การลาคลอดเป็นอีกหนึ่งสิทธิที่แม่ตั้งครรภ์ควรรู้ เพราะช่วงเวลาหลังคลอดเป็นช่วงสำคัญในการดูแลลูกน้อยและฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่ ซึ่งสิทธิการลาคลอดไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของระยะเวลาการหยุดงานเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับค่าจ้างและสวัสดิการที่คุณแม่มีสิทธิได้รับ เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองและลูกได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตใจของแม่และลูกให้ได้รับช่วงเวลาที่ดีที่สุดร่วมกัน ดังนั้น การรู้สิทธิของตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ลาคลอดได้กี่วัน เพื่อให้คุณแม่สามารถวางแผนการลาคลอดได้อย่างเหมาะสมและได้รับประโยชน์สูงสุดจากสิทธิที่มีอยู่ แล้วสิทธิลาคลอด 2568 ที่แม่ตั้งครรภ์ควรรู้มีอะไรบ้าง? บทความนี้มีรายละเอียดมาฝาก
ลาคลอดได้กี่วัน อัปเดตปี 2568
ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิ ลาคลอดบุตรได้สูงสุดรวม 98 วัน โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็นวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอด 8 วัน และ วันลาหลังจากคลอดบุตร เพื่อพักฟื้น ดูแลร่างกายตนเองและลูกน้อยอีก 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือนนั่นเอง
โดยจำนวน 98 วันนี้ คุณแม่สามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ตั้งแต่ก่อนคลอดหรือจะเริ่มใช้สิทธิ์ลาหลังคลอดก็สามารถเลือกได้
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าการลาคลอด ไม่เท่ากับ การลาป่วย ดังนั้นการลาไปตรวจครรภ์ คุณแม่สามารถใช้สิทธิลาคลอดได้เลย ไม่ต้องลาป่วย เพราะ พรบ.แรงงาน กำหนดวันลาสำหรับตรวจครรภ์เพิ่มให้อีก 8 วัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นสามารถใช้สิทธิลาคลอด เดือนละ 1 ครั้งระหว่างตั้งครรภ์ได้ หรือจะเก็บไว้ลายาวๆ 98 วันหลังคลอดรวดเดียวก็ได้เช่นกัน
ลาคลอด 98 วัน นับยังไง นับวันหยุดไหม
หลังจากคลอด คุณแม่มีสิทธิลาคลอดได้อีก 90 วัน โดยข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุไว้ว่า ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ลาเพื่อคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยนับรวมวันหยุดด้วย
ซึ่งวันหยุดในที่นี้ หมายถึง วันหยุดประจำสัปดาห์ (เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย) วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี
หมายความว่าเมื่อแจ้งวันลาคลอดกับบริษัท ระบุวันแน่นอนแล้ว สิทธิวันลาคลอดนั้นก็จะนับรวดเดียวจากวันนั้นๆ ไปจนครบ 90 วัน เช่น หากคุณระบุลาคลอดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 สิทธิลาคลอดก็จะใช้ได้จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 นั่นเอง

ลาคลอดได้เงินเดือนไหม จ่ายอย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์สงสัยกันมากก็คือ เมื่อลาคลอดแล้วยังได้เงินเดือนหรือเปล่า ลาคลอด 98 วัน จ่ายกี่วัน
ตามมาตรา 59 ระบุไว้ว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา 41 เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 45 วัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือคุณแม่จะได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนในระยะเวลา 45 วันที่ลาคลอดจากนายจ้างนั่นเอง
ซึ่งตามกฎหมายแรงงาน สิทธิลาคลอดรวมทั้งสิ้น 98 วัน แบ่งเป็น ลาคลอด 90 วัน และ ลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอด 8 วัน กฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายให้ 45 วัน และอาจจ่ายเพิ่มอีก 8 วัน หากลูกจ้างใช้สิทธิลาตรวจครรภ์ครบตามสิทธิ อย่างไรก็ตาม นายจ้างสามารถเลือกจ่ายเฉพาะ 45 วันแรกก่อน แล้วพิจารณาจ่ายเพิ่มภายหลังตามข้อตกลงกับลูกจ้างได้ แต่ไม่สามารถจ่ายต่ำกว่า 45 วันได้ เพราะหากจ่ายน้อยกว่านี้ ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 59 และอาจถูกปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท
ลาคลอดประกันสังคม เบิกเงินได้เท่าไหร่
ในส่วน 45 วันที่เหลือจากการลาคลอดทั้งหมด 90 วันนั้น ประกันสังคมเป็นผู้จ่าย โดยได้รับเงินจำนวน 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน) ทั้งนี้แม้จะลาคลอด แต่เนื่องจากคุณแม่ยังเป็นพนักงานประจำ ได้รับเงินเดือนอยู่ จึงจะยังถูกหักประกันสังคมจากเงินเดือนตามปกติค่ะ
ลาคลอด 98 วัน สิทธิ์ข้าราชการ
สำหรับ ข้าราชการหญิง ปัจจุบันมีสิทธิ์ ลาคลอด โดยได้รับค่าจ้าง 98 วัน ซึ่งช่วยให้คุณแม่มีเวลาพักฟื้นและดูแลลูกน้อยในช่วงแรกเกิดได้มากขึ้น นอกจากนี้ หากคุณแม่ต้องการลาต่อเนื่องเพื่อดูแลลูกหลังครบกำหนด 98 วันแล้ว ก็สามารถลาต่อได้อีก สูงสุด 90 วัน โดยยังได้รับเงินเดือนในอัตรา 50% ของเงินเดือนปกติ รวมแล้ว คุณแม่ข้าราชการสามารถลาคลอดได้ถึง 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน เลยทีเดียว

สามีลาคลอด เพื่อดูแลภรรยาและลูกได้ไหม
สามีลาช่วยภรรยาคลอดบุตรได้กี่วัน คุณพ่อที่เป็น ข้าราชการ สามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ 15 วัน แต่ต้องเป็นการลาที่ไม่ติดกัน เช่น ลา 2 วันแรกที่ภรรยาคลอดบุตร แล้วกลับมาทำงาน และลาอีก 3 วันเพื่อพาลูกไปหาหมอตรวจพัฒนาการ สะสมไปได้เรื่อยๆ จนครบ 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับพนักงานบริษัทเอกชน ตอนนี้กฎหมายยังไม่ได้กำหนดสิทธิ์ลาคลอดสำหรับผู้ชายโดยตรง ดังนั้น การลาขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท อาจจะมีหรือว่าไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสวัสดิการขององค์กร
ลาคลอดใช้เอกสารอะไรบ้าง
ลาคลอด อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทหรือหน่วยงานที่คุณแม่ทำงานอยู่ บางองค์กรอาจมีสิทธิ์ลาคลอดตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ในขณะที่บางแห่งอาจมีสวัสดิการเพิ่มเติมให้คุณแม่สามารถลาคลอดได้นานขึ้น
โดยทั่วไป การยื่นเรื่องลาคลอด มักต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจเป็น หนังสือลา ที่คุณแม่เขียนขึ้นเอง โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ต้องการลาและวันที่คาดว่าจะกลับมาทำงาน หรือบางองค์กรอาจมี แบบฟอร์มลาคลอด ให้กรอกเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ องค์กรบางแห่งอาจกำหนดให้แนบ หลักฐานทางการแพทย์ เช่น กำหนดวันคลอดจากแพทย์ หรือใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันความพร้อมในการลา
อย่างไรก็ตาม ในหลายองค์กร อาจไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ เป็นเอกสารประกอบการลาคลอด โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นไปตามสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การลาคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น คุณแม่ควรตรวจสอบระเบียบขององค์กรตนเองล่วงหน้า และแจ้งฝ่ายบุคคลแต่เนิ่น ๆ เพื่อวางแผนการลาคลอดได้อย่างเหมาะสม จะได้ใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเอกสารในภายหลังค่ะ
สุดท้ายแล้ว การลาคลอดเป็นสิทธิที่คุณแม่ควรรู้ และวางแผนการใช้สิทธิลาคลอดอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ได้ใช้เวลาช่วงแรกของชีวิตกับลูกอย่างมีความหมายที่สุด รวมทั้งยังเป็นการดูแลฟื้นฟูร่างกายตัวเองให้พร้อมรับบทหน้าที่ Working Mom ต่อไป
ที่มา: FlashHR , The Coverage
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เพื่อนร่วมงานโหด! วางยาคนท้อง ลั่นไม่อยากให้ลาคลอด เพราะไม่อยากเหนื่อย
สิทธิแม่ลาคลอด 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 80
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!