การตั้งครรภ์ไม่ใช่ช่วงเวลามหัศจรรย์สำหรับคุณแม่เท่านั้นนะคะ แต่ยังสำคัญต่อคุณพ่อด้วย ดังนั้น การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกที่ร่างกายของคุณแม่กำลังปรับตัวและมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง คุณพ่อเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันบางอย่างเพื่อซัพพอร์ตคุณแม่ด้วยเช่นกัน บทความนี้จึงจะมาแนะนำ วิธีดูแลคนท้องอ่อน คู่มือสำหรับคุณพ่อดูแลคุณแม่ ช่วงไตรมาสแรก แล้วจะรู้ค่ะว่า การมีส่วนร่วมดูแลภรรยาและลูกน้อยในครรภ์อย่างใกล้ชิดสามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์อันอบอุ่นในครอบครัวได้ดียิ่ง
วิธีดูแลคนท้องอ่อน สังเกตอาการคุณแม่ ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของตัวเองหลายอย่างในไตรมาสแรก ดังนี้
- ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด
- รู้สึกเหนื่อย เพลีย จนอยากนอนพักมากๆ
- เต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น คัดเจ็บเต้านม
- น้ำหนักตัวคงที่ หรือเพิ่ม 1-3 กิโลกรัม
- อาจมีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เพราะระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรืออาจกินอาหารไม่ได้
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
ซึ่ง วิธีดูแลคนท้องอ่อน ในช่วงไตรมาสแรกนี้ นอกจากการเรียนรู้และกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือ ฝากครรภ์ ตั้งแต่รู้ตัวว่าเริ่มตั้งครรภ์ เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้สูงถึง 90% และป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษได้ 70%
โดยคุณแม่ควรหมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาตามการดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสอยู่เสมอ เพราะการที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีอารมณ์ดี จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่ในท้องนะคะ
|
ความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังในช่วง ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
|
อาการแพ้ท้อง |
คุณแม่ส่วนใหญ่มักแพ้ท้องอย่างหนักในช่วงไตรมาสแรก คลื่นไส้ อาเจียน และกินอาหารไม่ได้ ซึ่งหากละเลยการกินอาจเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อแม่และทารก
- ทารกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารบำรุงสมองอย่างเพียงพอ
- คุณแม่เกิดภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่และวิตามิน
|
เลือดออกทางช่องคลอด |
ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดเป็นอันตรายที่สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุครรภ์ และมีความเสี่ยงต่อชีวิตของทารกในครรภ์และคุณแม่อย่างมาก หากเกิดขึ้นต้องพบแพทย์ทันที |
ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง |
คนท้องส่วนใหญ่มักมีอาการปวดท้องน้อยเป็นปกติ เพราะกล้ามเนื้อมดลูกมีการขยายตัวเพื่อรองรับตัวอ่อนในครรภ์ แต่หากปวดมากขึ้นจนผิดสังเกต หรือปวดติดต่อกันนาน ควรรีบพบแพทย์ |
โรคประจำตัวของคุณแม่ |
ภาวะเสี่ยงในไตรมาสแรกขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของคุณแม่ได้ด้วย ทั้ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โลหิตจาง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และโรคธาลัสซีเมีย |
อายุของแม่ท้อง |
อายุขณะตั้งครรภ์ก็มีผลต่อความเสี่ยงเช่นกัน โดยคนท้องที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 40 ปี ควรปรึกษาแพทย์และตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ |
ความกังวลใจของคุณพ่อมือใหม่ช่วงคุณแม่ท้องอ่อน
ด้วยอารมณ์แปรปรวนของคนท้องอ่อนไตรมาสแรก อาจทำให้คุณพ่อมือใหม่หลายคนประสบปัญหาในการรับมือ และเกิดความกังวลใจหลายอย่างในการปรับตัวค่ะ ซึ่งคุณพ่อบางคนถึงกับแพ้ท้องแทนคุณแม่ก็มี มาดูกันค่ะว่าช่วงที่คุณแม่ท้องอ่อน คุณพ่อมักจะกังวลเรื่องอะไรบ้าง
-
ต้องรองรับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงบ่อยของคุณแม่
อย่างที่รู้กันค่ะว่าคนท้องมักมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ตลอดเวลา สามารถเหวี่ยงโดยไม่มีสาเหตุได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณพ่อจึงต้องความทำความเข้าใจและคอยให้กำลังใจภรรยา มีการปลอบโยนอย่างจริงใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่อาการดีขึ้น ความกังวลใจในเรื่องนี้ของคุณพ่อก็จะลดลงตามไปด้วย
-
มีอารมณ์แปรปรวนเหมือนภรรยา
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะว่า คุณสามีจำนวนไม่น้อยที่ร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับภรรยา เช่น เกิดอารมณ์ซึมเศร้า ทั้งพร้อมกันหรือสลับกันกับคุณแม่ ดังนั้น ทั้งคู่จึงควรทำความเข้าใจร่วมกัน จับมือกันทำตัวให้สดชื่นกระฉับกระเฉง ร่วมทำกิจกรรมสำหรับหญิงตั้งครรภ์และเตรียมความพร้อมให้ลูกน้อยไปด้วยกัน ความรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้นจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ค่ะ
-
วิตกกังวลเรื่องการมีเพศสัมพันธ์
เป็นความกังวลว่าการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องนั่นเอง รวมถึงอาจทำให้ความรู้สึกทางเพศของคุณพ่อบางคนเปลี่ยนไป เนื่องจากรูปร่างของภรรยาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
ซึ่งต้องบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่คุณแม่ท้องอ่อนนั้นไม่เป็นอันตรายต่อลูกในท้องนะคะ แต่กลับช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่ได้ด้วย โดยพบว่าความเคลื่อนไหวของมดลูกขณะมีเพศสัมพันธ์เป็นผลดีกับทารก ช่วยให้ทารกสงบ แต่ควรหลีกเลี่ยง ท่าเซ็กส์ที่มีการกดทับหรือกระแทกบริเวณหน้าท้องโดยตรงค่ะ
มีรายงานพบว่า สามีที่ภรรยากำลังตั้งครรภ์ ร้อยละ 11 – 65 จะแพ้ท้องตามภรรยาด้วย ทั้งคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องผูก เป็นตะคริว เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลีย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งอาจเกิดจากความรู้สึกมีส่วนร่วม หรือเป็นเพราะความเครียดที่ต้องเจอกับภาวะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไปจนถึงเกิดจากความรู้สึกผิดที่ภรรยาพบกับความไม่สุขสบายในการตั้งครรภ์อยู่คนเดียวนั่นเอง
9 วิธีดูแลคนท้องอ่อน คู่มือสำหรับคุณพ่อดูแลคุณแม่
ความกังวลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคุณพ่อมือใหม่นั้น ไม่เพียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะอารมณ์และร่างกายของคุณแม่ที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่มักสร้างความวิตกให้คุณพ่ออีกมาก อาทิ กังวลเรื่องการเป็นพ่อที่ดี วิธีการเลี้ยงลูก สุขภาพของภรรยาและลูกน้อยที่จะคลอดออกมา เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เยียวยาได้ด้วย 9 วิธีดูแลคนท้องอ่อน คู่มือสำหรับคุณพ่อดูแลคุณแม่ ที่เรานำมาฝาก ดังนี้ค่ะ
-
พาคุณแม่ไปฝากครรภ์และพบแพทย์ตามกำหนด
ตั้งแต่เริ่มต้นของการฝากครรภ์ รวมถึงการพบแพทย์ตามนัด คุณพ่อควรไปด้วยทุกครั้ง เพื่อช่วยดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งรับรู้พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ไปพร้อมกันกับคุณแม่ ซึ่งหลังจากฝากครรภ์คุณหมอมักนัดตรวจครรภ์หลายครั้ง โดยในช่วงแรกมักจะนัดตรวจทุกๆ เดือน และนัดถี่มากขึ้นในช่วงใกล้คลอดค่ะ
-
ศึกษาวิธีดูแลเด็กล่วงหน้า
เมื่อรู้ว่าภรรยาตั้งครรภ์ คุณพ่อควรเริ่มศึกษาวิธีดูแลเด็กทารกเพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพราะร่างกายทารกแรกเกิดจะมีความบอบบางเป็นพิเศษ กระดูกข้อต่อต่างๆ ยังไม่แข็งแรง การอุ้มลูก การอาบน้ำ การจับลูกเรอ การเปลี่ยนผ้าอ้อม จึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อให้ทำได้อย่างถูกต้องปลอดภัย โดยอาจปรึกษาแพทย์ หรือศึกษาจากสมุดฝากครรภ์สีชมพูของคุณแม่ก็ได้ค่ะ
-
ดูแลอาหารการกินของคุณแม่เป็นพิเศษ
โภชนาการระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจดูแลมากเป็นพิเศษค่ะ ต้องรู้ว่าอะไรกินได้ สิ่งไหนไม่ควรกิน เพราะสารอาหารที่คุณแม่ได้รับจะส่งไปยังลูกน้อยในครรภ์ด้วย ดังนั้น คุณพ่อควรดูแลคุณแม่ด้วยอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ นม หรืออาหารที่จำเป็นสำหรับคนท้องโดยเฉพาะ เพื่อบำรุงให้ร่างกายคุณแม่แข็งแรง และเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์ให้สมบูรณ์
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องไตรมาสแรกกินอะไรดี 7 อาหารสำหรับคนท้องไตรมาสแรก
-
ดูแลแม่ท้องด้วยความห่วงใย ไม่ใช้อารมณ์
คุณพ่อควรดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิด แสดงความเป็นห่วงเป็นใย เมื่อคุณแม่มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียนง่าย เวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวง่าย รวมถึงให้กำลังใจอยู่เสมอ แม้ในยามที่คุณแม่เหวี่ยงวีน ควรเข้าใจว่าทุกสิ่งเกิดเพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนคนท้อง การใช้อารมณ์อาจทำให้คุณแม่เครียดหรือเสียใจได้ค่ะ
-
มอบสัมผัสที่อบอุ่นให้คุณแม่
สัมผัสอันอบอุ่นของคุณพ่อเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่สื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับรู้ถึงความห่วงใยค่ะ ลองกอดหรือสัมผัสเบาๆ บริเวณหน้าท้องคุณแม่สิคะ จะช่วยสร้างความอบอุ่น ความรู้สึกผ่อนคลาย และปลอดภัยให้คุณแม่ได้ดีมากๆ เลยค่ะ
-
ช่วยแบ่งเบางานบ้านจากคุณแม่บ้าง
ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่อาจทำงานบ้านได้ลำบากขึ้น จึงถึงเวลาที่คุณพ่อจะต้องยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือบ้างแล้วค่ะ รับงานบ้านที่ต้องใช้แรงหนักๆ มาอยู่ในความรับผิดชอบ ให้คุณแม่ทำงานบ้านเบาๆ สบายๆ พอได้ออกแรกขยับร่างกายบ้างเล็กน้อยก็พอค่ะ ไม่เพียงดีต่อสุขภาพครรภ์ แต่ยังดีต่อใจคุณแม่ด้วยนะคะ
-
สวมบทหมอนวดให้ภรรยาบ้าง
คนท้องมักมีอาการปวดเมื่อยง่ายค่ะ โดยเฉพาะบริเวณหลังและขา ซึ่งคุณพ่อสามารถช่วยบีบนวดเพื่อผ่อนคลายความล้า บรรเทาอาการปวดเมื่อยให้คุณแม่ได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ก่อนทำการการนวดให้ภรรยานะคะ
|
วิธีดูแลคนท้องอ่อน 3 ท่านวดผ่อนคลายให้คุณแม่
|
นวดต้นขา |
- นวดขณะที่คุณแม่นอนหงาย หนุนหมอนในท่าสบาย
- ค่อยๆ นวดตั้งแต่บริเวณหัวเข่าไปจนถึงต้นขา
- ใช้ทั้งสองมือในการนวด บีบนวดด้วยน้ำหนักมือที่พอดี ไม่หนักจนเกินไป เพื่อไม่ให้คุณแม่เจ็บ
|
นวดหลัง |
- นวดขณะที่คุณแม่นอนตะแคงข้าง ด้านใดด้านหนึ่ง หนุนหมอนในท่าสบาย
- คุณพ่อประคองสะโพกคุณแม่เอาไว้ด้วยมือหนึ่งข้าง
- มืออีกข้างบีบนวดไล่ไปตามกระดูกสันหลัง
- น้ำหนักมืออยู่ในระดับที่ไม่แรงหรือเบาเกินไป เพื่อให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย
|
นวดหน้าท้อง |
- คุณพ่อนั่งซ้อนอยู่ด้านหลังคุณแม่
- จากนั้นใช้มือนวดวนเบาๆ เป็นวงกลมบริเวณหน้าท้องตั้งแต่บนลงล่าง
- ใช้น้ำหนักมือที่เบาเหมือนการลูบ
- ไม่ได้เน้นคลายความปวดเมื่อย แต่เน้นสร้างความอบอุ่นให้กับคุณแม่ และบรรเทาความเครียด ความกังวล
|
-
เล่นกับลูกในท้องบ่อยๆ
คุณพ่อควรหาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกับคุณแม่บ่อยๆ ทั้งการพูดคุย อ่านหนังสือหรือร้องเพลงให้ฟัง ซึ่งจะช่วยสร้างความสุขให้คุณแม่ และเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อกับลูกน้อยในครรภ์ ทำให้ลูกคุ้นและชินกับเสียงคุณพ่อมากขึ้นด้วย
-
จับมือกันไปเปิดหูเปิดตาบ้าง
การกักตัวคนท้องไว้ในบ้านไม่ได้เป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ค่ะ แต่จะยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกอุดอู้ เกิดความเครียดสะสม แต่ควรจับจูงมือกันออกไปเปิดหูเปิดตา เดินเล่นตามสวนสาธารณะบ้าง ช้อปปิ้ง กินบุฟเฟ่ต์บ้าง จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย เครียดน้อยลง ไม่อุดอู้จนเกินไปค่ะ
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้น คุณพ่อและคุณแม่ควรปรึกษากันเพื่อตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ก่อนนะคะ เนื่องจากโรคทางพันธุกรรมสามารถป้องกันด้วยการตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยคัดกรองและประเมินความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ หากพบปัญหาก็สามารถวางแผนรับมือได้ทันท่วงที ช่วยให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย ลูกน้อยในครรภ์เจริญเติบโตได้ตามปกติมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
การมีลูกเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งคุณแม่และคุณพ่อนะคะ เมื่อคุณแม่ต้องอุ้มท้องนานถึง 9 เดือน เผชิญกับความเจ็บปวด และอาการข้างเคียงต่างๆ มากมาย คนรู้ใจอย่างคุณพ่อจึงควรช่วยแบ่งเบาและดูแลคุณแม่อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความสุขให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในท้อง เมื่อสองแม่ลูกมีความสุข คุณพ่อยิ่งมีความสุขแน่นอนค่ะ
ที่มา : www.samitivejhospitals.com , brustamiracle.com , www.happybirthclinic.com , www.paolohospital.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาการคนท้อง ฉี่สีอะไร บ่งบอกสุขภาพแม่ท้องได้ไหม
คนท้องนั่งยองได้ไหม ท่านั่งคนท้อง ท่าไหนไม่ควรนั่งระหว่างตั้งครรภ์
อยากกินแต่สงสัย! คนท้องกินน้ำมะพร้าว ดีหรือไม่? ท้องอ่อนกินน้ำมะพร้าวได้ไหม
ยาไตรเฟอร์ดีน คนท้อง กินตอนไหน กินแล้วอาเจียน ไม่กินได้ไหม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!