ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะความดันในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติ หากเราไม่ได้รักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้เกิดปัญหาของสุขภาพที่ร้ายแรงตามมาด้วย จนอาจจะทำให้เกิดการเสียชีวิตเลยก็ว่าได้ เราไปดูกันว่าโรคความดันโลหิตสูงคืออะไร และวิธีรักษาเป็นแบบไหน?
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบโดย นพ. วรณัฐ ปกรณ์รัตน์ (แพทย์จาก Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน)
ความดันโลหิตคืออะไร?
ความดันโลหิต : เป็นแรงดันของเลือดที่เกิดขึ้นมาจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ 2 ค่า ได้แก่
- ความดัน โลหิต ค่าบน แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบอย่างเต็มที่
- ความดันโลหิต ค่าล่าง แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัวอย่างเต็มที่
Blood pressure gauge show Hypertension or High Blood Pressure.
สาเหตุของโรค ความดันโลหิตสูง
มีจำนวนที่มากกว่าร้อยละ 90 ที่ไม่ทราบสาเหตุ และมักจะพบเพียงส่วนน้อยที่สามารถทราบสาเหตุของการเป็นโรคความดัน เช่น โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด โรคไต โรคของหลอดเลือดในบางประเภท ที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ปัจจัยที่ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงขึ้น มีอยู่หลายปัจจัย เช่น อายุที่มากขึ้น เพศ พันธุกรรม เชื้อชาติ ภาวะน้ำหนักเกิน และการรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มจนเกินไป
โรคความดันโลหิตสูงในส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใด ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตในระยะที่รุนแรงก็อาจจะแสดงอาการออกมาได้ เช่น ปวดหัวรุนแรง หายใจสั้น เลือดกำเดาไหล ซึ่งอาการเหล่านี้ถือว่าไม่เฉพาะ และเจาะจงบอกออกมาได้ไม่ชัดเจน หรือบางรายจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีอาการแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา จึงทำให้ต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำ และได้วัดค่าของความดันโลหิตอยู่สม่ำเสมอ จึงทำให้เขามีชื่อเรียกของโรคนี้อีกชื่อว่า ฆาตกรเงียบ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างไม่ทันได้ตั้งตัว
ค่าของความดันโลหิตที่ดี ควรอยู่ที่เท่าไร
ในปัจจุบันค่าของความดันโลหิตที่ยอมรับได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปควรที่จะต่ำกว่า 150/90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าอายุที่น้อยกว่า 60 ปี หรือผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม ค่าความดันโลหิตควรที่จะต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรถเค็มจัด
- งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ออกกำลังอยู่สม่ำเสมอ
- ลดน้ำหนัก ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิดหรือโรคอ้วน
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรค เบาหวาน เกิดจากอะไร ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเบาหวานคืออะไร?
การรักษาโรคความดันโลหิตสูง
คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยนั้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการรับประทานอาหารเบื้องต้นก่อน โดยให้ลดอาหารจำพวกที่เป็นโซเดียมสูง ให้เน้นรับประทานอาหารที่เป็นผักและผลไม้ที่มีเส้นกากใยสูง ปลาที่อุดมไปด้วยประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย ให้หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่เป็นประเภทเนื้อแดง ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ และการใช้ยาตามที่หมอสั่งร่วมไปด้วย เพื่อช่วยลดค่าของความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติ และการรักษายังต้องคำนึงถึงชนิดของโรคด้วย เพราะหากเป็นชนิดที่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่าผู้ป่วยชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ
การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
การความคุมความดันโลหิตในระยะยาวสามารถทำได้โดยที่เราสามารถปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเราเอง ทั้งในเรื่องของการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์พื้นฐาน รวมไปจนถึงเรื่องการตรวจสุขภาพ เราควรที่จะตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำเพื่อเช็กดูว่าค่าของความดันโลหิตเราอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติหรือไม่
ความดันโลหิตสูง
หากปล่อยให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน และการดูแลสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา โดยส่วนใหญ่ที่มักจะพบเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ และหลอดเลือดแดง โรคสมองโป่งพอง โรคไตเรื้อรัง เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสมองทางด้านความจำ และมีปัญหาทางสายตา หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดการเสียหายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากโรคความดันโลหิตสูงโดยตรง หรือโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ
โรคความดันโลหิตสูง ในผู้สูงอายุ
โรคความดันโลหิตสูง ในผู้สูงอายุ เป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจกำลังบีบตัว มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตขณะหัวใจกำลังคลายตัวควรอยู่ที่ 90 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า ในระยะแรกเมื่อโรคยังไม่รุนแรง จะไม่มีโอกาสผิดปกติใด ๆ ที่เด่นชัดมาก อาจมีอาการเวียนศีรษะที่เป็น ๆ หาย ๆ หลังจากนั้นก็จะมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยในช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ และเมื่ออาการรุนแรงขึ้นมักจะมีเลือดกำเดาไหล หอบ และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุร้อยละ 95 จะยังคงตรวจแล้วไม่ทราบสาเหตุ แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุ เช่น น้ำหนักเกิน ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนผู้ป่วยร้อยละ 5 มีสาเหตุมาจาก โรคต่อมไร้ท่อบางชนิด โรคระบบประสาท โรคไต หรือได้รับสารเคมี หรือยาบางชนิด
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรค กระเพาะ โรคสุดฮิตที่เราไม่ควรมองข้าม สาเหตุเกิดจากอะไร?
อาหารสำหรับผู้ป่วยเป็น ความดันโลหิตสูง
อาหารที่ควรรับประทาน
- อาหารที่มีแคลซียมสูง เช่น ผักใบเขียว เต้าหู้
- นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำ
- ผักสดทุกชนิด เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้ง
- ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันงา และน้ำมันดอกคำฝอย
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
- อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารรสเค็ม ควรงดเติมเครื่องปรุงรส เช่น ผงชูรส ผงฟู
- อาหารหมักดอง เช่น เต้าเจี้ยว กะปิ ปลาเค็ม ผลไม้ดอง เป็นต้น
- อาหารแปรรูปทุกชนิด
- ไขมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการโรคซึมเศร้า ในกลุ่มคนท้อง เกิดขึ้นได้อย่างไร เสี่ยงต่อเด็กในครรภ์หรือไม่
โรคภูมิแพ้ Allergic March สาเหตุและวิธีป้องกัน ไม่ให้ลูกป่วยภูมิแพ้
โรคจิ๋มล็อก ความเจ็บปวดจากการมีเพศสัมพันธ์ สาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง
ที่มา : pobpad.com , healthy.moph.go.th, theworldmedicalcenter.com, mamastory.net
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!