พ่อไปไหน คำถามที่คุณอาจไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งจะต้องมาหาวิธีที่จะตอบลูกเมื่อพวกเขาถาม เมื่อโดนถามเข้าจริงแล้วควรเลือกตอบอย่างไรเพื่อให้ลูกเข้าใจ และไม่เสียใจ ควรบอกความจริงกับเขาหรือควรเก็บไว้ดี มาดูกันดีกว่าค่ะว่าเราสามารถรับมือกับคำถามว่า พ่อไปไหน ด้วยวิธีการใดบ้าง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับประเด็น “ พ่อไปไหน ”
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็ก ๆ จะเริ่มมีคำถามเกี่ยวกับพ่อของเขาที่ไม่อยู่ในช่วงเวลาที่พวกเขาเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล หรือเริ่มเข้าสังคมกับเด็กคนอื่น ๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ การส่งบุตรหลานไปโรงเรียนของครอบครัวอื่น การเข้าร่วมกิจกรรมของผู้ปกครอง รวมถึงการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับโครงสร้างของครอบครัว ก็อาจส่งผลทำให้เด็ก ๆ นั้นสามารถตั้งคำถามขึ้นมาในใจเพียงลำพัง ก่อนที่จะตัดสินใจถามออกมา โดยคำถามที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้
- พ่อหนูคือใครเหรอ
- ทำไมเขาไม่อยู่กับเรา
- เขาจะกลับมาไหม
- หนูจะได้เจอเขาหรือเปล่า
- เขารักหนูกับแม่ไหม
- ทำไมเพื่อนถึงมีพ่อ แล้วทำไมหนูไม่มี
ข้อความข้างต้นเป็นเพียงคำถามบางคำถามเท่านั้น ซึ่งเด็กแต่ละคนนั้นจะประดิษฐ์คำถามที่จะถามคุณแม่ที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่สถานการณ์ที่เขาพบ ซึ่งถ้าหากคุณเลือกที่จะไม่ตอบ หรือหนีปัญหา ก็จะยิ่งทำให้เด็ก ๆ อยากรู้ และเซ้าซี้คุณมากยิ่งขึ้น พวกเขาจะถามคำถามซ้ำไปวนมากจนกว่าจะได้คำตอบ
บทความที่น่าสนใจ : อยากหย่าแต่สงสารลูก ทำยังไงดี ขอหย่าสามียังไง ให้กระทบลูกน้อยที่สุด
วางแผนอย่างไร เมื่อสักวันจะต้องตอบคำถามลูก
หากคุณทราบเป็นอย่างดีว่าความสัมพันธ์ของคุณและแฟนเก่านั้นไม่สามารถไปต่อได้ เหลือเพียงคุณที่จะต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง การวางแผนที่จะบอกความจริง หรือพูดเกี่ยวกับข้อมูลพ่อของเขาในอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยการวางแผนในการพูดคุยกับลูกของคุณนั้นจะต้องเป็นคำพูดที่เด็ก ๆ สามารถเข้าใจได้ง่าย และจะต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์ หรือใส่ความคิดเห็นเชิงลบของคุณลงไปในคำตอบเหล่านั้นเด็ดขาด ถึงแม้ว่าคำตอบเหล่านี้จะทำให้เด็ก ๆ เกิดคำถามอีกมากมาย แต่อย่างน้อยพวกเขาก็จะเข้าใจได้ว่า การที่พ่อของพวกเขาไม่อยู่กับเขาในเวลานี้ หรือในอนาคตนั้นไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่น่ารัก ดื้อ หรือได้ทำอะไรที่ผิดพลาดไปโดยที่เขาไม่รู้ตัวนั่นเอง
วิธีรับมือกับคำถามของลูกว่าพ่อไปไหน
การตั้งคำถามของเด็ก ๆ นั้นเป็นเรื่องปกติของพวกเขา ไม่ว่าเหตุผลของการไม่มีอยู่ของพ่อของเด็กนั้นคืออะไร สิ่งที่คุณจะต้องดำเนินหน้าปฏิบัติต่อไปคือการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ มาดูกันดีกว่าค่ะว่าถ้าเจอคำถามนี้จริง ๆ คุณแม่ควรบอกกับลูกยังไงดี
1. บอกความจริง
ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย การบอกความจริงนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดเรื่องของความสัมพันธ์ของคุณ แต่คุณก็ไม่ควรที่จะโกหก หรือบอกข้อความเท็จ และการแต่งเรื่องที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงต่อเด็ก ๆ และอย่าพยายามที่จะปกปิดข้อมูลกับพวกเขามากจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้พวกเขานั้นอยากรู้มากยิ่งขึ้น โดยการบอกความจริงกับเด็ก ๆ นั้นคุณควรต้องระวังเกี่ยวกับการปฏิบัติตนดังต่อไปนี้
-
- หลีกเลี่ยงการบอกข้อมูลที่มากเกินไป
เรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัวของคุณอาจมีทั้งดี และไม่ดี แต่การตัดความทรงจำ หรือรายละเอียดที่ไม่ดีออกไปนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี บางรายละเอียดที่ทำร้ายจิตใจของคุณและลูกของคุณควรตัดออกไปจะเป็นผลดีที่สุด
เมื่อพิจารณาแล้วตัวคุณเองนั้นจะรู้ดีมากที่สุดว่าจะพูดอย่างไรให้พวกเขาเข้าใจ สำหรับเด็กเล็กอาจเป็นคำตอบง่าย ๆ ไม่ลงรายละเอียด ส่วนเด็กที่โตแล้วคุณสามารถบอกพวกเขาได้เท่าที่จำเป็น และอย่าลืมที่จะบอกพวกเขาด้วยว่าการที่พ่อของพวกเขาไม่อยู่นั้นไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขา
-
- เก็บความรู้สึกส่วนตัว ความกลัว และความกังวลไว้กับตัวเอง
บางครั้งคุณอาจต้องเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ ยอมรับความเจ็บปวด และส่งรอยยิ้มเพื่อเป็นกำลังใจให้กับลูก และบอกพวกเขาว่าคุณไม่เป็นอะไร
2. รับฟังสิ่งที่พวกเขาพูด
เมื่อลูก ๆ ของคุณเริ่มพูดถึงพ่อของพวกเขา หลังจากที่คุณบอกเหตุผลไป อย่าลืมที่จะตั้งใจรับฟังในสิ่งที่พวกเขาพูด อย่าพยายามที่จะแก้ไขคำพูดของเขา แต่ให้คอยแอบสังเกตว่าในขณะที่พูดนั้นพวกเขาอยู่ในอารมณ์ไหน โดยคุณสามารถที่จะตอบรับคำพูดของพวกเขาได้ แต่ต้องใช้คำที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าคุณเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาจริง ๆ อาทิ
-
- ลูกกำลังโกรธหรือเปล่า
- บางครั้งแม่ก็โกรธเหมือนกัน
- แม่รู้ว่ามันยาก แต่เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
บทความน่าสนใจ : 20 คำปลอบลูก ทำอย่างไรให้ลูกหายโกรธ ง่าย ๆ ด้วยคำพูด
3. หลีกเลี่ยงการพูดโจมตีอีกฝ่าย
การพูดถึงอดีตคนรักเก่าที่แยกทางกันไปนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากที่คุณจะไม่พูดถึงข้อไม่ดีของพวกเขาออกมา แต่การที่คุณพูดเรื่องไม่ดีของพ่อเด็กออกมานั้นอาจส่งผลทำให้พวกเขาคิดว่า เขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของพ่อเหมือนกัน ดังนั้นเขาก็น่าจะเป็นคนไม่ดีเช่นกัน ในสถาการณ์แบบนี้การที่คุณวางแผนการตอบคำถามล่วงหน้ามาก่อนแล้วนั้นจะช่วยคุณได้เป็นอย่างมาก เพราะอย่างน้อยคุณก็จะมีเวลาคิดถึงข้อดีบางข้อของเขา เพื่อไม่ให้ลูกเข้าใจว่าพวกเขาก็จะกลายเป็นคนไม่ดีเช่นกัน
4. ทำให้พวกเขาเข้าใจบทบาทของครอบครัว
โครงสร้างของครอบครัวที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นเวลาช้านานนั้นทำให้เด็ก ๆ คิดว่าการที่จะเป็นครอบครัวได้จะต้องประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคุณควรสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจคำว่าครอบครัวที่แท้จริง ทำให้เขาเห็นว่าการครอบครัวของพวกเขานั้นไม่ได้แตกต่างจากครอบครัวอื่น เด็กบางคนอาจอาศัยอยู่กับปู่ย่า เด็กบางคนอาจอยู่กับพ่อคนเดียว เด็กบางคนอาจอยู่กับพ่อสองคน หรือบางคนก็อาจอยู่กับแม่เหมือนกับเขา คุณต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าการขาดพ่อนั้นไม่ได้ทำให้พวกเขาพลาดบางสิ่งบางอย่างไป เพราะท้ายที่สุดแล้วความรักของคุณที่มีต่อเขาเท่านั้นก็เกินพอแล้ว
บทความที่น่าสนใจ : สอนลูกยังไงให้เข้าใจ ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ไม่จำเป็นต้องมีแค่พ่อ แม่ และลูก
5. ระบายความโกรธในใจ
ในช่วงแรกคุณอาจจะต้องรับมือกับอารมณ์ของพวกเขา โดยคุณสามารถส่งเสริมให้พวกเขาให้พวกเขารู้สึกขอบคุณ และคิดในเชิงบวกเกี่ยวกับพ่อของเขา หรือการแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ระหว่างคุณกับเขาให้เด็ก ๆ ฟังเพื่อไม่ให้พวกเขาจมอยู่กับความรู้สึกของการถูกทอดทิ้งไป ถ้าหากพวกเขาไม่รับฟัง หรือไม่ต้องการที่จะฟังเรื่องราวต่าง ๆ แล้ว คุณสามารถให้พวกเขาระบายอารมณ์ หรือทำจิตใจให้สงบด้วนการจดบันทึกระบายความรู้สึกเชิงลบ การทำสมาธิ หรือแม้แต่การสวดมนต์ เพื่อทำให้พวกเขาสงบลง และไม่จมอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นนานจนเกินไป แต่หากพวกเขาจมอยู่ในความเศร้านานจนเกินไป คุณควรรีบพาเขาไปพบจิตแพทย์เพื่อหาหนทางในแก้ไขต่อไป
6. อยู่เคียงข้างพวกเขา
ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการที่จะทำให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องของการไม่มีพ่อของพวกเขาในครั้งแรกที่พูดถึง เด็กบางคนอาจพูดเรื่องนี้วกไปวนมาอยู่หลายปี แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาจะสามารถเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ เมื่อเวลานั้นมาถึง หรือเมื่อพวกเขาโตมากพอที่จะเข้าใจเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การที่คุณคอยอยู่ข้างพวกเขาในวันที่เขากำลังคิดถึงพ่อ หรือการที่เขารู้สึกน้อยใจที่ครอบครัวของเขาไม่เหมือนกับครอบครัวอื่นนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ จงทำให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาไม่ได้ต่างไปจากครอบครัวอื่น การกอดเขาและคอยอยู่ข้างเขาก็อาจช่วยให้พวกเขารู้สึกดีมากยิ่งขึ้น
เรื่องความรู้สึก ความสัมพันธ์ และการรักนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา การพูดคุยหรือแม้แต่การปฏิบัติในบางครั้งอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี แต่ก็ขอให้คุณแม่อย่ายอมแพ้นะคะ ถึงแม้ว่าตอนนี้เด็ก ๆ จะยังไม่เข้าในสิ่งที่คุณพูดมากนัก แต่เชื่อว่าสักวันพวกเขาจะเข้าใจว่าความรักที่คุณมีให้กับพวกเขานั้นไม่ได้ทำให้เขาไม่เหมือนกันคนอื่น และการที่พวกเขาขาดพ่อ ไม่ได้เท่ากับว่าเขาผิดพลาดหรือไม่น่ารัก เป็นกำลังใจให้นะคะ
บทความที่น่าสนใจ :
ควรรู้! ครอบครัวเพศเดียวกัน เป็นครอบครัวที่อบอุ่นได้ ไม่เกี่ยวกับเพศ
7 กิจกรรมต้านซึมเศร้า ในเด็ก เติมสุข พัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว
มาดูกันว่า พ่อแม่ผู้ปกครองในเอเชีย มี วิธีการสอนลูกเรื่องเงิน อย่างไร
ที่มา : verywellfamily, wikihow, focusonthefamily
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!