แม่แชร์ประสบการณ์ ลูกปอดอักเสบรุนแรง สาเหตุหนึ่งจากผลข้างเคียงของยา ทำให้ลูกเป็นปอดอักเสบ ติดเชื้อ น้ำท่วมปอด มีเสลดในปอด ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
แม่ใจแทบสลายลูกปอดอักเสบรุนแรง
คุณแม่ท่านนี้ ได้แชร์อุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกวัย 1 ขวบ 1 เดือน โดยเล่าว่า ประสบการณ์ ยาลดน้ำมูกจะจำไปตลอด เริ่มจากน้องไอ 2 วัน พอตกกลางคืนช่วงตี 3 น้องมีไข้ ตอนเช้ามีเสียงในลำคอเลยพาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่า น้องมีอาการหอบ พ่นยา 3 รอบแล้วยังไม่ดีขึ้น หมอส่งไปเอกซเรย์ พบปอดอักเสบ ก็น้องโรงพยาบาล ตกตอนบ่ายน้องหายใจเร็วมากขึ้นจนตัวน้องเริ่มเขียว หมอบอกต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
ใจแม่เหมือนจะสลายให้ได้เลย เข้าพบหมอ หมอบอก น้องปอดอักเสบขั้นรุนแรง ติดเชื้อ น้ำท่วมปอด มีเสลดในปอดจำนวนมาก
สาเหตุมาจาก ตอนน้องเป็นหวัด คุณแม่ให้น้องกินยาลดน้ำมูกที่ได้มาจากคลินิก มันลงไปสะสมกันอยู่ในปอด ตอนนี้น้องอาการดีขึ้นมากแล้วค่ะ หมอให้น้องกินนมได้แล้ว
ไม่ใช่แค่ไข้หวัดแต่ลูกปอดอักเสบรุนแรง
คุณแม่ยังได้อัพเดตเรื่องลูกปอดอักเสบรุนแรง กับทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ว่า “ตอนนี้อาการลูกดีขึ้นแล้ว แต่ยังต้องอยู่ ICU” พร้อมกับเล่าย้อนว่า ได้พาลูกไปหาหมอที่คลินิก 3 สัปดาห์ ก่อนที่ลูกจะเป็นแบบนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ น้องเล่นร่าเริงได้ตามปกติ
จนกระทั่งลูกไออยู่ 2 – 3 วัน และในช่วงตี 3 ก่อนพาน้องไปโรงพยาบาล น้องตัวร้อนเลยค่ะ เลยให้กินยาลดไข้ แล้วก็หลับไป ตื่นเช้ามาน้องมีเสียงในลำคอ เลยตัดสินใจพาน้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล แล้วหมอก็บอกว่า น้องหอบค่ะ เลยให้พ่นยา 3 รอบ แต่ก็ยังไม่หาย จนหมอให้ไปเอกซเรย์ พบว่าเป็นปอดอักเสบต้องนอนโรงพยาบาล พอตกบ่ายน้องหายใจผิดปกติ หมอบอกต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และนำส่งโรงพยาบาลจังหวัด
“พอมาถึงโรงพยาบาลจังหวัด หมอบอกว่าน้องต้องอยู่ ICU ค่ะ เพราะน้องอาการหนักมาก จนหมอตรวจอีกครั้ง พบว่าเป็น ปอดอักเสบ หอบ ติดเชื้อ น้ำท่วมปอด“
ส่วนสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกปอดอักเสบรุนแรง คุณหมอได้บอกคุณแม่ว่า สาเหตุหนึ่งมาจากกินยาลดน้ำมูก ทำให้เสลดสะสม
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอให้น้องแข็งแรงไวไวนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่และครอบครัวด้วยค่ะ
![ลูกปอดอักเสบรุนแรง ลูกเป็นปอดอักเสบ ติดเชื้อ น้ำท่วมปอด มีเสลดในปอด ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ใจแม่แทบสลาย ลูกปอดอักเสบรุนแรงตัวเริ่มเขียว มีไข้ หอบ หายใจเร็ว](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2018/11/ลูกปอดอักเสบรุนแรงf.jpg?width=700&quality=10)
ยาลดน้ำมูก
ภญ.กษมา กาญจนพันธุ์ คุณแม่ผู้มีดีกรีปริญญาโทด้านเภสัชศาสตร์ ได้อธิบายว่า ยาในการรักษาอาการน้ำมูกไหล หรือคนทั่วไปเรียกกันสั้นๆ ว่า “ยาลดน้ำมูก” นั้น มี 2 กลุ่มใหญ่
- ยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) หรือยาแก้แพ้
- ยาลดการคั่งของน้ำมูก (decongestants)
ยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) เป็นยาที่ยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮีสตามีนซึ่งหลั่งเมื่อเกิดอาการแพ้ โดยในปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 รุ่น คือ รุ่นเก่า ที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง และ รุ่นใหม่ ที่ไม่ทำให้ง่วงนอนหรือทำให้ง่วงน้อยลงมาก
สำหรับยาแก้แพ้รุ่นเก่า ยกตัวอย่างเช่น
- คลอเฟนิรามีน
- บรอมเฟนิรามีน
นอกจากจะสามารถยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนแล้ว ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีนที่ทำให้ต่อมภายในโพรงจมูกหลั่งน้ำมูก (ฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก) ทำให้น้ำมูกลดลง จึงสามารถใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหลจากทั้งสาเหตุไข้หวัดและอาการแพ้ได้ และเนื่องจากยาในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสู่สมองไปกดระบบประสาท ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญ คือมีอาการง่วงซึม และอาจพบอาการข้างเคียงอื่น ๆ ได้อีก เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง
คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติจึงไม่แนะนําให้นำยารุ่นนี้มาใช้บรรเทาอาการหวัดในเด็กทั่วไป เพราะไม่มีหลักฐานว่าได้ผลและยังมีผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ซึม ชัก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทำให้เสมหะข้นเหนียวขึ้นซึ่งอาจอุดกั้นทางเดินหายใจได้ ซึ่งปัจจุบันองค์การด้านยาของประเทศต่าง ๆ หลายประเทศได้ออกประกาศยกเลิกการใช้ยากลุ่มนี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ (สหรัฐอเมริกา) หรือ 6 ขวบ (แคนาดา อังกฤษ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย) ด้วยเหตุผลว่าไม่เป็นประโยชน์ในเด็กเล็กแต่อาจเกิดโทษซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้
ส่วนยาแก้แพ้รุ่นใหม่ ยกตัวอย่างเช่น
จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนโดยไม่มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก ทำให้ใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหลจากภูมิแพ้ได้ดี และพบว่ามีผลข้างเคียงต่ำกว่ากลุ่มดั้งเดิม อันได้แก่ อาการปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ท้องผูก และปัสสาวะคั่ง รวมทั้งยาในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสู่สมองได้น้อยกว่าจึงทำให้เกิดผลข้างเคียงง่วงซึมได้น้อยกว่าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการที่ผลของยาต่อการลดน้ำมูกในโรคหวัดสัมพันธ์กับฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิกของยา ดังนั้น ขณะที่ยาต้านฮิสตามีนรุ่นเก่าสามารถลดน้ำมูกในโรคหวัดลงได้ร้อยละ 25-30 แต่ยาต้านฮิสตามีนรุ่นใหม่นี้ไม่มีผลต่อการบรรเทาอาการของโรคหวัด
บทความที่น่าสนใจ : โรคร้ายในเด็กที่มากับหน้าหนาว โรคที่ทำให้เด็กป่วย มีอะไรบ้าง พ่อแม่ควรทำอย่างไร!
วิธีลดน้ำมูกลูก
ถ้าอาการมีน้ำมูกของลูกน้อยไม่ได้รุนแรงมากนักอยากแนะนำให้แก้ไขปัญหาอาการหวัดได้ด้วยการดูแลรักษาเบื้องต้นดังนี้ก่อนค่ะ
- ในเด็กเล็กที่มีน้ำมูกมาก แนะนำให้ผู้ปกครองช่วยดูดออก หรือใช้ไม้พันสำลี หรือผ้านุ่มที่ม้วนปลายแหลมสอดเข้าไปซับน้ำมูก หรือดูดออกโดยใช้ลูกยางแดง ส่วนในเด็กโตสอนให้สั่งน้ำมูกเอง
- หากเด็กคัดจมูกหรือมีน้ำมูกข้นเหนียวแห้งกรังในรูจมูกจนหายใจลำบาก ให้หยอดด้วย น้ำเกลือ(0.9% Normal Saline) ข้างละ 1 – 2 หยด หรือใช้ไม้พันสำลี หรือผ้านุ่มที่ม้วนปลายแหลมชุบน้ำอุ่น หรือน้ำเกลือสอดเข้ารูจมูก เพื่อให้น้ำมูกเปียกและอ่อนตัว เอาออกได้ง่ายขึ้น เด็กจะหายใจโล่งขึ้น
บทความที่น่าสนใจ : ยาแก้แพ้ vs ยาลดน้ำมูก เหมือนกันไหม??
หากไม่อยากให้ลูกปอดอักเสบรุนแรงหรือป่วยรุนแรง พ่อแม่ต้องช่วยกันสังเกตอาการลูกนะคะ หากลูกป่วยไม่หายเสียที ให้รีบพาลูกไปตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะเด็กวัยทารก หรือเด็กเล็ก เพราะที่โรงพยาบาลมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และกุมารแพทย์ ที่จะรักษาได้เฉพาะทางค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีล้างจมูก ระบายขี้มูก ช่วยให้จมูกโล่ง แบบไม่สำลักลงปอดลูก
ลูกปอดบวม หลอดลมอักเสบ เป็นไข้หวัดใหญ่ แม่แชร์อุทาหรณ์ มโนไปว่าลูกร้อน จนป่วยเป็นชุด
โรคฮิตทารกติดจากผู้ใหญ่ ลูกติดเชื้อจากพ่อแม่ได้ง่ายกว่าที่คิด ทารกติดโรคทีไรเป็นหนักกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!