จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งบางคนได้กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้มีปัจจัยที่เกิดจากตำแหน่ง และแสงเงาของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก ซึ่งสามารถอธิบายปรากฏการณ์ลักษณะนี้ ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน
ปรากฏการณ์ จันทรุปราคา คืออะไร?
จันทรุปราคา อ่านว่า จัน – ทะ – รุบ – ปะ – รา – คา (Lunar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในช่วงพระจันทร์เต็มดวง (ขึ้น 15 ค่ำ) เท่านั้น โดยจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งเราจะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่ส่องสว่างจะค่อย ๆ ถูกบดบังด้วยเงามืดทีละนิด จนกระทั่งแสงจันทร์ดับหายไป และเงามืดนั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกทีละนิด จนกระทั่งกลับมาสู่สภาวะปกติ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว จะใช้เวลาเกิดขึ้นประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง
คลิปจาก Thai PBS
จันทรุปราคา เกิดขึ้นได้อย่างไร?
หากจะกล่าวถึงปรากฏการณ์ของจันทรุปราคา ก็สามารถสรุปได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่กิดจาก ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ได้โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน จุดสังเกตคือ โลก จะอยู่ตรงตรงกลางระหว่าง ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์
ซึ่งจังหวะที่ดวงจันทร์เคลื่อนตัวผ่านซ้อนกับเงาของโลกนั้น คนบนโลกในฝั่งกลางคืน จะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งที่มองเห็นนั้นจะเป็นลักษณะของดวงจันทร์ที่ถูกเงาดำกลืนกินทั้งหมด หรือเพียงแค่บางส่วน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้ที่คอยสังเกตปรากฎการณ์นี้ และดวงจันทร์จะปรากฏกลับออกมาอีกครั้งหนึ่ง จนเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งคนไทยในยุคอดีต จะรู้จักกับปรากฏการณ์นี้ว่า “ราหูอมจันทร์”
และในบางจังหวะ เราจะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีลักษณะกลมโต และใหญ่กว่าปกติ มีสีน้ำตาลอมแดง ซึ่งเรามักจะได้ยินชื่อเรียกว่า “พระจันทร์สีเลือด” การที่จะปรากฎสีดังกล่าวได้ จะต้องมีเงื่อนไขของการซ้อนทับเงาแบบเต็มดวง “จันทรุปราคาเต็มดวง” (Total Lunar Eclipse)
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ สวยงามดั่งเทพนิยาย หนูน้อยต้องชอบแน่
ทำไมดวงจันทร์ถึงเป็นสีเลือด?
การที่เรามองเห็นพระจันทร์มีสีเหมือนสีเลือด คือสีน้ำตาลอมแดง ในคืนที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา นั่นเป็นเพราะมีการกระเจิง การหักเห และการสะท้อนกลับของคลื่นแสง ไม่ว่าจะเป็นแสงสีม่วง หรือแสงสีน้ำเงิน จนสุดท้าย เราจะสามารถมองเห็นเพียงแค่แสงที่มีคลื่นยาว คือ แสงสีแดง และแสงสีส้ม ที่เป็นคลื่นแสงที่สามารถเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเข้ามาได้ จนทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์ที่เราเห็นอยู่เป็นประจำมีสีที่คล้ายกับสีเลือด
แต่ละสถานที่ทั่วโลก เราจะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในบางซีกโลกจะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้เต็มดวง ในขณะที่บางส่วนของซีกโลกอาจจะมองเห็นเพียงครึ่งซีก รวมทั้งกลุ่มคนที่อยู่ในซีกโลกที่เป็นช่วงกลางวัน ก็จะไม่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้สังเกตปราฏการณ์ดังกล่าวด้วย
เงาโลกปัจจัยสำคัญของจันทรุปราคา
ปรากฏการณ์นี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่เกิดเงาของโลก ที่บดบังแสงที่ถูกส่งออกมาจากดวงอาทิตย์ สู่ดวงจันทร์ ซึ่งเราจะสามารถแบ่งเงาโลกออกได้เป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ
1. เงาส่วนที่เป็นเงามืด (Umbra Shadow) เป็นเงาส่วนที่มืดที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่ตรงกับดวงจันทร์
2. เงาส่วนที่เป็นเงามัว (Penumbra Shadow) เป็นเงาส่วนที่ยังพอจะมีแสงสลัว โดยเงามัวนี้ จะอยู่รอบ ๆ เงามืดอีกที
ชนิดของจันทรุปราคา
เราสามารถกำหนดประเภท หรือชนิดของจันทรุปราคา ได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้
- จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) จะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง หรือเต็มดวง
- จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) เกิดเงาดำขึ้นในบางส่วนของดวงจันทร์ ในลักษณะของการเฉี่ยวผ่าน ซึ่งเราจะเห็นพระจันทร์ในลักษณะของการเว้าแหว่ง
- จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) องศาของดวงจันทร์ที่เคลื่อนผ่านในส่วนเงาที่มัวของโลก ซึ่งเราจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ได้ยาก
- จันทรุปราคาเงามัวเต็มดวง จันทรุปราคาลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เป็นการเคลื่อนตัวของดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกทั้งดวง ซึ่งจะสังเกตได้จากแสงที่ส่องสะท้อนจากดวงจันทร์เป็นหลัก
ลักษณะของดวงจันทร์กับการเกิดจันทรุปราคา
เราจะแยกลักษณะของดวงจันทร์ในช่วงของการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาออกตามแสงสีที่เราสามารถมองเห็น เนื่องจากการหักเหของแสงเมื่อส่องผ่านชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งเราจะสามารถแยกออกได้เป็น 5 ระดับ ดังนี้
- ระดับ 0 : เราจะไม่สามารถเห็นแสงจากดวงจันทร์ จะมืดจนแทบจะมองไม่เห็น
- ระดับ 1 : มองเห็นดวงจันทร์เป็นสีเทา หรือสีน้ำตาล ออกโทนมืดคล้ำ ไม่สามารถมองเห็นรายละเอียด และลักษณะของพื้นผิวของดวงจันทร์ได้
- ระดับ 2 : ปรากฎสีแดงเข้มบริเวณด้านในของเงามืด และมีสีเหลืองสว่างบริเวณขอบด้านนอกของเงามืด
- ระดับ 3 : สามารถเห็นสีแดงอิฐ และปรากฏสีเหลืองสว่างบริเวณขอบของเงามืด ซึ่งจะมองเห็นชัดกว่าระดับ 2
- ระดับ 4 : ดวงจันทร์จะมีแสงสว่างเป็นสีทองแดง หรือสีส้ม และจะมีแสงสว่างมากบริเวณขอบของเงา
ปัจจัยที่ทำให้เกิดจันทรุปราคา
เงื่อนไขการเกิดจันทรุปราคานั้น นอกจากการโคจรของ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ มาเรียงตัวอยู่ในระนาบเดียวกันแล้ว ดวงจันทร์จะต้องอยู่ใกล้กับจุดตัดของระนาบนั้น จึงจะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นได้ รวมถึงระยะห่างระหว่างโลก และดวงจันทร์ ก็มีผลกับปรากฏการณ์นี้ด้วยเช่นกัน
จากสถิติในการเกิดจันทรุปราคา ทำให้เราสามารถคาดเดาวัน เวลาที่จะเกิดจันทรุปราคาครั้งต่อไปได้ ซึ่งเฉลี่ยปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ส่วนจะชัดเจนแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และการทำมุมองศาของดาวทั้งสามดวง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดาบ 2 คม ที่มีทั้งโทษ และประโยชน์ต่อเรา
ลำดับการเกิดจันทรุปราคา
การสัมผัสของดวงจันทร์กับโลกในขณะเกิดจันทรุปราคา มี 4 จังหวะด้วยกันคือ
1. สัมผัสทื่ 1 (First contact) : เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามืดของโลกครั้งแรก เมื่อขอบตะวันออกของดวงจันทร์สัมผัสเงามืดของโลกจะเริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จะแหว่งและลดความสว่างลง
2. สัมผัสที่ 2 (Second Contact) : ดวงจันทร์จะสัมผัสเงามืดของโลกครั้งที่ 2 เป็นจังหวะที่ขอบตะวันตกของดวงจันทร์สัมผัสเงาโลก ในตำแหน่งเช่นนี้ดวงจันทร์ทั้งดวงจะอยู่ในเงามืดของโลก จึงเป็นการเริ่มต้นเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะมืดลงมาก แต่ไม่ดำสนิท การสัมผัสครั้งนี้จะกินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงจะเต็มดวง
3. สัมผัสที่ 3 (Third Contact) : เป็นจุดที่ดวงจันทร์สัมผัสเงามืดของโลกเป็นครั้งที่ 3 จะเป็นการสิ้นสุดการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เริ่มมองเห็นขอบตะวันออกของดวงจันทร์สว่างขึ้น กลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วน
4. สัมผัสที่ 4 (Fouth Contact) : เป็นจุดสิ้นสุดของการเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จะผ่านพ้นเงามืดของโลกหมดดวง ดวงจันทร์จะสว่างขึ้นดังเดิม
ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับจันทรุปราคา
จันทรุปราคา ซึ่งคนไทยมักจะคุ้นเคยกับคำว่า “ราหูอมจันทร์” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ถูกเหล่าขานว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นการที่พระจันทร์ ได้ถูกราหูมากลืนกิน ซึ่งเรื่องเล่าดังกล่าว ได้มีอยู่ในบันทึกตำนานเรื่องเล่าจาก “นิทานชาติเวร” ซึ่งเป็นนิทานเรื่องแรก ๆ ของโหราศาสตร์ไทย ซึ่งนิทานดังกล่าว จะมีด้วยกัน 12 เรื่องด้วยกัน
ในอดีตเมื่อเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้น ชาวบ้านก็จะออกมา ตีฆ้องร้องป่าว จุดประทัด ทุบหม้อ ทุบไห เพื่อให้เกิดเสียงดัง เพื่อเป็นการขับไล่ราหู (เงาดำ) เพราะเชื่อว่าเป็นอสูร เป็นยักษ์ ที่ไม่ดี ให้ตกใจ และคาย หรือปล่อยพระจันทร์ ให้กลับมาส่องสว่างดังเดิม
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ระบบสุริยะ คืออะไร? เรียนรู้เรื่องราวของดาวเคราะห์ เสริมพัฒนาการเด็ก
ท้องฟ้าจำลอง พาเด็ก ๆ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ศึกษาเรื่องดาว ดูดวงกลางกรุงฯ
“อวกาศ” สถานที่แห่งปริศนา ทำไมเด็ก ๆ จึงชอบเป็นชีวิตจิตใจ
ที่มา : 1, springnews
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!