รู้ไหมคะว่า การดูแลและกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ สำคัญไม่แพ้การดูแลเอาใจใส่สุขภาพกายและใจของคุณแม่ตั้งครรภ์เลยค่ะ เพราะพัฒนาการของทารกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปฏิสนธิ ในแต่ละสัปดาห์ของการตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย คุณแม่จึงจำเป็นที่ต้องรู้ทุกการเปลี่ยนแปลงและทุกพัฒนาการของทารก หากมีการ กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ อย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรงและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งเรามีวิธีกระตุ้นพัฒนาการทารกตั้งแต่ในครรภ์ที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ด้วยตัวเองมาฝากค่ะ

พัฒนาการของทารกในครรภ์
ก่อนจะไปดูวิธี กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ มาดูและทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าค่ะว่า ตลอดเวลา 9 เดือนที่อยู่ในพุงกลมๆ ของคุณแม่นั้นลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง
|
พัฒนาการตลอด 9 เดือน ของทารกในครรภ์
|
ช่วงเดือนที่ 1-3 |
- เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มมีการปฏิสนธิไข่ และฝังตัวอยู่ในผนังมดลูก
- อวัยวะสำคัญของทารกเริ่มก่อตัว สมองและระบบประสาทพัฒนาอย่างรวดเร็ว
- เมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไปร่างกายจะเริ่มสร้างอวัยวะต่างๆที่สำคัญขึ้นมา
|
เดือนที่ 4-5 |
- ลูกน้อยที่เริ่มโตขึ้น เริ่มเคลื่อนไหวได้
- การได้ยินและการมองเห็นเริ่มพัฒนา สามารถจดจำหรือแยกแยะเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้
|
ในเดือนที่ 6-7 |
- เซลล์ประสาทภายในสมองของทารกมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
- ทารกจะเริ่มลืมตาหรือกะพริบตาเมื่อเห็นแสง บางครั้งอาจดิ้นแรงจนคุณแม่รู้สึกได้
|
เดือนที่ 8-9
( อายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์) |
- เป็นช่วงที่ลูกอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอด อวัยวะทุกส่วนเติบโตเต็มที่ พร้อมที่จะคลอดได้ตลอดเวลา
|
ทั้งนี้ โดยทั่วไปคุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ได้เป็นครั้งแรก ก็คือช่วงอายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ค่ะ ซึ่งช่วงเวลาที่แม่ท้องแต่ละคนรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อย หรือการที่ “ลูกดิ้น” จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตามความหนาของไขมันใต้ผิวหนังคุณแม่ ปริมาณน้ำคร่ำ และตำแหน่งของรกค่ะ

3 ปัจจัยที่กระตุ้นการเคลื่อนไหว และ กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์
เมื่อคุณแม่สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ได้ ลองใช้ 3 ปัจจัยต่อไปนี้เพื่อสื่อสารและกระตุ้นการเคลื่อนไหว รวมทั้ง กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ กันดูสิคะ
-
เสียง
การวิจัยของ National Academy of Sciences ระบุว่า ทารกมีการเรียนรู้ที่จะจดจำคำต่างๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยจะเริ่มได้ยินเสียงต่างๆ ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 24-26 สัปดาห์ การพูดคุยและเสียงเพลงจึงมีผลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของทารก ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกเมื่อมีการพูดคุยกับลูกในท้องหรือเพิ่มเสียงขณะฟังเพลงค่ะ
-
แสง
ในช่วงเดือนที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ ทารกจะสามารถลืมตาและกะพริบตาได้ โดยม่านตามีการพัฒนาขึ้นและจะเริ่มตอบสนองต่อแสงที่กระทบครรภ์ แม้ภาพที่ทารกมองเห็นจะยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อคุณแม่อยู่ในที่แสงจ้ามากๆ ก็มีโอกาสที่ลูกน้อยจะเคลื่อนไหวตอบสนองต่อแสงนั้น
-
สัมผัส
โดยเฉพาะสัมผัสจากคุณแม่ เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ได้เป็นอย่างดี โดยลูกอาจมีการขยับแขน หัว หรือปาก เมื่อคุณแม่สัมผัสบริเวณท้องค่ะ

8 วิธี กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ ที่คุณพ่อแม่ทำได้
การเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้ลูกน้อยนั้นไม่ต้องรอจนถึงวันคลอด หรืออาศัยการฟูมฟักเลี้ยงดูอย่างพิถีพิถันหลังจากลูกน้อยลืมตาออกมาดูโลกเท่านั้น แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยสร้างพื้นฐานพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกน้อยได้ตั้งแต่ในครรภ์ มาดู 8 วิธี กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ ที่คุณพ่อแม่ทำได้กันค่ะ
-
พูดคุยและสื่อสารกับทารกในครรภ์
คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มพูดคุยกับลูกน้อยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อาจใช้การอ่านนิทาน หรือเล่าเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้ลูกน้อยฟัง ซึ่งการพูดคุยกับทารกในครรภ์จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านภาษาและการสื่อสาร แม้ลูกน้อยจะยังไม่สามารถตอบสนองเหมือนเด็กที่คลอดออกมาแล้ว แต่ลูกก็สามารถรับรู้เสียงจากภายนอกได้ ลูกจะรู้สึกได้ถึงการมีอยู่ของพ่อแม่ สามารถช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูกในครรภ์ได้ ทั้งยังกระตุ้นพัฒนาการการได้ยินของทารกได้ดีด้วยค่ะ
-
การฟังเพลง
เสียงเพลงที่มีจังหวะสม่ำเสมอจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเซลล์สมองของทารกในครรภ์ได้ ทั้งยังช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย ส่งเสริมการรับรู้ทางเสียงซึ่งเป็นทักษะสำคัญในช่วงเริ่มต้นของชีวิต ดังนั้น ในช่วงอายุครรภ์ 24-26 สัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหาโอกาสเปิดเพลงบรรเลง เสียงนุ่มๆ หรือเพลงคลาสสิก ให้ลูกน้อยฟัง จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านการได้ยินรวมถึงพัฒนาการด้านอารมณ์ของทารกได้ค่ะ

-
การลูบหน้าท้อง สัมผัสท้องเบาๆ
การลูบหน้าท้องช่วยสร้างความผูกพันระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย และกระตุ้นพัฒนาการทางด้านประสาทสัมผัส ช่วยให้ทารกรู้สึกถึงความอบอุ่นจากแม่ คุณพ่อคุณแม่ลองลูบหน้าท้องเบาๆ เป็นวงกลมสิคะ ช่วยให้ลูกรู้สึกถึงความรักและการดูแลจากพ่อแม่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังคลอดได้ค่ะ
-
ใช้ไฟฉายส่องท้อง
เนื่องจาก “แสง” เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลูกในท้อง ดังนั้น การส่องไฟฉายที่หน้าท้องคุณแม่จึงเป็น การกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ ได้อีกทางหนึ่ง โดยจะส่งผลให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพหรือการมองเห็นของทารกมีพัฒนาการดีขึ้น แต่ควรทำในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 6-7 เดือน ที่ลูกในท้องสามารถลืมตา กะพริบตา และแยกความแตกต่างระหว่างความมืดหรือความสว่างได้แล้ว และต้องไม่เป็นแสงแรงสูงเด็ดขาดเพราะอาจเกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเปิดหรือปิดไฟเป็นจังหวะ เคลื่อนไปมาซ้าย ขวา ประมาณ 1-2 นาที วันละ 5-10 ครั้งค่ะ
-
โภชนาการที่เหมาะสม
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เน้นอาหารที่มีโฟเลต ธาตุเหล็ก แคลเซียม และโอเมก้า 3 ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการของสมอง กระดูก และร่างกายทารกในครรภ์ ร่วมกับการดื่มน้ำให้เพียงพอในทุกๆ วันนะคะ

-
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แม่ท้องออกกำลังกายได้นะคะ โดยคุณแม่ควรออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน โยคะสำหรับคนท้อง หรือว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงและลดความเครียดในระหว่างตั้งครรภ์ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกายแม่และลูก ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของทารกและช่วยให้ร่างกายแม่มีสุขภาพที่ดี และทำให้ทารกในครรภ์รู้สึกสงบได้ด้วยค่ะ
-
พักผ่อนอย่างเพียงพอ
คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันค่ะ เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอช่วยให้ร่างกายคุณแม่ฟื้นฟูและส่งผลดีต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีคุณพ่อช่วยดูแลงานบ้านและอำนวยความสะดวกให้คุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ด้วยจะดีมากค่ะ
-
การลดความเครียด
สภาพจิตใจของคุณแม่สามารถส่งผลต่อทารกในครรภ์โดยตรงค่ะ ดังนั้น การทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถชวนกันทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น การทำสมาธิ การหายใจลึกๆ หรือการทำกิจกรรมที่ชอบ เมื่อแม่มีจิตใจที่สงบ ทารกในครรภ์ก็จะมีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่หากปล่อยให้คุณแม่อยู่ในภาวะเครียด สารแห่งความเครียดก็จะหลั่งออกมา ส่งผลต่อการเจริญเติบโต หรือระบบประสาทของลูก แต่ถ้าคุณแม่มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส ฮอร์โมนแห่งความสุขก็จะหลั่งออกมา ช่วยให้ลูกในท้องอารมณ์ดี และเมื่อคลอดออกมาก็จะเลี้ยงง่ายนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตราย และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีความสำคัญที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้อย่างใกล้ชิด การตรวจสุขภาพจะช่วยให้แพทย์สามารถแนะนำวิธีการดูแลที่เหมาะสม ก่อนเริ่มกิจกรรมใดๆ เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย และตรวจสอบว่าทารกได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องหรือไม่
การกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เพื่อลูกน้อย การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ การพูดคุยและสื่อสารกับลูกน้อย การทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เป็นเด็กที่ฉลาดและแข็งแรง มีความพร้อมเต็มที่สำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังคลอดค่ะ
ที่มา : www.bpksamutprakan.com , www.paolohospital.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คำถามที่แม่ท้องควรรู้! ตั้งครรภ์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ไหม ?
เช็กอาการ! ตกขาวแบบไหน “ท้อง” ตกขาวคนท้องระยะแรก เป็นยังไง
ติ่งเนื้อตอนท้อง ภัยร้าย หรือเรื่องปกติ? ปัญหาผิว! ที่แม่ตั้งครรภ์ต้องเข้าใจ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!