศในห้องเรียน อากาศบริเวณภูเขา ชายหาด หรือบนพื้นดิน เรียกได้ว่าเป็นอากาศที่อยู่รอบตัวเรานั่นเอง
ประโยชน์ของบรรยากาศ
อย่างที่เราทราบกันดีว่าบรรยากาศมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยทำให้เกิดกระบวนการในการดำรงชีวิต เช่น การหายใจ การมองเห็น หรือการได้ยินเสียง เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยปรับอุณหภูมิของโลกให้เหมาะสมแก่การดำรงชีวิต รวมทั้งยังช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลต และป้องกันอุกกาบาต และวัตถุต่าง ๆ นอกโลกได้อีกด้วย
ชั้นบรรยากาศ มีกี่ชั้น
โดยปกติแล้วชั้นบรรยากาศจะแบ่งออกได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นชั้นบรรยากาศ 4 ชั้น หรือชั้นบรรยากาศ 5 ชั้น แต่หลัก ๆ แล้วจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์นั้น สามารถแบ่งชั้นบรรยากาศออกเป็น 5 ชั้น ดังต่อไปนี้
1. โทรโพสเฟียร์ (Troposphere)
ชั้นบรรยากาศ โทรโพสเฟียร์เป็นชั้นบรรยากาศที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศชั้นล่างสุด โดยจะมีระดับความสูงประมาณ 0-12 กิโลเมตรจากพื้นดิน ชั้นบรรยากาศชั้นนี้จะมีอุณหภูมิที่ค่อย ๆ ลดลงตามระดับความสูง ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีอุณหภูมิลดลงประมาณ 6.5 องศาเซลเซียสต่อกิโลเมตร ถือเป็นชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่น และมีไอน้ำมาก มีการเคลื่อนที่ของอากาศทั้งแนวระดับ และแนวดิ่ง ทำให้ชั้นบรรยากาศชั้นนี้มีความแปรปรวน ทำให้เกิดลักษณะลมฟ้าอากาศต่าง ๆ เช่น หมอก เมฆ ฝน พายุ ลม และหิมะ เป็นต้น ถือเป็นชั้นบรรยากาศที่มีความสำคัญทางอุตุนิยมวิทยาเป็นอย่างมาก
2. สตราโทสเฟียร์ (Stratosphere)
สตราโทสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศที่ขึ้นไปจนถึงระดับความสูง 50 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งจะมีระยะความสูงมากขึ้นจากชั้นโทรโพสเฟียร์ ทำให้มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นไปด้วย เพราะเป็นชั้นบรรยากาศที่มีโอโซนดูดกลืนรังสี UV เอาไว้ ทำให้มีอุณหภูมิที่สูง และมีแก๊สโอโซนในปริมาณมาก โดยชั้นบรรยากาศชั้นนี้จะมีความสงบมากกว่าชั้นโทรโพสเฟียร์ เพราะไม่มีเมฆ ฝน และมีมวลความหนาแน่นของอากาศที่น้อยกว่า
3. มีโซสเฟียร์ (Mesosphere)
มีโซสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือชั้นสตราโตสเฟียร์ขึ้นไป จนถึงระดับความสูง 80 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งชั้นบรรยากาศชั้นนี้จะกลับมามีอุณหภูมิที่สูงเมื่อมีระยะความสูงมากขึ้น เหมือนกับชั้นโทรโพสเฟียร์ เพราะมีระยะทางที่ห่างจากชั้นโอโซนซึ่งเป็นชั้นดูดความร้อน โดยความหนาแน่นในชั้นบรรยากาศนี้จะมีน้อยมากเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น แต่ก็มากพอที่จะเผาไหม้ดาวตก และช่วยดูดซับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ อุณหภูมิในชั้นนี้จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ – 120 องศาเซลเซียส
บทความที่เกี่ยวข้อง : วัฏจักรน้ำ คืออะไร? พาลูกเรียนรู้ กับวิทยาศาสตร์จากสิ่งรอบตัวกันเถอะ
4. เทอร์โมสเฟียร์ (Thermosphere)
ชั้นบรรยากาศ เทอร์โมสเฟียร์ คือ ชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือชั้นมีโซสเฟียร์ขึ้นไป จนถึงระดับความสูง 700 กิโลเมตรจากพื้นโลก อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศชั้นนี้จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงความสูง 100 กิโลเมตรแรก หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง ทำให้บรรยากาศชั้นนี้มีความร้อนจากดวงอาทิตย์มาก มีอุณหภูมิประมาณ 227-1,727 องศาเซลเซียส รวมถึงยังเป็นชั้นที่มีแก๊สต่าง ๆ ที่เป็นประจำไฟฟ้า เช่น ไอออน ซึ่งช่วยในการสะท้อนคลื่นวิทยุ และมีประโยชน์ต่อการสื่อสาร ทำให้ชั้นบรรยากาศชั้นนี้มีดาวเทียมอยู่มาก
5. เอกโซสเฟียร์ (Exosphere)
ชั้นบรรยากาศชั้นนี้ เป็นชั้นบรรยากาศชั้นนอกสุดที่คอยห่อหุ้มโลก มีความสูงตั้งแต่ 700 กิโลเมตรขึ้นไป ซึ่งบรรยากาศในชั้นนี้จะไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างบรรยากาศ และอวกาศ ทำให้ยากที่จะกำหนดได้ว่ามีขอบเขตเท่าใด นอกจากนี้ บรรยากาศชั้นนี้จะมีโมเลกุลของแก๊สน้อยมาก มีอากาศเจือจาง และมีแก๊สที่เบา เช่น แก๊สฮีเลียม และแก๊สไฮโดรเจน
ชั้นบรรยากาศมีความสำคัญต่อโลกของเราเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยทำให้เกิดกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว ยังช่วยปรับอุณหภูมิของโลกให้มีความเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากนี้ ชั้นบรรยากาศทั้ง 5 ชั้นยังช่วยกรองรังสี UV ป้องกันอุกกาบาต และวัตถุจากนอกโลกอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รุ้งกินน้ำ เกิดจากอะไร? การเกิดรุ้งกินน้ำ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เด็ก ๆ ควรรู้!
ห่วงโซ่อาหาร คืออะไร สำคัญกับระบบนิเวศแค่ไหน ความรู้เสริมสำหรับหนูน้อย
จันทรุปราคา คืออะไร? เกิดขึ้นได้บ่อยแค่ไหน มีลักษณะพิเศษอย่างไร มาค้นหาคำตอบกัน
ที่มา : nstda, sciplanet, Campus Star, 4, Mahidol
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!