เด็ก ๆ หลายคนอาจเคยเห็นรุ้งกินน้ำ และเกิดคำถามกับพ่อแม่มากมาย และสงสัยว่า รุ้งกินน้ำ คืออะไร ทำไมถึงมีเส้นสี ๆ บนท้องฟ้า วันนี้เรารวบรวมคำตอบมาให้คุณพ่อคุณแม่นำไปตอบเจ้าตัวน้อยกันแล้ว จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
รุ้งกินน้ำ เกิดจากอะไร ?
รุ้งกินน้ำเกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เรามักพบได้หลังช่วงฝนตก และเริ่มมีแดดออก โดยเกิดจากแสงพระอาทิตย์ที่ส่องแสงผ่านละอองน้ำของฝนในอากาศ และเกิดการหักเห ทำให้เกิดเส้นสายรุ้งบนท้องฟ้า โดยจะเรียงกันทั้งหมด 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ซึ่งตำแหน่งในการเกิดรุ้งกินน้ำนั้นจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระอาทิตย์ และอยู่แนวเดียวกับละอองน้ำฝน
ทำไมรุ้งกินน้ำ ถึงเป็นเส้นโค้ง ?
รุ้งกินน้ำมีลักษณะเป็นเส้นแนวโค้ง เนื่องจากหยดน้ำฝนที่ทำให้รุ้งกินน้ำมีลักษณะเป็นวงกลม แต่เมื่อเราเงยหน้ามองรุ้งกินน้ำขณะที่เราอยู่บนพื้นดิน เราจะเห็นเพียงครึ่งวงกลมเท่านั้นเนื่องจากรัศมีการมองเห็นแสงที่สะท้อน แต่หากอยู่บนเครื่องบิน ก็จะสามารถพบรุ้งกินน้ำที่มีลักษณะเป็นวงกลมได้เช่นกัน
รุ้งกินน้ำมีสีอะไรบ้าง ?
เรามักจะมองเห็นรุ้งกินน้ำ มีสีต่าง ๆ ปรากฏขึ้น แต่คุณรู้หรือไม่ว่า สีที่เรามองเห็นนั้น แท้ที่จริงมาจากการหักเหของแสง ที่มีการกระจายตัว และสะท้อนกลับจากผิวภายในของละอองน้ำ ซึ่งรุ้งกินน้ำตัวเดียวกัน แต่หากเรายืนอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน ก็สามารถมองเห็นสีที่แตกต่างกันได้ โดยรวมสีที่มักจะปรากฏให้เราเห็นจากการหักเหจะเป็นลักษณะสีเรียงต่อกันจากล่างขึ้นบน คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม และแดง ซึ่งในบางครั้ง เราเองก็สามารถมองเห็นรุ้งกินน้ำได้ถึง 2 ตัวในเวลาเดียวกันอีกด้วย
ทำไมถึงเรียกว่ารุ้งกินน้ำ ?
รุ้งกินน้ำ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Rainbow ซึ่งมีคำย่อที่มาจากคำว่า Rain และ คำว่า Bow ซึ่งมีความหมายว่า เส้นโค้งที่เกิดขึ้นเมื่อมีฝน มาจากภาษาละตินว่า arcus pluvius ที่มีความว่า ฝนโค้ง หรือแนวซุ้มประตูโค้งที่มีฝนตกลงมา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : รีวิว 9 เกมปริศนา เกมเสริมทักษะสำหรับเด็กเล็กที่ทุกบ้านควรมี!
รุ้งกินน้ำมีกี่ประเภท
รุ้งกินน้ำที่เด็ก ๆ เห็นมีทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ รุ้งปฐมภูมิ และรุ้งทุติยภูมิ
- รุ้งปฐมภูมิ : รุ้งกินน้ำที่มีสีแดง เส้นแรกที่อยู่ด้านล่างสุด เกิดจากแสงที่ตกกระทบหยดน้ำทางด้านบน และทำให้เกิดการหักเหทั้งหมด 2 ครั้ง และสะท้อนกลับ 1 ครั้ง ทำให้เห็นเป็นสีต่าง ๆ
- รุ้งทุติยภูมิ : รุ้งกินน้ำชนิดที่สอง ที่อยู่ด้านบนสุด จะเรียงลำดับสีกลับกัน แถบสีม่วงจะอยู่ด้านบนสุด เนื่องจากรุ้งกินน้ำทุติยภูมิเกิดจากการหักเหแสงภายในหยดน้ำ 2 ครั้ง และมีการสะท้อนกลับอีก 2 ครั้ง ทำให้เห็นเป็นสีต่าง ๆ
รุ้งกินน้ำเกิดในช่วงกลางคืนได้หรือไม่ ?
รุ้งกินน้ำก็สามารถเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนได้เช่นกัน แต่อาจจะเกิดขึ้นยากหน่อย เนื่องจากรุ้งกินน้ำที่เกิดขึ้นในช่วงกลางคืน จะใช้แสงจากดวงจันทร์ ซึ่งจะเรียกกันว่า รุ้งแสงจันทร์ หรือรุ้งแสงจันทรา เพราะแสงจากดวงจันทร์มีความสว่างน้อยกว่าแสงของพระอาทิตย์ ทำให้สีของรุ้งแสงจันทร์มีความอ่อน และจางกว่ารุ้งกินน้ำ ที่เกิดจากพระอาทิตย์
สำหรับการเกิดรุ้งกินน้ำแสงจันทร์ อาจมีข้อจำกัดอยู่ จึงจะมองเห็นได้ เช่น ดวงจันทร์ต้องสว่างมากพอที่จะเห็นท้องฟ้า และท้องฟ้าก็ต้องมืดสนิท ละอองน้ำต้องอยู่ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกันกับดวงจันทร์ และดวงจันทร์จะต้องอยู่ใกล้กับขอบฟ้า ซึ่งทำให้รุ้งแสงจันทร์เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก ต่างจากรุ้งกินน้ำที่จะเห็นได้ง่ายกว่า
ประโยชน์ของรุ้งกินน้ำ
สามารถนำเรื่องขอการหักเหของแสง มาประยุกต์ใช้กับใยแก้วน้ำแสง เพื่อใช้ในการสื่อสารใยแก้วนำแสงในการส่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต หรือ ในทางการแพทย์ ที่ใช้ใยแก้วในการส่องอวัยวะด้านในของผู้ป่วย
สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับ เครื่องมือวิเคราะห์ด้วยสเปกตรัมแทบทุกชนิด
สามารถใช้ผลิต หรือกำหนดแม่สี ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สีในจอโทรทัศน์ สีในจอคอมพิวเตอร์
ทำไมถึงห้ามชี้นิ้วไปที่รุ้งกินน้ำ ?
ความเชื่อโบราณว่ากันว่า รุ้งกินน้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เกิดจากการแสดงอิทธิฤทธิ์ของเทวดา เพื่อให้ผู้คนที่อยู่บนโลก ได้เห็นความสวยงาม แต่ห้ามลบหลู่ และห้ามชี้นิ้วที่รุ้งกินน้ำ เนื่องจากเป็นกิริยาที่ไม่สมควร ซึ่งโบราณเชื่อว่า หากเอานิ้วชี้ที่รุ้งกินน้ำแล้วนิ้วจะกุด ชี้นิ้วไหนนิ้วก็จะกุดจะด้วน
แต่ความจริงแล้ว ก็เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หรืออันตรายต่อคนรอบข้างเท่านั้น เนื่องจากการชี้นิ้ว อาจจะทิ่มแทงตาผู้อื่นนั่นเอง ปกติแล้ว หลังจากที่ฝนหยุดตก ท้องฟ้าเริ่มสดใส เด็ก ๆ ในสมัยก่อนจะชอบออกมาเล่นสนุกกันต่อ และหากวันนั้นมีรุ้งกินน้ำ เด็ก ๆ ก็มักจะเอานิ้วไปชี้ หรือชี้ไปมา ซึ่งอาจจะเกิดการทิ่มแทงตากันได้ ทำให้ผู้ใหญ่สมัยก่อน จึงห้ามชี้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายนั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 10 การทดลองทำกับลูกที่บ้านเพื่อให้ลูกสนใจวิทยาศาสตร์
5 วิธี สร้างรุ้งกินน้ำ ได้ง่าย ๆ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่อยากจะสร้างกิจกรรมเพิ่มเติมให้กับลูก ๆ ของคุณ ด้วยการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับรุ้งกินน้ำ เราเองก็สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ง่าย ๆ ผ่านการทดสอบต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในครอบครัวแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้ดีอีกด้วย ซึ่งเราได้นำ 5 วิธีการสร้างรุ้งกินน้ำ แบบง่าย ๆ ทำเองได้ที่บ้านมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ
1. สร้างรุ้งจริงผ่านละอองน้ำ และแสงแดด
กิจกรรมนี้จะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกตื่นเต้นกับการเรียนรู้กลางแจ้ง โดยให้เราหาพื้นที่ที่แดดส่องถึง จากนั้นให้ใช้กระบอกฉีดน้ำฉีดพ่นละอองน้ำผ่านแสงแดด จนเกิดการกระทบของแสง และปรากฏเป็นรุ้งกินน้ำหลากสีปรากฏขึ้น
คุณสามารถให้เด็ก ๆ ลองฉีดพ่นละอองน้ำ และสังเกตการกำเนิดของรุ้งกินน้ำได้ด้วยเช่นกัน เพราะการทำการทดลองแบบนี้ นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังประหยัดเงิน ประหยัดเวลา แถมกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ อีกด้วยค่ะ
2. สร้างรุ้งกินน้ำผ่านภาชนะใสใส่น้ำ
คุณสามารถสร้างรุ้งกินน้ำด้วยวิธีง่าย ๆ ด้วยการนำภาชนะใสใส่น้ำ แล้วให้แสงแดดส่องผ่าน กระทบบริเวณพื้นบ้าน หรือวัตถุที่ต้องการ เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้รุ้งกินน้ำ ให้ลูกน้อยต่างเพลิดเพลิน กับสีที่หลากหลายของรุ้งกินน้ำ โดยคุณอาจจะถามเด็ก ๆ ว่า เขาเห็นสีอะไรจากรุ้งกินน้ำบ้าง หรือจะส่องกระทบลงบนกระดาษขาวที่จัดเตรียมเอาไว้ จะปรากฏให้เห็นรุ้งกินน้ำ ในลักษณะของสีต่าง ๆ จากการหักเหของแสง คุณสามารถให้เด็ก ๆ วาดรูป หรือลงสีของรุ้งที่เห็น ลงบนกระดาษ ทับเงาสีของรุ้งที่ปรากฏเลยก็ได้จริงมั้ยคะ
3. สร้างรุ้งผ่านกระจกเงา น้ำ และแสง
อีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ ของการสร้างรุ้งกินน้ำ ด้วยการนำกระจกเงาวางเอียง 45 องศา สะท้อนกับแสงแดด โดยให้กระจกอยู่ในน้ำ เพื่อให้น้ำเป็นตัวช่วยในการหักเหของแสง และสี จากนั้น หาวัตถุดิบในการสะท้อน เพื่อให้ปรากฏภาพของรุ้งกินน้ำเกิดขึ้น
4. ไม่มีแดด ก็ทำรุ้งกินน้ำได้
หากคุณอยากทำกิจกรรมในการสร้างรุ้งกินน้ำ ให้ลูก ๆ ได้เรียนรู้ แต่ปรากฏว่า แสงอาทิตย์ ลาลับไปแล้วในวันนั้น คุณสามารถใช้ไฟฉายในการทดแทนแสงอาทิตย์ได้ด้วยเช่นกันค่ะ โดยการนำกระจกเงา จุ่มลงไปในน้ำ ตั้งมุม 45 องศา เพื่อให้มีองศาการกระทบแสงที่พอเหมาะ จากนั้นเปิดไฟฉาย ส่องไปที่กระจกเงา ผ่านน้ำ จากนั้นจะปรากฏภาพของรุ้งกินน้ำ บนวัตถุที่มีการส่องกระทบ เพียงเท่านี้ ลูกของคุณก็จะสามารถเพลิดเพลินกับรุ้งกินน้ำได้ แม้ว่าจะไม่มีแสงอาทิตย์ก็ตาม
5. แผ่นซีดีเก่า และไฟฉาย สร้างรุ้งกินน้ำได้แบบง่าย ๆ
อีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ โดยไม่ต้องง้อน้ำ เพียงแค่นำแผ่นซีดีเก่า และแสงจากไฟฉาย มาส่องกระทบกัน จากนั้นให้สังเกตแสงที่เกิดจากการสะท้อนออกมา จะพบว่า ปรากฏแสงสีแบบเดียวกันกับรุ้งกินน้ำเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ต้องผ่านน้ำ นั่นเป็นเพราะตัวซีดีมีสารเคลือบที่มีคุณสมบัติในการสะท้อน และหักเหของแสงได้แบบเดียวกันกับน้ำนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับเรื่องรุ้งกินน้ำ เพียงเท่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็น่าจะให้คำตอบเจ้าตัวน้อยได้แล้ว ว่าทำให้ถึงเกิดรุ้งกินน้ำ มีหลายสี และเกิดจากอะไร มีตอนไหนบ้าง ? และหากเด็ก ๆ คนไหนยังไม่เคยเจอรุ้งกินน้ำ หลังฝนตก คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมให้เด็ก ๆ ออกมาด้วยความสวยงามของรุ้งกินน้ำกันนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจจะสนใจ :
สีรุ้ง มีผลต่อสมองเด็กด้านใดบ้าง ? ช่วยปรับอารมณ์เด็กได้จริงหรือ ?
รวม 6 ศูนย์วิทยาศาสตร์ ในกรุงเทพ และใกล้กรุงเทพ สำหรับเด็ก ไปได้ทั้งบ้าน !
เดจาวู ความลึกลับกับวิทยาศาสตร์ เกิดจากอะไร มีจริงหรือไม่ !?
ที่มา : kapook 2
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!