ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าเด็กหลาย ๆ คน สามารถเติบโตเป็นคนที่มีความสุขได้ โดยที่ไม่ได้มี ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ หรือเป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมไทย การสอนลูกให้รู้จักเคารพความแตกต่างของคนอื่นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เราจะสอนให้ลูกเข้าใจถึงความแตกต่างเหล่านี้ได้ยังไงบ้าง หรือหากว่าเรามีลูกที่เกิดมาในครอบครัวที่อาจจะขาดพ่อ หรือขาดแม่ หรือไม่ก็มีพ่อแม่เป็นเพศเดียวกัน จะสอนเด็กแบบไหนดี เดี๋ยววันนี้เรามาดูเทคนิคสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
สอนให้เด็กเข้าใจถึงความแตกต่างของคำว่า “ครอบครัว”
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องการสอนให้เด็กเข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างของแต่ละครอบครัว สามารถนำวิธีเหล่านี้ ไปใช้กับเด็ก ๆ ได้
1. สอนเด็กผ่านสื่อ
อย่างแรกเลย ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่า การให้เด็กซึมซับและอยู่กับภาพความแตกต่างตั้งแต่เด็กผ่านสื่อโซเชียล ละครทีวี หรือรายการโทรทัศน์ จะทำให้เด็กไม่คิดว่าสิ่งเหล่านั้นแปลก ซึ่งคุณแม่ควรเปิดทีวี หรือวิดีโอให้เด็ก ๆ ได้เห็น ได้ดู และเคยชินกับภาพครอบครัวที่หลากหลาย แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ลูก ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่เด็กมีพ่อเเม่เพศเดียวกัน
2. คุณแม่ต้องคบเพื่อนที่หลากหลาย
หากคุณแม่เข้าสังคมเก่งอยู่แล้ว เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา ให้คุณแม่ลองคบเพื่อนที่มีครอบครัวที่แตกต่างออกไป หรือมาจากครอบครัวที่หลากหลาย ที่ไม่ใช่ครอบครัวตามอุดมคติของสังคม และหมั่นแวะเวียนไปมาหาสู่กับบ่อย ๆ เพื่อให้น้อง ๆ ได้คลุกคลีกับเพื่อน ๆ และอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวจนเคยชิน
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 ครอบครัว LGBTQ คนดัง อบอวลด้วยความรักของเจ้าตัวน้อย
ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เป็นเพศเดียวกัน ก็เป็น ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ได้ และอบอุ่นไม่แพ้ครอบครัวไหน (ภาพจาก shutterstock.com)
3. สอนให้เด็กมีจุดยืน และมั่นใจในตัวเอง
ว่ากันว่าเด็ก ๆ ที่มี self-esteem และมีจุดยืนเป็นของตัวเอง จะกล้าคิด และกล้ายอมรับในสิ่งที่แตกต่างจากกรอบที่สังคมกำหนดได้ คุณแม่ควรสอนให้น้อง ๆ หัดตัดสินใจเองตั้งแต่ยังเด็ก โดยอาจจะเริ่มจากการให้เด็กเลือก ว่าจะรับประทานอะไรในวันนั้น ๆ หรือให้เด็กเลือกว่าอยากจะทำอะไรในวันหยุด เพื่อช่วยให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง และกล้าตัดสินใจเองมากยิ่งขึ้น และเมื่อเขาเห็นครอบครัวที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ เขาก็จะยอมรับได้ง่าย ไม่กลัวที่จะคิดแตกต่าง และก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งนั้นดูแปลกแยกจากสังคม
4. กล้าตอบทุกคำถามที่เด็กถาม
หากเด็ก ๆ เห็นครอบครัวบางครอบครัว ที่แตกต่างจากครอบครัวของตัวเอง เด็กอาจเกิดคำถามขึ้นในใจ และวันดีคืนดี เด็กก็อาจจะถามคุณพ่อคุณแม่แบบไม่ทันตั้งตัว หากคุณพ่อคุณแม่โดนเด็กถามเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ จงอย่ากลัวที่จะตอบคำถามเด็ก ๆ โดยเด็ดขาด เพราะไม่อย่างนั้น เขาอาจจะไปถามคนอื่นแทน และได้คำตอบกลับมาแบบผิด ๆ จงเปิดใจ กล้าตอบคำถามของเด็กอย่างตรงไปตรงมา และควรตอบอย่างเหมาะสม จงสอนเขาว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่ครอบครัวคนอื่นนั้น จะแตกต่างจากครอบครัวของตนเอง และสอนให้เขายอมรับในความแตกต่างของคนอื่น หากเด็ก ๆ เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาสงสัยได้ เขาก็จะไม่ปิดบังคุณพ่อคุณแม่ และกล้าถาม กล้าปรึกษา เมื่อเขาสงสัยหรือมีปัญหาอะไรอีกในอนาคต
5. ขอความช่วยเหลือจากคุณครู
หากลูก ๆ ของเรา เป็นหนึ่งในคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่ต่างจากคนทั่วไป และก็ดูเหมือนว่าเด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป แยกตัวจากคนในครอบครัว ไม่อยากไปโรงเรียน ให้คุณแม่เข้าปรึกษาคุณครู เพื่อสอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะนี่อาจเป็นไปได้ว่า เด็กอาจจะโดนเพื่อนล้อ หรือโดนเพื่อนแกล้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดลิสต์ ! คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวคนดังต่างประเทศ ปี 2021 เลี้ยงลูกคนเดียว ก็เฟี้ยวได้
ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีพ่อหรือเเม่ที่เป็นคนละเพศ (shutterstock.com)
คำพูดที่เหมาะสม สำหรับสอนเด็ก
เด็ก ๆ ที่ยังอายุน้อย อาจจะยังไม่เข้าใจคำพูดหรือคำศัพท์ยาก ๆ และรับสารที่คุณแม่ต้องการสื่อได้ไม่เท่ากับเด็กโต คุณแม่จึงควรเลือกใช้คำตามระดับและประโยคตามอายุของเด็ก ซึ่งอาจทำได้ดังนี้
สอนเด็กเกี่ยวกับครอบครัวที่มีบุตรบุญธรรม
- เด็กวัยอนุบาล สอนลูกว่าบางทีพ่อและแม่ของเด็กคนน้ัน อาจจะไม่พร้อมดูแลเด็ก เลยหาครอบครัวอื่นที่พร้อมให้ความรักเด็ก มาดูแลเด็กคนนั้นแทน
- เด็กวัยประถมศึกษา สอนลูกว่าบางครั้ง พ่อแม่บางคนก็เตรียมการให้ลูกของตัวเองไปอยู่กับคนอื่น ที่พร้อมดูแลลูก ๆ มากกว่าตัวพวกเขา
- เด็กโต สอนลูกว่าเด็ก ๆ เหล่านั้น อาจจะต้องการครอบครัวใหม่ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ บ่อยครั้งก็เป็นเพราะว่าพ่อแม่พวกเขายังเด็กเกินไป หรือป่วยเกินไปที่จะดูแลพวกเขา หรืออาจจะลำบากจนไม่สามารถให้ความปลอดภัยและเลี้ยงดูเด็กได้ ซึ่งครอบครัวใหม่ ก็จะรักและดูแลพวกเด็ก ๆ ได้ดี จากนั้นก็ให้คุณแม่ถามลูก ๆ ตบท้ายว่าลูก ๆ อยากจะถามคำถามอะไรบ้างไหม หากลูก ๆ สงสัย ก็ควรตอบอย่างเหมาะสม
สอนเด็กเกี่ยวกับครอบครัวข้ามเพศ
- เด็กวัยอนุบาล สอนลูกว่าบางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ไม่ก็ผู้หญิง หรืออาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นเพศไหนเลย แต่สุดท้ายแล้ว เขาเหล่านั้นก็รักและหวงแหนลูก ๆ ของตัวเองไม่แพ้ใคร
- เด็กวัยประถมศึกษา สอนลูกว่าบางคนมีเพศที่ไม่ตรงตามร่างกาย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขารักลูกของตัวเองน้อยลงแม้แต่นิดเดียว
- เด็กโต สอนลูกว่าบางคนอาจจะมีเพศ หรืออวัยวะเพศต่างจากสิ่งที่เขาแสดงออก บางคนมองว่าตัวเองเป็นผู้ชาย บางคนก็มองตัวเองเป็นผู้หญิง หรือไม่ก็ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นเพศไหนเลย แต่ท้ายที่สุดเเล้ว พวกเขาก็เป็นพ่อแม่ที่ดีให้กับลูก ๆ ได้เหมือนกัน
สอนเด็กเกี่ยวกับครอบครัวที่มีพ่อแม่เพศเดียวกัน
- เด็กวัยอนุบาล สอนเด็กว่ามีบางครอบครัวอาจจะมีพ่อ 2 คน หรืออาจจะมีแม่ 2 คน ซึ่งเขาเหล่านั้น เป็นครอบครัวที่น่ารักมาก และเป็นพ่อแม่ที่ดีให้เด็ก ๆ ได้
- เด็กวัยประถมศึกษา สอนเด็กว่าแม้จะมีบางครอบครัวที่มีพ่อ 2 คน หรือมีแม่ 2 คน แต่เขาก็เป็นครอบครัวที่น่ารักไม่แพ้กับครอบครัวของเรา
- เด็กโต สอนให้เด็กเข้าใจถึงคำว่า LGBTQ+ ว่าคืออะไร หมายความว่าอย่างไร และสอนให้เด็กเข้าใจว่าคนเราสามารถมีอะไร ๆ ที่ต่างกันได้ เพียงแค่ต้องยอมรับและเข้าใจในความต่าง เคารพซึ่งกันและกัน ไม่มองเป็นความแตกต่างเป็นความแปลกแยก
ปัจจุบัน เราจะเห็นว่าเริ่มมีหลาย ๆ ครอบครัวที่ไม่ใช่ครอบครัวในอุดมคติของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ ซึ่งการที่คนอื่น หรือครอบครัวอื่นนั้นแตกต่างจากเราหรือคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และก็ไม่ใช่สิ่งที่แปลก ในยุคนี้ คนเราควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือเป็นสิ่งที่ตัวเองต้องการ ตราบใดที่เขาเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน และก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องสอนให้ลูก ๆ เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ และไม่แบ่งแยกหรือเหยียดใคร เพื่อให้ลูก ๆ เติบโตมาเป็นคนที่พร้อมเข้าใจคนอื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
พ่อแม่เป็น LGBTQ แล้วลูกจะเป็นไหม ? เลี้ยงลูกฉบับ LGBT
LGBT / LGBTQ คืออะไร การเปิดใจและตอบคำถามเกี่ยวกับ LGBT กับลูกของคุณ
18 เรื่องคนมีลูกผู้ชาย ที่ต้องพร้อมรับมือตั้งแต่เกิดจนโต!!
ที่มา : parents.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!