ลูกเป็นโรคคาวาซากิ อาการ
แม่แชร์ประสบการณ์ ลูกเป็นโรคคาวาซากิ อาการ เริ่มต้นคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา มีน้ำมูก เสมหะ แต่ไข้สูงเกิน 5 วัน โดยแม่ได้เล่าอาการของลูกที่เป็นโรคคาวาซากิ ว่า ลูกแอคโค่หัวใจ มีเส้นเลือดอักเสบ สรุปว่าเป็น คาวาซากิ ต้องให้ยา IVIG 4 ขวด อาจจะมีผลในการแพ้ยา เลยต้องให้ยาที่ห้องไอซียู เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดจะได้แก้ไขทัน เฉพาะค่ายาก็เกือบแสนแล้ว ต้องขอบคุณป้าหมอที่ใส่ใจ และพยายามหาเหตุผลว่าทำไมไข้ถึงสูงต่อเนื่อง สูงสุด 41.5 จนลองทำแอคโค่ แล้วก็เป็นอย่างที่ป้าหมอคิดจริง ๆ ดีที่รู้ไว รู้หลังเป็นไข้ 5 วัน เพราะถ้ารู้หลังจาก 7 วัน การรักษาจะยากมากขึ้น โรคนี้ทำให้เด็กสามารถเสียชีวิตได้ และเป็นโรคที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้มากมาย เช่น สมองอักเสบ โรคหัวใจ โรคร้าย ๆ ทั้งนั้น ถ้าปล่อยไว้ ไม่ให้ยา ไข้ก็จะลดเอง แต่!!! เส้นเลือดก็จะอักเสบ โดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต ถ้าไม่รักษาให้ถูกทาง
แม่ ๆ ลองสังเกตนะค่ะ ถ้ามีไข้สูงเกิน 5 วัน ให้ขอหมอทำแอคโค่ดูเส้นเลือด เพราะลูกตรวจเลือดยังไม่เจอ มือเท้าตัวไม่เป็นผื่นหรือลอก อาการภายนอกมีแค่ 2 อย่างคือ ต่อมน้ำเหลืองโต (มาโตวันที่ 5) ปากแดง แค่นี้ค่ะ ถ้าไม่ทำแอคโค่ก็ไม่รู้ว่าเป็นคาวาซากิเลย
คุณแม่ยังได้เล่าเรื่องลูกวัย 1 ปี 1 เดือน 22 วัน ป่วยโรคคาวาซากิ เพิ่มเติมกับทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ว่า
- อาการเริ่มต้น คือ เป็นหวัด น้ำมูก เสมหะ เยอะค่ะ พามาที่โรงพยาบาล เพื่อมาดูดเสมหะ พบคุณหมอตลอด 2-3 วันครั้งค่ะ เป็นอยู่ 2 อาทิตย์ได้ อาการเริ่มดีขึ้น แต่เริ่มมีไข้ วันที่มีไข้ เลยพามาแอทมิดที่โรงพยาบาล ไข้ 38-41.5 ค่ะ
- ไข้มีตลอด จะเว้นช่วงแค่ 1-2 ชม ที่จะไม่มีไข้ อาจเพราะให้ยาลดไข้ 2 ชนิด คือ ยาลดไข้สูงกับลดไข้ปกติ
- คุณหมอ เช็คปอด เอกซเรย์ เจาะเลือดตรวจ RSV ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไม่พบค่ะ พบแค่ติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป ให้ยาฆ่าเชื้อทางสายน้ำเกลือ แต่ไข้ก็ยังไม่ลด คุณหมอแจ้งตั้งแต่ เป็นไข้วันแรก ๆ ว่า สงสัยว่าจะเป็น คาวาซากิ แต่อาจจะไม่เป็น เพราะ การแสดงอาการภายนอกไม่ได้บ่งบอกว่าจะเป็น ค่าเลือดการอักเสบก็ขึ้นน้อย ค่าเลือดไม่ได้บงบอกว่าเป็นค่ะ
- ให้ยารักษาแบคทีเรียเข้าวันที่ 5 อาการไข้สูง เริ่มมีระยะห่างมากขึ้น ไข้สูงประมาน 4-6 ชม. ต่อครั้ง
- คุณหมอมาตรวจ พบว่าต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเข้าข่ายโรคคาวาซากิแล้วค่ะ คุณหมอเลยตัดสินใจ ที่จะ ทำแอคโค่ หัวใจ เพื่อดูเส้นเลือด ว่ามีการอักเสบหรือป่าว สรุปว่ามีเส้นเลือดขยายขึ้น ปกติ 2 mm ตรวจพบ 3mm และมีโป่งพองบางจุดค่ะ นั่นหมายถึง อาการของโรคค่ะ
- คุณหมอแจ้งว่า โรคนี้ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่จะพบมากในเด็กที่ป่วยบ่อยค่ะ ประมาณว่า มีการต้านเชื้อ ร่างกายผลิตสาร ทำให้เกิดการอักเสบ ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดจากตัวเองค่ะ คล้าย ๆ ว่า อักเสบภายใน
- คุณหมอแจ้งลำดับการรักษา – ให้ยาทางเส้นเลือด IVIG 4 ขวด – ให้ทานยา แอสไพริน 2-6 เดือน
- ข้อควรระวังการให้ยา อาจจะแพ้ยา ช็อค อ้วก ผื่นขึ้น หายใจติดขัด ชัก คุณหมอแจ้งว่า ให้ยา 2 ตัวนี้ คุณหมอจะส่งตัวไป ICU เพื่อจะติดตามอาการหลังจากให้ยาอย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 16 ชม.
- ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ก็ต้องติดตามอาการทุก 2 เดือน
- ถามหมอว่า หากไม่ให้ยาจะเป็นยังไง เพราะแม่ค่อนข้างกังวล เรื่องผลข้างเคียงของยา คุณหมอแจ้งว่า ไข้ก็จะลงปกติ แต่ก็ต้องมาลุ้นเส้นเลือดเอาว่าจะผิดปกติในระดับไหน ซึ่งหากรักษาเลย ผลข้างเคียงก็จะน้อยกว่า หากเจอหลังจาก 7 วัน คุณหมอบอกว่า หมอก็หนาวเหมือนกัน เพราะจะรักษายากขึ้น
- อาการแทรกซ้อน หากเรารู้ช้าจะมีผลต่อการรักษา อาจจะไม่ตอบสนองต่อยาหรือดื้อยา หากไม่รู้อาจจะเป็นโรคหัวใจโป่งพอง ภาวะหัวใจล้มเหลว สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ
- การให้ยา คุณหมอแจ้งว่า หากมีการแพ้ยา อาจจะปรับยาให้ช้าลง หรือถ้าแพ้เยอะ ก็จะให้ยาลำดับต่อไป อาจจะไม่ดีเท่ากับยาตัวนี้ แต่ก็ใช้แทนกันได้ค่ะ
- หลังจากให้ยา เอคโค่หลังให้ยาทางสายน้ำเกลือ จะเห็นผลชัดว่า เส้นเลือดยุบลงค่ะ
“พอให้ยา IVIG ครบ 4 ขวด อาการดีขึ้น ไข้ไม่มี ร่าเริงขึ้นค่ะ หมอให้ทานยาแอสไพริน ขนาดแรงอีก 2 วัน + กับฉีดยาเคลือบกระเพาะ เพราะแอสไพริน มักจะไปกัดกระเพาะค่ะ ถ้าอาการดีขึ้น หมอจะลดปริมาณของแอสไพริน และให้กลับไปทานต่อที่บ้านเป็นเวลา 2-6 เดือนค่ะ แล้วแต่อาการ และต้องกลับมาพบหมอ ทุก ๆ 2 เดือนค่ะ น้องยังโชคดีที่ไม่แพ้ยาใด ๆ ค่ะ ไม่มีอาการแพ้เลย มีแต่เส้นเลือดแตกต้องเปิดเส้นใหม่ค่ะ ส่วนสายที่เห็นคือ วัดความดัน ชีพจร ค่าออกซิเจน เพื่อดูอาการระหว่างให้ยา”
ลูกเป็นโรคคาวาซากิ อาการ ไข้สูงเกิน 5 วัน ต่อมน้ำเหลืองโต ปากแดง มีน้ำมูก เสมหะเยอะ ไข้สูง 41.5 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา ระวังลูกเป็นโรคคาวาซากิ
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัว ขอให้น้องแข็งแรงขึ้นเร็ว ๆ และขอบคุณคุณแม่ที่มาแบ่งปันประสบการณ์นะคะ
โรคคาวาซากิคืออะไร
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน อธิบายถึงโรคคาวาซากิ ว่า โรคคาวาซากิเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลาง โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงหัวใจ ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างที่แข็งแรงของหลอดเลือดแดง ผนังของหลอดเลือดโป่งพอง จนเกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดจากก้อนลิ่มเลือดที่แข็งตัว ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้หลอดเลือดแดงนั้นอุดตันในที่สุด
โรคนี้พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง และอายุเฉลี่ยน้อยกว่า 4 ปี โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-2 ปี พบบ่อยที่สุด
โรคคาวาซากิมีสาเหตุเกิดจากอะไร?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคคาวาซากิ แต่สันนิษฐานว่าโรคนี้น่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อหรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทานผิดปกติ ทำให้มีการอักเสบของหลอดเลือดเกิดขึ้น
อาการและอาการแสดงของโรคคาวาซากิเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคคาวาซากิจะมีอาการไข้สูง นาน 1-2 สับดาห์, มีผื่นขึ้นตามตัวและแขนขาหลังจากมีไข้ 2-3 วัน ลักษณะผื่นมีได้หลายแบบ ไม่คัน, ตาแดง โดยที่ตาขาวจะแดงโดยไม่มีขี้ตา เกิดหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน, ริมฝีปากแดง, แห้ง, ลิ้นจะแดงคล้ายลูกสตรอเบอร์รี่ , ฝ่ามือและฝ่าเท้าบวมแดง ไม่เจ็บ ต่อมาจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายของเล็บมือและเท้า หลังมีไข้มากกว่า 1 สัปดาห์, มีต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอโตข้างเดียวหรือสองข้างของลำคอก็ได้ โดยมีขนาดเกินกว่า 1.5 เซนติเมตร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย, ปวดข้อ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ตรวจปัสสาวะพบเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติแต่ไม่ติดเชื้อได้
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้คือการอักเสบหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยหลอดเลือดหัวใจอาจมีลักษณะโป่งพอง ตีบหรือแคบได้ จนเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง และเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้
อ่านเพิ่มเติม โรคที่พ่อแม่ควรทำความรู้จัก : โรคคาวาซากิคืออะไร?
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรคชิคุนกุนยาระบาด โรคติดต่อที่มากับยุง เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกน้อยในช่วงนี้!!
อาบน้ำเด็กไข้ขึ้นสูง วิธีลดไข้สูง ทำให้ลูกไข้ลด ต้องใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเย็น อาบน้ำลูก
มีเด็กเล็กต้องระวัง เตือนโรคหัดระบาดพุ่งต่อเนื่อง ตายแล้ว 18 ป่วยอีกกว่า 2,500
โรคจากยุง การป้องกันโรคที่เกิดจากยุง โรคไข้ปวดข้อยุงลาย อาการโรค วิธีป้องกันโรคร้ายจากยุง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!