โรคทางพันธุกรรม คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีน (Gene) หรือโครโมโซม (Chromosome) ซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ทุกคน แม้ว่าทารกในครรภ์จะไม่สามารถปฏิเสธการถ่ายทอดโรคต่างๆ ผ่านทางสายเลือดได้ แต่ก็ใช่ว่าเด็กๆ ทุกคนจะต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกสูงถึง 63% อย่าง โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ไปเสียหมด
โรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) หรือ โรคกลุ่ม NCDs อย่าง โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ทางเดินหายใจเรื้อรัง ฯลฯ ล้วนมีสาเหตุของการเกิดโรคสัมพันธ์กันอยู่ 2 ข้อ คือ พันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นให้โรคที่แฝงมากับพันธุกรรมแสดงความรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับคนที่ไม่มียีนผิดปกติของโรคทางพันธุกรรมติดตัวมา แต่ถ้าหากบริโภคอาหารทำลายสุขภาพ ต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็ก ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่ม NCDs ในเปอร์เซ็นต์ใกล้เคียงกัน

เช่นเดียวกับโรคเล็กๆ น้อยๆ ที่แม่อาจมองว่าไม่ร้ายแรง อย่าง โรคหวัด อาการท้องผูก ท้องเสีย หรือโรคภูมิแพ้ต่างๆ แต่ถ้าหากปล่อยให้เด็กๆ ป่วยบ่อยๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในหลายด้าน อาทิ พัฒนาการช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน เรียนไม่ทันเพื่อน หรือเสียโอกาสในการเรียนรู้โลกกว้าง สิ่งเหล่านี้ ล้วนมีความสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารด้วยเช่นกัน
โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ป้องกันได้ แค่เปลี่ยนนิสัยการกิน
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ประชากรชายและหญิงมีความเสี่ยงในการเป็นโรค NCDs เท่ากัน ผู้คนมากกว่า 9 ล้านคน มักเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี และกว่า 80% ของผู้เสียชีวิตด้วยโรค NCDs อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
ผลการสำรวจยังพบข่าวดีด้วยว่า แนวทางการป้องกันโรคกลุ่ม NCDs ที่ได้ผลชัดเจนมากที่สุด คือ การลดปัจจัยเสี่ยงของการก่อโรค ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และปรับรูปแบบการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง โดยจะลดตัวเลขของการเกิด โรคมะเร็ง ได้ถึง 40% และอีกกว่า 70% ช่วยให้ห่างไกลจาก โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ดังนั้นหากทุกคน มีโอกาสในการเริ่มต้นโภชนาการที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก ไม่เพียงจะห่างไกลจากโรคร้ายเท่านั้น แต่อาจเปลี่ยนโครงสร้างของพันธุกรรมให้ดีขึ้นได้ ทำให้ลูกหลานในรุ่นถัดไปมีโอกาสเผชิญโรคร้ายน้อยลง
กินดี ไม่มีโรค

ทราบหรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพมากมาย ล้วนมีปัจจัยมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน นักวิจัยพบว่า คนที่เป็น โรคอ้วน จะมีอายุสั้นเนื่องจากถูกโรคต่างๆ รุมเร้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคตับ ฯลฯ โดยตัวเลขผลสำรวจในปี 2010 พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั่วโลก ตกอยู่ในภาวะอ้วนสูงถึง 43 ล้านคน!!
มีคำกล่าวว่า “จงกินอาหารเป็นยา แต่อย่ากินยาเป็นอาหาร” ดังนั้น การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คืองดอาหารทำลายสุขภาพ ไม่ทานฟาสต์ฟู้ด หลีกเลี่ยงเมนูทอด ปิ้งย่าง และผลผลิตจากสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป อย่าง ไส้กรอก แฮม ชีส ที่มีไขมันสูง ให้พลังงานสูง กากใยต่ำ หันมา ทานอาหารจากพืช (Plant Base Whole Food – PBWF) ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ ที่ไม่ผ่านกระบวนการสกัด ไม่ขัดสี หรือปรุงแต่งใดๆ เพราะผักผลไม้มีกากใยสูง ให้พลังงานต่ำ อุดมด้วยสารอาหารจำเป็นมากมาย อาทิ โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ และ สารพฤกษเคมี (Phytonutrients) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีสรรพคุณป้องกัน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ รวมถึงช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ลดอาการอักเสบ และบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้
การฝึกฝนให้ลูกรักคุ้นเคยกับรสชาติของผักผลไม้ตั้งแต่วัยเด็ก นอกจากจะช่วยให้เจ้าตัวเล็กบริโภคอาหารได้ครบถ้วนถูกหลักโภชนาการที่ดีแล้ว ยังเป็นการมอบพรวิเศษ ให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนไปตลอดชีวิต
ลงทะเบียนรับคู่มือโภชนาการลูกน้อย คลิก https://startright.info/
* ข้อมูลอ้างอิง
ดร.โจเอล เฟอร์แมน (เขียน), พญ.สุธีรา เอื้อไพโรน์กิจ (แปล), โตไป…ไกลโรค (Disease-Proof your child). กรุงเทพฯ : ฟรีมายด์, 2559.
ศัลยา คงสมบูรณ์เวช, อาหารบำบัดโรค (ฉบับปรับปรุงล่าสุด). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2560.
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!