การนอนหลับ คือองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก การหลับได้ลึก หลับได้นาน และหลับเป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้พวกเขาตื่นขึ้นมามีความร่าเริงสดใส และพร้อมที่จะเรียนรู้โลกใบใหม่อย่างเต็มที่ คุณแม่คงสงสัยว่า ลูกของเราควรจะนอนกี่ชั่วโมงกันนะ ยิ่งเป็นลูกทารกล่ะ ทารกแรกเกิดนอนกี่ชั่วโมง หากลูกนอนนานเกินไป ควรจะปลุกหรือไม่ วันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่มาดูกันว่า เด็กทารกแรกเกิดควรนอนกี่ชั่วโมง พร้อมแล้ว ไปดูกันเลย
ลักษณะการนอนของเด็กทารก
ลูกน้อยวัยทารก ยังไม่รู้จักกลางวัน หรือกลางคืน คุณพ่อคุณแม่จึงจะเห็นว่าเด็กทารกนอนหลับได้ตลอดเวลา แล้วก็สามารถตื่นขึ้นมาได้ตลอดทั้งวันเช่นกัน สาเหตุของการตื่นก็เป็นเพราะความหิวนั่นเอง กระเพาะของลูกยังเล็กมากเหลือเกิน และมีความจุไม่เพียงพอที่จะโอบอุ้มน้ำนมเพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองได้นานนัก ลูกจึงมักจะตื่นขึ้นมาเพราะความหิว โดยไม่เลือกเลยว่าจะเป็นเวลาตีสอง ตีสาม หรือแปดโมงเช้าก็ตาม
ทารกแรกเกิดนอนกี่ชั่วโมง นอนเป็นเวลาขนาดไหน ?
1 วันมี 24 ชั่วโมง และเป็นเวลาที่ลูกน้อยแรกเกิดนอนหลับไปแล้วถึง 14 – 17 ชั่วโมง อาจจะดูว่านานแล้ว แต่ก็ยังมีเด็กทารกบางคนที่ทุบสถิติการนอนหลับยาวนานไปได้ถึง 19 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว
โดยปกติ เด็กทารกจะตื่นขึ้นมาทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมงเพราะความหิว แม่ให้นมอาจจะต้องเอาลูกเข้าเต้าบ่อยเสียหน่อย เพราะลูกน้อยจะหิวเร็วกว่า เด็กที่กินนมขวด หากลูกน้อยหลับนานเกินไป คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะปลุกลูกให้ตื่นขึ้นมากินนมทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่พอดี และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม หรืออย่างน้อย ๆ ก็ช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด หลังจากนั้นค่อยปล่อยให้ลูกหลับยาวขึ้น โดยไม่ต้องปลุกในเวลากลางคืนได้
ลักษณะการนอนหลับของทารก แบ่งตามช่วงอายุ
การนอนหลับของเด็กทารกไม่มีลักษณะที่แน่นอน คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเรียนรู้จากชีวิตน้อย ๆ ของลูกว่า พวกเขาชอบนอนหลับในเวลาไหนมากกว่ากัน ทารกอายุ 2 – 3 เดือนบางคนจะนอนตอนกลางคืนรวดเดียว 5 – 6 ชั่วโมง ในขณะที่ทารกบางคนก็ไม่เป็นแบบนั้น มาดูกันว่าทารกในแต่ละเดือน มีนิสัยการนอนอย่างไรบ้าง ?
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกนอนกี่ชั่วโมง เทคนิคจัดตาราง การนอนของทารก เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี
เด็กแรกเกิด 0 – 2 เดือน นอนวันละ 14 – 17 ชั่วโมง
ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลจนกลับมาถึงบ้าน คุณพ่อคุณแม่อาจจะยังไม่เห็นลูกลืมตาตื่นมามองหน้ากันบ้างเลย การนอนหลับน่ะ คงจะเป็นความสุขของลูกในตอนนี้ก็เป็นไปได้ เพราะลูกใช้เวลาไปกับการนอนมากถึง 14 – 17 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว
ในช่วงเวลา 2 เดือนแรก กิจวัตรประจำวันของลูกจะมีแค่การนอน ตื่นมากิน ขับถ่ายใส่ผ้าอ้อม เสร็จแล้วก็กลับไปนอนต่อ เป็นอย่างนี้วนไป คุณแม่เองก็จะได้พักผ่อน ในตอนที่ลูกนอนหลับ แต่ก็ต้องตื่น ในเวลาที่ลูกตื่นเช่นกัน โดยทารกแรกเกิดมักจะตื่นขึ้นมาทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง และเพราะลูกยังไม่รู้จักกลางวัน กลางคืน เจ้าตัวเล็กก็เลยจะตื่นทั้งวันกันไปเลย
- ปลุกดีไหม ? หากลูกหลับนานเกินไปแล้ว
เมื่อกลับมาอยู่ที่บ้านแล้ว ลูกควรจะได้รับน้ำนมอย่างพอเพียง เพื่อให้น้ำหนักตัวกลับไปเท่ากับตอนแรกคลอด (โดยทั่วไปน้ำหนักตัวแรกคลอดของทารกจะลดลง 7 – 10 เปอร์เซ็นต์ หลังจากคลอด) ในช่วง 2 สัปดาห์แรก หรือประมาณ 10 -14 วัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องปลุกให้ลูกตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อกินนม ซึ่งหลังจากน้ำหนักตัวของลูกเข้าที่แล้ว ก็สามารถปล่อยให้ลูกหลับนานกว่าเดิมได้ แม้ว่ายังไงเจ้าตัวเล็กก็คงจะตื่นขึ้นมาร้องหานมแม่ในตอนกลางดึกอยู่ทุก ๆ วันอยู่ดี ก็เป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้แหละ
เคล็ดลับ ช่วยให้ลูกนอนหลับในเวลากลางคืนได้ด้วยการสร้างบรรยากาศตอนกลางคืนให้มืด และสงบเงียบ ในขณะเดียวกันก็ใช้แสงสว่างจากดวงไฟในเวลากลางวัน จะทำให้ลูกแยกแยะกลางวันกลางคืนได้มากขึ้น และเป็นการฝึกให้ลูกนอนหลับเป็นเวลาด้วย
ทารกวัย 3 – 5 เดือน เริ่มรู้จักกลางวัน – กลางคืน
เข้าสู่เดือนที่ 3 – 5 ถึงเวลานี้ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็คงทำความคุ้นเคยกับวัฏจักรชีวิตน้อย ๆ ของลูกได้มากขึ้นแล้ว และคงพอจะคาดเดาความต้องการของลูกได้อย่างแม่นยำขึ้นแน่ ๆ ว่าลูกตื่นเพราะหิว หรือตื่นเพราะอยากจะเล่นกับพ่อแม่
ลูกน้อยในวัยนี้เริ่มจะคุ้นเคยกับแสงแดดยามเช้า และเข้าใจถึงความมืดมิดในยามค่ำคืนขึ้นมาบ้าง ทารกบางคนจะเริ่มนอนหลับได้ยาวมากขึ้น ประมาณ 6 ชั่วโมงในเวลากลางคืน คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกนอนหลับตอนกลางคืนได้ และไม่ต้องปลุก หากไม่จำเป็น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกนอนเยอะเกินไป ลูกน้อยวัยทารกนอนมากเกินไปจะเป็นอะไรไหม?
- ทารกก็นอนไม่หลับได้เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าลูกวัย 3 – 5 เดือน จะหลับในเวลากลางคืนได้นานขึ้น แต่ทำไมลูกของคุณแม่ยังตื่นขึ้นมากลางดึกทุกที ! จะเรียกว่าเด็กวัยนี้ก็มีอาการนอนไม่หลับ หรือพฤติกรรมการนอนถดถอย (sleep regression) ก็ว่าได้ เพราะหลังจากที่นอนหลับกลางคืน ตื่นตอนเช้าได้สักพัก ลูกก็จะกลับไปตื่นตอนกลางคืนบ่อย ๆ และงีบหลับในตอนกลางวันแทน สาเหตุของพฤติกรรมการนอนหลับที่ถดถอยลงไปนี้ เกิดจากการพัฒนาการที่ค่อย ๆ ก้าวไกลขึ้น ทั้งกระบวนการด้านความคิด การรับรู้ พัฒนาการทางอารมณ์ และร่างกาย จึงทำให้สูญเสียการนอนหลับที่เป็นปกติไปในช่วงเวลาหนึ่ง
เคล็ดลับ คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะค่อย ๆ กล่อมให้ลูกง่วง แต่ยังไม่ถึงกับหลับลึก เป็นการฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะหลับได้ด้วยตัวเองในอนาคต
ทารกวัย 6 – 8 เดือน มักจะงีบกลางวัน นอนกลางคืน
เมื่ออายุ 6 เดือน ทารกส่วนมากก็พร้อมที่จะนอนหลับอย่างเต็มที่ในเวลากลางคืน โดยไม่ตื่นมาดื่มนมกลางดึกอีกแล้ว นิสัยการนอนหลับของลูกวัยนี้จะนอนตอนกลางคืน 8 ชั่วโมงขึ้นไป และจะนอนตอนกลางวันอีกประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง แบ่งเป็นการงีบรอบสั้น ๆ ตลอดวัน
แต่กระนั้น ภาวะการนอนถดถอย (sleep regression) นั้น ก็ดูเหมือนจะกลับมาอีกแล้ว แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากทารกจะมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแยกจาก (separation anxiety) ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นพัฒนาการของเด็ก ลูกอาจจะร้องไห้ ไม่ยอมนอน หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่เคยฝึกให้ลูกนอนหลับด้วยตัวเองมาก่อน ก็จะเป็นการยากที่จะฝึกลูกในตอนนี้ หากลูกร้องไห้งอแง คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งโกรธ หรือทำหน้าดุใส่ ให้ลูบศีรษะลูกเบา ๆ ร้องเพลงกล่อม ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และรู้ว่าพ่อกับแม่จะอยู่ตรงนี้กับลูกเสมอ
ทารกวัย 9 – 12 เดือน
ลูกวัย 9 เดือนนี้ได้นอนเต็มอิ่มเสียทีในตอนกลางคืน ลูกจะหลับสบายไปจนถึง 9 – 12 ชั่วโมงเลยทีเดียว แต่ก็ยังจะงีบหลับในตอนเช้า และตอนกลางวัน รวมเวลานอนกลางวันก็ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมงต่อวัน
การกลับมาของพฤติกรรมการนอนที่ถดถอยคราวนี้ เป็นเพราะลูกกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตอีกช่วงหนึ่ง นั่นคือการขึ้นของฟันน้ำนม พัฒนาการด้านร่างกาย การคลาน การยืน ทักษะการได้ยิน และการสื่อสารใหม่ ๆ หากคุณพ่อคุณแม่ได้ฝึกให้ลูกนิสัยการนอนให้ลูกอยู่ตลอดเวลา ลูกก็จะกลับมานอนหลับเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกนอน อย่าทำแบบนี้! 5 สิ่งที่ต้องห้ามเกี่ยวกับการนอนของทารก
ท่านอนที่ปลอดภัยที่สุดของทารก
ท่านอนหงาย เป็นท่านอนของทารกที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อโรคใหลตายในทารก หรือ Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) ท่านอนหงายปลอดภัยมากกว่าการนอนตะแคงถึง 2 เท่า และปลอดภัยมากกว่าการนอนคว่ำถึง 6 เท่า เพราะจะทำให้ลูกหายใจได้สะดวก
ทารกนอนคว่ำได้ไหม ?
หากต้องการให้ลูกหัวทุย อยากฝึกลูกนอนคว่ำ ควรทำขณะที่ลูกตื่น โดยมีข้อดีของการจับลูกนอนคว่ำ ที่ไม่ใช่แค่หัวทุยสวยเช่น การจับลูกนอนคว่ำ ช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวของลูกวัย 0 – 6 เดือน สามารถพลิกตัว คลาน นั่ง ลุก ยืน และเดินได้เร็วกว่า การฝึกลูกนอนคว่ำ ทารกจะฝึกยกคอขึ้นจากพื้น เป็นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ และกล้ามเนื้อหลังส่วนบน ลดความเสี่ยงในการเกิด SIDS ทั้งนี้การให้ลูกนอนคว่ำต้องอยู่ในสายตาของพ่อแม่ อย่าปล่อยให้ลูกนอนหลับไปเลย เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ หากคลาดสายตาจากพ่อแม่
การนอนหลับเด็กทารกอาจไม่มีลักษณะที่แน่นอน คุณพ่อคุณแม่จึงควรใช้วิธีการสังเกตอารมณ์ และนับชั่วโมงการนอนของลูกด้วย เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน บางคนอาจตื่นบ่อย บางคนอาจหลับยาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้าใจการนอนของลูก เพื่อการเจริญเติบโตที่ดีของเขา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทารกนอนบิดตัว เกิดจากอะไร ส่งผลเสียต่อสุขภาพลูกน้อยหรือไม่?
ลูกนอนกระตุก ทารกนอนหลับไม่สนิท เป็นเพราะอะไร พ่อแม่ต้องกังวลไหม?
ทารกนอนอย่างไรให้ปลอดภัย ท่านอนทารก ที่นอนทารกแรกเกิด ต้องเป็นแบบไหน
ที่มา : healthline, kidshealth
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!